สิ่งที่คุณแม่ควรทราบก่อนผ่าคลอด

โดยปกติผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะสามารถคลอดลูกได้เองตามธรรมชาติ แต่กรณีที่สภาพร่างกายของผู้เป็นแม่ไม่เอื้ออำนวยต่อการคลอดธรรมชาติ การผ่าคลอด (Caesarean Section หรือ C-Section) เป็นทางเลือกเพื่อรักษาชีวิตของเด็กไว้ และเพื่อความปลอดภัยของผู้เป็นแม่ หรือคุณแม่อาจตัดสินใจเลือกผ่าคลอดภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์

ผ่าคลอดเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่บางครั้งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ ปัญหาระบบหายใจของทารก และความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป คุณแม่ควรศึกษาขั้นตอนและผลข้างเคียงของการผ่าคลอด และปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อพิจารณาความจำเป็นก่อนผ่าคลอด

C-Section

ทำไมต้องผ่าคลอด

คุณแม่บางท่านเลือกที่จะผ่าคลอด เพราะสามารถวางแผนเตรียมการล่วงหน้ากับสูติแพทย์ได้ ลดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในขณะที่นำทารกออกมาทางช่องคลอด และลดผลข้างเคียงจากการคลอดธรรมชาติ ซึ่งคุณแม่ยินยอมเจ็บปวดด้วยแผลผ่าตัดแทนการทนเจ็บปวดจากการเบ่งคลอดเอง

อีกกรณีคือแพทย์ลงความเห็นว่าคุณแม่มีความจำเป็นที่ต้องผ่าคลอด ไม่ว่าจะเป็นการผ่าคลอดที่วางแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้า หรือการผ่าคลอดด้วยความจำเป็นที่เด็กต้องคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากปัจจัยต่อไปนี้

  • ปากมดลูกไม่เปิดหรือเปิดน้อย
  • คุณแม่อุ้มท้องเด็กมากกว่า 1 คน
  • ขนาดและท่าของเด็กในท้องไม่เอื้อต่อการคลอดตามธรรมชาติ เช่น เด็กหมุนตัวเอาส่วนเท้าหรือก้นมาอยู่ที่ปากมดลูก
  • เด็กในท้องอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงอันตราย เช่น ขาดออกซิเจน สัญญาณชีพจรไม่คงที่
  • มีเส้นเลือดหรือก้อนเนื้ออุดตันบริเวณช่องคลอด
  • ภาวะรกเกาะต่ำ และรกไม่เคลื่อนไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมต่อการคลอด
  • ภาวะสายสะดือย้อย หรือสายสะดือโผล่
  • คุณแม่มีปัญหาสุขภาพ ป่วยด้วยโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น โรคหัวใจ การติดเชื้อ HIV

ขั้นตอนผ่าคลอด 

ผ่าคลอดเป็นการทำคลอดด้วยการผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง โดยแพทย์จะกรีดผ่านชั้นผิวหนังเหนือหัวหน่าวลงไป เมื่อผิวหนังเปิดจึงผ่าตัดส่วนที่เป็นมดลูกแล้วนำทารกออกมา โดยทั่วไปเด็กจะกลับหัวลงสู่ช่องเชิงกราน แพทย์จะประคองนำส่วนหัวของเด็กออกมาก่อน แต่อาจมีบางกรณีที่เด็กอยู่ในท่าขวางหรือมีขาเป็นส่วนนำ 

ขั้นตอนการผ่าตัดทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ในระหว่างการผ่าตัด แพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึก เพื่อให้คุณแม่ไม่รู้สึกเจ็บปวดในระหว่างผ่าคลอด ซึ่งจะมี 2 รูปแบบ โดยแพทย์จะประเมินจากสุขภาพร่างกายของคุณแม่

แบบแรกคือการดมยาสลบ โดยวิสัญญีแพทย์จะใช้ยาสลบให้คุณแม่ และใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อให้คุณแม่ไม่รู้สึกตัวและไม่รู้สึกเจ็บปวดระหว่างผ่าตัด 

ส่วนอีกแบบคือการฉีดยาชาที่ไขสันหลัง (Spinal Block) หรือที่เรียกว่าการบล็อคหลัง โดยฉีดยาชาเข้าที่ไขสันหลังบริเวณบั้นเอวเพื่อระงับความรู้สึกตั้งแต่บริเวณช่วงล่างของลำตัวลงไป ตลอดการผ่าตัดคุณแม่จะรู้สึกตัวแต่ไม่รู้สึกเจ็บปวด 

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงหลังผ่าคลอด

ผ่าคลอดเป็นการผ่าตัดอวัยวะภายในร่างกายอย่างหนึ่ง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน และกระทบต่อเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่ใกล้เคียงกับมดลูกได้ ดังนี้

  • ร่างกายอ่อนเพลียจากการเสียเลือดมาก การผ่าตัดจะทำให้เสียเลือดมากกว่าการคลอดตามธรรมชาติ
  • ผลกระทบจากยาชา บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนหรือได้รับผลข้างเคียงจากยาชา เช่น อาการปวดหัวรุนแรงหลังฟื้นตัวหลังการคลอด
  • การอักเสบและติดเชื้อ ทั้งการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัดและบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้เป็นไข้ มีกลิ่นเหม็นออกมาจากช่องคลอด และเจ็บขณะปัสสาวะ
  • การเกิดแผลหรือการบาดเจ็บที่อวัยวะใกล้เคียง เช่น การเกิดแผลที่กระเพาะปัสสาวะ
  • การเกิดลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขาหรืออวัยวะบริเวณกระดูกเชิงกราน เพื่อป้องกันการอุดตันของลิ่มเลือด เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะคอยกระตุ้นให้คุณแม่ลุกเดินเปลี่ยนอิริยาบถหลังคลอด ซึ่งจะทำให้กระเทือนต่อแผลผ่าตัด สร้างความเจ็บปวดหลังยาชาหมดฤทธิ์
  • เพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป รอยแผลผ่าตัดบริเวณมดลูกอาจฉีกขาด เสี่ยงต่อการเกิดมดลูกแตกในขณะตั้งครรภ์

ส่วนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กที่คลอดออกมา พบว่าทารกที่คลอดโดยการผ่าคลอดก่อนอายุครบ 39 สัปดาห์ มักมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ เกิดภาวะหายใจเร็วในช่วง 2–3 วันแรกหลังคลอด หรือภาวะกดการหายใจในทารกแรกคลอดที่จะทำให้เด็กหายใจลำบาก และเด็กมีความเสี่ยงที่จะเกิดบาดแผลจากการผ่าตัดได้เช่นกัน

ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น แพทย์แผนปัจจุบันได้พัฒนาปรับปรุงเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการผ่าคลอด อย่างไรก็ตาม การคลอดธรรมชาติก็ยังคงเป็นวิธีการคลอดที่ปลอดภัยกว่าสำหรับแม่และเด็ก นอกจากจะมีความจำเป็นให้คุณแม่คลอดด้วยการผ่าคลอด ทั้งนี้ คุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อยู่เสมอทั้งก่อนและหลังผ่าคลอด เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเองและลูกรัก