เสริมสร้างระบบทางเดินอาหารให้แข็งแรงด้วยประโยชน์จากโพรไบโอติก

โพรไบโอติก (Probiotic) เป็นเทรนด์สุขภาพที่กำลังได้รับความนิยม ทั้งในกลุ่มคนรักสุขภาพและคนทั่วไป งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่าโพรไบโอติกมีส่วนในการปรับสมดุลระบบทางเดินอาหาร กระตุ้นการขับถ่าย เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน การศึกษาบางชิ้นยังพบว่าโพรไบโอติกอาจเป็นประโยชน์ต่อคนที่กำลังต้องการลดน้้ำหนักด้วย

โพรไบโอติก คือ เชื้อแบคทีเรียชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ร่างกายของเราก็มีโพรไบโอติกเป็นส่วนประกอบตามธรรมชาติ แต่ปัจจัยบางอย่างอาจส่งผลให้โพรไบโอติกลดลง จึงอาจทำให้สมดุลภายในระบบทางเดินอาหารเสียไปและอาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพบางอย่าง บทความนี้จึงอยากพาทุกคนมารู้จักประโยชน์ของโพรไบโอติกต่อระบบทางเดินอาหารกัน

โพรไบโอติก

ทำไมโพรไบโอติกถึงสำคัญต่อระบบทางเดินอาหารและสุขภาพ ?

ภายในและภายนอกร่างกายของมนุษย์ล้วนมีแบคทีเรียอาศัยอยู่ ไม่ว่าเป็นผิวหนัง โพรงจมูก ปอด อวัยวะเพศ และแน่นอนว่ารวมถึงระบบทางเดินอาหาร อย่างลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร ทวารหนัก และอวัยวะอีกหลายส่วน

แบคทีเรียที่อาศัยในร่างกายมนุษย์ก็มีทั้งชนิดดีและชนิดไม่ดี หากปริมาณแบคทีเรียทั้งสองกลุ่มอยู่ในภาวะสมดุล ร่างกายก็จะทำงานได้เป็นปกติ แต่ปัจจัยภายนอกบางประการหรือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ อย่างความเครียด การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ก็อาจกระตุ้นให้แบคทีเรียชนิดดีหรือโพรไบโอติกอ่อนแอและมีจำนวนลดลง ส่งผลให้แบคทีเรียอีกกลุ่มหนึ่งครอบครองพื้นที่ในร่างกายของเราจนทำให้ภาวะแบคทีเรียเสียสมดุลและอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพบางอย่างได้

ระบบทางเดินอาหารเป็นระบบที่มีโพรไบโอติกอาศัยอยู่มากที่สุด ซึ่งระบบนี้รับหน้าที่ในการย่อยอาหาร ดูดซึมสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย กำจัดของเสียและสิ่งแปลกปลอม และยังครอบคลุมถึงระบบภูมิคุ้มกันด้วย โพรไบโอติกมีส่วนสำคัญต่อการทำงานของอวัยวะภายในระบบทางเดินอาหาร ดังนั้น เมื่อจำนวนแบคทีเรียภายในลำไส้สมดุลก็อาจช่วยให้ระบบทางเดินอาหารและระบบอื่น ๆ ในร่างกายทำงานได้เป็นปกติ

มาดูกันว่าการได้รับโพรไบโอติกในปริมาณที่เหมาะสมเป็นประจำจะส่งผลดีต่อสุขภาพยังไงบ้าง

  • เสริมการทำงานของระบบย่อยและการดูดซึม

    ภาวะแบคทีเรียในร่างกายที่สมดุลจะรักษาการทำงานของระบบต่าง ๆ โดยบทบาทของโพรไบโอติกต่อระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ช่วยย่อยและดูดซึมสารอาหาร และยา เสริมสร้างกระบวนการสังเคราะห์วิตามินในร่างกาย สร้างเยื่อบุผนังลำไส้ที่แข็งแรงซึ่งช่วยลดอัตราการได้รับเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับอาหารและเครื่องดื่มที่อาจเป็นสาเหตุของโรคท้องร่วงและอาหารเป็นพิษ

  • ช่วยเรื่องการขับถ่าย

    กระตุ้นการขับถ่ายเป็นอีกสรรพคุณที่โดดเด่นของโพรไบโอติก โดยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยชี้ว่า การได้รับโพรไบโอติกในปริมาณที่เหมาะสมเป็นประจำอาจช่วยกระตุ้นการเคลื่อนตัวของลำไส้และช่วยให้อุจจาระอ่อนตัว จึงส่งผลให้ความถี่ในการขับถ่ายเพิ่มขึ้นและขับถ่ายได้ง่ายขึ้นปัจจุบันโพรไบโอติกเป็นการรักษาทางเลือกแบบหนึ่งในผู้ป่วยที่มีปัญหาท้องผูกบางรายด้วย ดังนั้น การกินอาหารที่มีโพรไบโอติกเป็นประจำก็อาจเป็นประโยชน์ต่อคนที่ท้องผูกหรือมีปัญหาในการขับถ่าย ส่วนคนที่ไม่มีอาการท้องผูก การได้รับโพรไบโอติกอาจช่วยสร้างสุขภาพการขับถ่ายที่ดีด้วยเช่นกัน

    บางคนอาจเข้าใจผิดว่าอาหารที่มีโพรไบโอติกสูงจะทำให้ท้องเสีย อย่างนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต จึงพยายามหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ ซึ่งในความเป็นจริง อาการท้องเสียหลังกินอาหารเหล่านี้สามารถพบได้ แต่ไม่เป็นอันตรายและหายได้เอง สาเหตุก็มาจากโพรไบโอติกเข้าไปปรับสมดุลของแบคทีเรียกลุ่มเดิมที่อยู่ภายในลำไส้จึงทำให้เกิดอาการดังกล่าวขึ้น เมื่อกินติดต่อกันไม่นานอาการเหล่านี้ก็จะหายไป

    โพรไบโอติกไม่เพียงช่วยบรรเทาอาการท้องผูกเท่านั้น โพรไบโอติกอาจช่วยบรรเทาและป้องกันอาการท้องร่วงจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร และอาการท้องเสียที่เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาปฏิชีวนะได้ด้วย

  • ดีต่อคนที่มีปัญหาลำไส้

    ท้องผูกและท้องเสียเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความผิดปกติภายในระบบทางเดินอาหารเท่านั้น บางคนอาจเป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้ เช่น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคโครห์น (Chron’s Disease) โรคแผลในกระเพาะ และกลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน โรคเหล่านี้เป็นโรคเรื้อรังและมักทำให้เกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง ท้องผูก และท้องเสียติดต่อกัน ซึ่งอาการเรื้อรังเหล่านี้สามารถลดคุณภาพชีวิตและความสุขของผู้ป่วยได้ไม่น้อย

    โพรไบโอติกอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาและควบคุมอาการของโรคเหล่านี้ เพราะการศึกษาจำนวนหนึ่งบ่งบอกว่าโพรไบโอติกอาจช่วยยับยั้งการอักเสบของลำไส้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการบางอย่างของโรคดังกล่าวรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเหล่านี้ยังอยู่ระหว่างการทดลอง หากทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคในกลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้โพรไบโอติก

  • ช่วยลดน้ำหนัก

    หลายคนอาจเแปลกใจและไม่เคยรู้มาก่อนว่าโพรไบโอติกอาจช่วยในการลดน้ำหนักได้ด้วย แม้ว่าโพรไบโอติกจะไม่ได้ทำให้น้ำหนักลงโดยตรง แต่สรรพคุณนี้ก็น่าสนใจไม่น้อย การศึกษาชิ้นหนึ่งได้แบ่งคนจำนวน 114 คนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ใช้อาหารเสริมโพรไบโอติกและอีกกลุ่มให้ใช้ยาหลอก (Placebo) ติดต่อกัน 12 สัปดาห์

    ภายหลังการทดลองพบว่า กลุ่มที่ใช้โพรไบโอติกมีน้ำหนักตัวลดลงราว 0.2 กิโลกรัม และรอบเอวลดลง 0.8 เซนติเมตร โดยที่อีกกลุ่มให้ผลตรงกันข้าม ผู้ทดลองจึงคาดว่าโพรไบโอติกอาจกระตุ้นกลไกบางอย่างที่ช่วยให้น้ำหนักตัวและไขมันสะสมรอบเอวลดลง

ทั้งนี้ การทดลองนี้ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งในแง่ของจำนวนกลุ่มตัวอย่าง ระยะเวลาการทดลอง และรายละเอียดอื่น ๆ จึงไม่ทราบแน่ชัดว่าโพรไบโอติกช่วยลดน้ำหนักด้วยกลไกใด หรือมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อผลลัพธ์หรือไม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในการลดน้ำหนักตัวที่ได้ผลควรเน้นการควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ โพรไบโอติกอาจส่งผลดีต่อสุขภาพและอาจช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพต่อไปนี้ด้วย

  • การติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศหญิง
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • อาการผิวหนังอักเสบในเด็ก

เติมโพรไบติก เติมสุขภาพดีให้กับร่างกาย

โดยปกติแล้ว โพรไบโอติกพบได้ในอาหารที่ผ่านการหมักดอง อย่างนมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโสะ ผักดอง ชีสบางชนิด ชาหมักหรือคอมบูฉะ แต่อาหารโพรไบโอติกส่วนใหญ่เป็นอาหารแปรรูปที่มักมีปริมาณน้ำตาลและโซเดียมค่อนข้างสูงจึงควรกินในปริมาณที่เหมาะสม 

นอกจากนี้ ควรกินพรีไบโอติก (Prebiotic) ควบคู่ไปด้วย เพราะพรีไบโอติกเป็นอาหารของโพรไบโอติก มีลักษณะเป็นเส้นใยไม่ละลายน้ำ (Insoluble Fiber) สามารถพบได้ในผักผลไม้หลายชนิด ซึ่งการได้รับควบคู่กันอาจช่วยให้โพรไบโอติกแข็งแรงและมีจำนวนเพิ่มขึ้นได้ พรีไบโอติกที่หลายคนอาจรู้จัก ได้แก่ อินนูลิน (Inulin) ที่พบได้ในหอมใหญ่ กระเทียม และกล้วย 

นอกจากอาหารแล้ว เราสามารถรับโพรไบโอติกในรูปแบบอาหารเสริม อย่างอาหารเสริมโพรไบโอติกในรูปแบบเม็ด แบบผง หรือแบบน้ำ เพื่อความปลอดภัย ควรเลือกและใช้ผลิตภัณฑ์จากโพรไบโอติกตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้เสมอ โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว อยู่ระหว่างการใช้ยา ผู้สูงอายุ เด็ก คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมลูก
  • เลือกซื้ออาหารเสริมโพรไบโอติกที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานอาหารและยาหรืออย. และไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์ที่อ้างสรรพคุณเกินจริง 
  • เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีโพรไบโอติกหลายชนิด เพราะเชื้อแต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน การเลือกอาหารเสริมที่มีเชื้อหลายชนิดอาจเสริมสุขภาพในหลายด้านได้ในคราวเดียว
  • เลือกอาหารเสริมโพรไบโอติกที่มีเชื้อมีชีวิต เพื่อเพิ่มอัตราการอยู่รอดของเชื้อภายในลำไส้ รวมถึงเลือกโพรไบโอติกสายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติยึดเกาะกับลำไส้ เพื่อให้เชื้อไม่ถูกขับออกจากร่างกาย
  • เลือกใช้ซินไบโอติก (Synbiotic) ที่จะบรรจุโพรไบโอติกและพรีไบโอติกภายในเม็ดเดียวกัน ซึ่งอาจช่วยให้โพรไบโอติกแข็งแรงและทนทานต่อสภาพแวดล้อมมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ร่างกายและระบบทางเดินอาหาร
  • เลือกอาหารเสริมที่มีโพรไบโอติกอย่างน้อย 1 หมื่นล้านตัว เพราะโพรไบโอติกไวต่ออุณหภูมิและกรดภายในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เชื้อตายได้ จึงควรเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีโพรไบโอติกจำนวนมากเพิ่มโอกาสให้เชื้อส่วนหนึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายได้อย่างปลอดภัยและแข็งแรง
  • เลือกอาหารเสริมที่บรรจุภัณฑ์แข็งแรง ไม่มีรอยแตกร้าวหรือชำรุด แจ้งวันผลิตและวันหมดอายุที่ชัดเจน
  • เก็บบรรจุภัณฑ์ไว้ในที่ที่เหมาะสม ห่างจากแสงแดดและความร้อน เพราะปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลต่อความแข็งแรงของเชื้อได้

คนทั่วไปที่ไม่มีโรคประจำตัวมักกินอาหารโพรไบโอติกหรือใช้อาหารเสริมโพรไบโอติกได้อย่างปลอดภัย โดยอาจพบผลข้างเคียงเล็กน้อยในช่วงแรก อย่างอาการท้องเสีย ท้องอืด และอาหารไม่ย่อย ซึ่งมักไม่เป็นอันตรายและดีขึ้นเอง แต่ควรหยุดใช้และไปพบแพทย์หากพบอาการรุนแรงหลังใช้โพรไบโอติก เช่น ท้องเสียรุนแรงติดต่อกัน ขาดน้ำ เป็นไข้ หนาวสั่น หรือคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น  

เพื่อระบบทางเดินอาหารที่สมดุลและสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เราจำเป็นต้องดูแลตนเองด้วยวิธีอื่นควบคู่ไปด้วย ทั้งการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่ และจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อช่วยรักษาจำนวนของโพรไบโอติกในระบบทางเดินอาหารและร่างกายส่วนอื่น ๆ ซึ่งอาจช่วยให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติและลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพ 

สุดท้ายนี้ โพรไบโอติกเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพ หากเจ็บป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้อง และไม่ควรใช้อาหารเสริมโพรไบโอติกเพื่อหวังผลในการรักษาโรค