เหงือกเป็นหนอง เป็นอาการที่มีถุงของเหลวสีเหลืองเกิดขึ้นบนเหงือก โดยเหงือกเป็นหนองเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และส่งผลให้เกิดอาการปวด บวม หรือแดงบริเวณที่เหงือกเป็นหนอง รวมทั้งอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ ฟันโยก เสียวฟันขณะกินอาหารร้อนหรือเย็น ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
เหงือกเป็นอวัยวะภายในช่องปากที่ช่วยยึดเกาะฟันกับกระดูกขากรรไกร โดยเหงือกที่มีสุขภาพดีมักจะมีสีชมพู แต่หากเหงือกมีสีเข้มขึ้น เหงือกบวมwww.pobpad.com/เหงือกบวม หรือเหงือกมีอาการผิดปกติอื่น ๆ รวมไปถึงเหงือกเป็นหนอง ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น ฟันหลุด โรคปอดอักเสบ โรคหัวใจ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
รู้จักสาเหตุที่ทำให้เหงือกเป็นหนอง
เหงือกเป็นหนองเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งโรคเหงือกอักเสบมักเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการเหงือกเป็นหนอง
โรคเหงือกอักเสบ เป็นการอักเสบของเหงือกที่เกิดขึ้นเนื่องจากการดูแลสุขอนามัยในช่องปากที่ไม่ดี จึงทำให้คราบพลัค ซึ่งเป็นคราบที่เกิดจากการสะสมตัวของแบคทีเรียในช่องปาก เศษอาหาร และน้ำลาย ติดอยู่บนผิวฟัน เมื่อปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ อาจทำให้เกิดอาการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณฟันและเหงือก จากนั้นอาจเกิดการอักเสบ และมีเหงือกเป็นหนองตามมา
ทั้งนี้ เหงือกเป็นหนองอาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยอื่น ๆ เช่น
- การดูแลความสะอาดภายในช่องปากไม่ดี
- การมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ การติดเชื้อเอชไอวี ภาวะขาดสารอาหาร การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- การนอนกัดฟัน (Bruxism)
- อาการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่ทำให้ฟันได้รับความเสียหาย
- การรักษาฟันที่แตกหักหรือเสียหาย เช่น การอุดฟัน การครอบฟัน หรือการทำสะพานฟัน
วิธีรักษาเหงือกเป็นหนองก่อนเกิดอันตราย
เหงือกเป็นหนองเป็นอาการที่มักไม่สามารถหายได้เอง ดังนั้น เมื่อมีอาการเหงือกเป็นหนอง ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยการรักษาจากแพทย์มีหลายวิธี เช่น
- การเจาะระบายหนอง ทันตแพทย์อาจกรีดบริเวณที่เป็นหนองเล็กน้อย จากนั้นอาจกดหรือบีบเพื่อระบายหนองบริเวณที่มีติดเชื้อ
- การขูดหินปูนหรือการเกลารากฟัน ทันตแพทย์อาจแนะนำทั้ง 2 วิธีเพื่อทำความสะอาดและกำจัดคราบสกปรกต่าง ๆ รวมถึงคราบพลัคที่เกาะตัวอยู่บนฟัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเหงือกเป็นหนอง
- การใช้ยาปฏิชีวนะ ทันตแพทย์จะเลือกตัวยาและปริมาณของยาปฏิชีวนะให้เหมาะสมแก่ผู้ที่เข้ารับการรักษาเหงือกเป็นหนอง โดยยาปฏิชีวนะจะช่วยกำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดเหงือกเป็นหนอง
- การรักษารากฟัน หากเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดเหงือกเป็นหนองแพร่กระจายเข้าสู่โพรงประสาทฟัน และทำให้เกิดการติดเชื้อ ทันตแพทย์อาจแนะนำให้รักษารากฟันเพื่อยับยั้งการติดเชื้อ
- การถอนฟัน หากเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดเหงือกเป็นหนองแพร่กระจายเข้าสู่โพรงประสาทฟัน และก่อให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้ถอนฟันเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น หรือมีอาการรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เหงือกเป็นหนองเป็นอาการที่อาจป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำได้ด้วยการดูแลสุขอนามัยภายในช่องปากให้มีสุขภาพดี เช่น แปรงฟันวันละ 2 ครั้งเพื่อป้องกันการสะสมตัวของหินปูนหรือคราบพลัคบริเวณฟันและเหงือก ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งเพื่อกำจัดเศษอาหารที่ติดตามซอกฟัน
นอกจากนี้ ควรไปพบทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือนเพื่อตรวจสุขภาพเหงือกและฟัน โดยการตรวจสุขภาพภายในช่องปากเป็นประจำอาจช่วยให้พบปัญหาของสุขภาพภายในช่องปากได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และทำให้ได้รับการรักษาได้ทันทีก่อนที่จะอาการจะรุนแรงยิ่งขึ้น