ติดกาแฟเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้กับคนที่ดื่มกาแฟทุกวันจนแทบเป็นกิจวัตร หากวันไหนไม่ได้ดื่มกาแฟหรือหักดิบเลิกกาแฟขึ้นมา นอกจากรู้สึกเหมือนขาดอะไรไปแล้ว บางคนอาจมีอาการผิดปกติอย่างปวดศีรษะ ไร้เรี่ยวแรง หรือไม่มีสมาธิตามมาด้วย แต่พอได้ดื่มกาแฟอีกครั้งกลับรู้สึกดึขึ้น แบบนี้เรียกติดกาแฟหรือไม่ บทความนี้มีคำตอบ
กาแฟมีส่วนผสมของสารคาเฟอีน (Caffeine) ซึ่งเป็นสารกระตุ้นที่ส่งผลต่อสมอง ทำให้เรารู้สึกตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า มีสมาธิมากขึ้น มีเรี่ยวแรง ลดความเหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลีย โดยอาจออกฤทธิ์ภายใน 15 นาทีหลังดื่มกาแฟ ขณะเดียวกันก็อาจทำให้นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว วิตกกังวล หรือรู้สึกกระสับกระส่ายได้เช่นกัน โดยเฉพาะในคนที่ไวต่อคาเฟอีนมากเป็นพิเศษ
ทำไมเราถึงติดกาแฟ
เมื่อพูดถึงอาการติดกาแฟร่างกายของเราไม่ได้กำลังเสพติดกาแฟหรือคาเฟอีนในลักษณะเดียวกันกับสารเสพติดอย่างยาบ้า เฮโรอีน กัญชา หรือใบกระท่อม ที่มักก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพไปจนถึงปัญหาสังคม เพียงแค่เราอาจรู้สึกว่าขาดกาแฟไม่ได้ ต้องดื่มกาแฟเพื่อกระตุ้นร่างกายก่อนถึงจะเริ่มทำงานหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ตามปกติ
สมองของคนเรามีสารเคมีที่เรียกว่าตัวรับอะดีโนซีน (Adenosine Receptor) และสารอะดีโนซีน (Adenosine) ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานของสมอง โดยลดการตื่นตัว และทำให้เรารู้สึกง่วงนอน แต่เมื่อเราดื่มกาแฟ สารคาเฟอีนจะเข้าไปจับกับตัวรับแทนที่สารอะดีโนซีน ทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัวขึ้นมา และเซลล์สมองจะสร้างตัวรับเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยให้กับสารอะดีโนซีน ส่งผลให้คาเฟอีนมีฤทธิ์ลดลง
หากเราหยุดดื่มกาแฟก็จะทำให้สารอะดีโนซีนจับกับตัวรับมากยิ่งขึ้น จึงก่อให้เกิดอาการอ่อนเพลียหรือง่วงนอนมากกว่าปกติ ทำให้ต้องดื่มกาแฟเพื่อให้กลับมารู้สึกกระปรี้กระเปร่าดังเดิม จึงเป็นสาเหตุที่หลายคนเลิกดื่มกาแฟไม่ได้เสียที
อาการติดกาแฟเป็นอย่างไร
บางคนอาจคิดว่าการดื่มกาแฟทุกเช้าเป็นเพียงความเคยชินเท่านั้น ไม่ได้กำลังติดกาแฟ แต่เมื่อใดก็ตามที่หยุดดื่มกาแฟแล้วพบอาการอ่อนเพลีย ง่วงซึม มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อ ไม่มีสมาธิ ไร้เรี่ยวแรง ซึมเศร้า หงุดหงิด คลื่นไส้ หรืออาเจียนตามมา นี่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเรากำลังติดกาแฟอยู่หรือเราเรียกอาการเหล่านี้ว่า อาการถอนคาเฟอีน (Caffeine Withdrawal)
โดยความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณคาเฟอีนในกาแฟที่ได้รับในแต่ละวัน อาการถอนจะรุนแรง 1-2 วันแรก และอาการอาจคงอยู่นาน 2–9 วัน
นอกจากนี้ การเพิ่มปริมาณการดื่มกาแฟก็เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการของติดกาแฟเช่นกัน เนื่องจากร่างกายจะเริ่มปรับตัวให้ชินกับสารคาเฟอีน ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณกาแฟมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าหรือตื่นตัวเท่าเดิม หรือก็คืออาการดื้อคาเฟอีน (Caffeine Tolerance) นั่นเอง
อยากเลิกกาแฟต้องทำอย่างไร
การจะเลิกกาแฟนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องอาศัยการยับยั้งชั่งใจและค่อยเป็นค่อยไปจึงจะช่วยให้เลิกกาแฟได้ คนที่ติดกาแฟอาจลองทำตามคำแนะนำในการเลิกกาแฟต่อไปนี้
- ค่อย ๆ ลดปริมาณการดื่มกาแฟในแต่ละวัน ไม่หักดิบเลิกกาแฟอย่างกะทันหัน เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว ช่วยลดอาการถอนคาเฟอีนให้น้อยลง
- ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนอื่นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นชา น้ำอัดลม ช็อกโกแลต เครื่องดื่มชูกำลัง หรือเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับคนออกกำลังกาย (Sport Drink)
- ดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น โดยน้ำจะเข้าไปช่วยขับคาเฟอีนออกจากร่างกายและป้องกันร่างกายขาดน้ำ
- หันไปดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีคาเฟอีนหรือกาแฟที่มีคาเฟอีนต่ำ (Decaf Coffee) ทดแทน เพื่อให้ร่างกายได้รับคาเฟอีนน้อยลง
- รับประทานยาตามอาการอย่างยาแก้ปวดหรือยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน โดยควรอ่านฉลากบรรจุภัณฑ์ยาหรือปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
แม้กาแฟจะเป็นที่พึ่งทุกเช้า สาย บ่าย เย็นของใครหลายคน แต่การดื่มกาแฟในปริมาณมากอาจนำมาซึ่งการติดกาแฟจนยากจะเลิกหรือก่อให้เกิดอาการกวนใจอย่างอาการถอนคาเฟอีนตามมาหลังหยุดดื่ม ซึ่งหากยังเลิกกาแฟไม่ได้ถาวรก็ควรดื่มกาแฟในปริมาณที่เหมาะสม โดยจำกัดปริมาณคาเฟอีนที่ 400 มิลลิกรัมต่อวันหรือกาแฟประมาณ 2–4 แก้ว เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพให้ได้มากที่สุด