หลายคนอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับวัคซีนวัณโรค (Bacillus Calmette Guerin Vaccine: BCG) มากนัก เพราะคิดว่าเป็นโรคที่ไกลตัวหรือรอบตัวไม่มีใครป่วยเป็นวัณโรค แต่ที่จริง ประเทศไทยจัดอยู่กลุ่มประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคสูง การฉีดวัคซีนชนิดนี้จึงจำเป็นไม่แพ้วัคซีนชนิดอื่น เพราะจะช่วยป้องกันวัณโรคหรือลดความเสี่ยงการติดเชื้อวัณโรคได้อย่างมาก
วัณโรค (Tuberculosis) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ ไมโครแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) ที่มักส่งผลต่อปอดและอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย อาทิ กระดูก ข้อต่อ ไต และเยื่อหุ้มสมอง โดยจะแพร่กระจายผ่านการสูดดมเชื้อโรคที่ลอยปะปนอยู่ในอากาศ ซึ่งมาจากการพูดคุย ไอ จาม หรือบ้วนน้ำลายของผู้ป่วยวัณโรค แม้การสูดดมเพียงเล็กน้อยก็สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ แต่บางรายก็อาจไม่ป่วยเป็นวัณโรคหลังได้รับเชื้อ เพราะขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของแต่ละคนด้วย
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนวัณโรค
ก่อนจะเข้ารับการฉีดวัคซีนวัณโรค ผู้เข้ารับการฉีดควรเตรียมพร้อมและเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนให้มากขึ้น เพื่อลดความกังวลหรือความเครียดที่อาจเกิดขึ้นได้ ทีนี้มาดูรายละเอียดกัน
1. รูปแบบและการฉีดวัคซีนวัณโรค
วัคซีนวัณโรคที่ใช้โดยทั่วไปนั้นผลิตมาจากเชื้อแบคทีเรียมีชีวิตที่ถูกทำให้มีฤทธิ์อ่อนลงจนไม่อาจก่อโรค แต่เพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายเพื่อป้องกันการเกิดโรค โดยแพทย์หรือเจ้าหน้าที่จะฉีดวัคซีนใต้ผิวหนังบริเวณต้นแขนเพียง 1 ครั้ง ในปริมาณ 0.1 มิลลิลิตร ในทุกช่วงอายุ
หลังฉีดวัคซีนประมาณ 2 เดือน ร่างกายจึงจะมีภูมิต้านทานต่อโรคอย่างเต็มที่ ตัววัคซีนจะมีประสิทธิภาพดีในการป้องกันวัณโรคในเด็ก โดยเฉพาะวัณโรคเยื่อหุ้มสมองและวัณโรคชนิดแพร่กระจาย ทว่าอาจมีประสิทธิภาพต่ำในการป้องกันวัณโรคปอดที่มักพบได้บ่อยในผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่
2. ใครควรฉีดวัคซีนวัณโรค
อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่า ประเทศไทยมีปัญหาการเกิดวัณโรคสูง วัคซีนวัณโรคจึงถูกจัดเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กแรกเกิดทุกคนควรได้รับการฉีดฟรีตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข แต่หากไม่ได้ฉีดตั้งแต่แรกเกิดก็สามารถฉีดได้ทุกช่วงอายุ
ทั้งนี้ แม้วัคซีนวัณโรคที่ฉีดให้กับผู้มีอายุ 16–35 ปี อาจมีประสิทธิภาพต่ำลงหรือใช้ไม่ได้ผล แต่สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคสูงกว่าคนทั่วไปยังควรได้รับการฉีดวัคซีนเช่นเดิม อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ทำงานในห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับเชื้อโรค เจ้าหน้าที่สถานพยาบาลหรือสาธารณสุข ผู้ที่ทำงานหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค หรือผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงสูง
3. คำเตือนของวัคซีนวัณโรค
ในเบื้องต้น ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติสุขภาพและการใช้ยาของตัวเองให้ครบถ้วน เนื่องจากปัญหาสุขภาพหรือยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยาต่อวัคซีน และก่อให้เกิดผลกระทบหรือเป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงไม่สามารถฉีดวัคซีนชนิดนี้ได้ ได้แก่
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างผู้ป่วยเอชไอวีที่แสดงอาการ หรือมีแนวโน้มภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างผู้เข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะ
- ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน อย่างยาสเตียรอยด์
- สตรีมีครรภ์ เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาวิจัยด้านความปลอดภัยของวัคซีนต่อแม่และเด็กในครรภ์ที่เพียงพอ
- ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพแบบเฉียบพลัน
- ผู้ที่มีแผลติดเชื้อหรือแผลไฟไหม้บริเวณผิวหนังที่จะฉีดวัคซีน
- ผู้ที่มีประวัติการแพ้วัคซีนวัณโรค
4. ผลข้างเคียงของวัคซีนวัณโรค
ปกติแล้ว ผลข้างเคียงของวัคซีนวัณโรคมักเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยและมักหายได้เองตามธรรมชาติ เช่น เจ็บบริเวณผิวหนังที่ฉีดวัคซีน มีอุณภูมิร่างกายสูงขึ้น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงโตหรืออักเสบ เกิดตุ่มหนอง โดยเมื่อหายดีอาจหลงเหลือเป็นรอยแผลเป็นขนาดเล็ก ซึ่งถือเรื่องปกติของการฉีดวัคซีนวัณโรค
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงแต่มักพบได้น้อยมาก อย่างปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลัน (Anaphylaxis) เนื้อเยื่อไขมันใต้ผิวหนังอักเสบ มีแผลที่ผิวหนัง หรือกระดูกอักเสบ
แม้จะฉีดวัคซีนวัณโรคแล้ว แต่ความเสี่ยงของการติดเชื้อวัณโรคก็ยังมีอยู่ จึงไม่ควรชะล่าใจและหมั่นป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากวัณโรคด้วยการดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคหรือเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง หากเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอและตรวจสุขภาพปอดเป็นประจำทุกปี
สุดท้ายนี้ หากสังเกตว่าตัวเองมีอาการผิดปกติใด ๆ หรืออาการเข้าข่ายวัณโรค เช่น ไอติดต่อกันนานกว่า 3 สัปดาห์ โดยมักมีเสมหะปนเลือด น้ำหนักตัวลดลง เหงื่อออกตอนนอน มีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร หรือคอบวม ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาที่ตรงจุดโดยเร็ว