ผู้ที่อาศัยอยู่กับผู้ป่วยเอดส์หรือผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะคนในครอบครัวนั้น เป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะนอกจากคอยให้กำลังใจแล้ว ยังต้องดูแลผู้ป่วยให้มีพลานามัยสมบูรณ์ และสร้างสิ่งแวดล้อมบริเวณที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้ป่วย เชื้อเอชไอวีติดต่อได้ผ่านทางเลือด การมีเพศสัมพันธุ์ และจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ แต่ผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็ควรต้องป้องกันตนเองจากการติดเชื้อด้วยเช่นกัน
เตรียมตัวอย่างไรหากต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วยเอดส์
ผู้ที่อาศัยอยู่กับผู้ป่วยเอดส์หรือผู้ติดเชื้อเอชไอวีควรเตรียมความพร้อมสำหรับการดูแลผู้ป่วย ดังนี้
ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของเอดส์ ทั้งลักษณะอาการ สาเหตุของโรค การติดต่อ การรักษา เพราะนอกจากช่วยให้ดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมแล้ว ยังทำให้เข้าใจว่าคนทั่วไปนั้นอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้อย่างปกติ
ทั้งนี้ สิ่งที่ควรทำความเข้าใจในเบื้องต้นก็คือ เอดส์เป็นภาวะป่วยขั้นสุดท้ายของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยเชื้อได้เข้าทำลายระบบภูมิคุ้มกันจนเสียหายหนัก และอาจเสียชีวิตในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระยะต้น ๆ ที่รับประทานยาเป็นประจำทุกวัน อาจช่วยป้องกันไม่ให้การติดเชื้อลุกลามไปเป็นเอดส์และทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้นานเหมือนคนปกติ
ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ แม้ไข้หวัดใหญ่บางชนิดจะไม่รุนแรงสำหรับคนทั่วไป ทว่าอาจส่งผลรุนแรงต่อผู้ป่วยเอดส์หรือผู้ป่วยเอชไอวีได้ ดังนั้น คนใกล้ชิดซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจนำเชื้อโรคแพร่สู่ผู้ป่วยจำเป็นต้องป้องกันตนเองและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ อีกทั้งควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันโรคติดต่อชนิดอื่น ๆ ด้วย
ดูแลผู้ป่วยเอดส์อย่างไรให้เหมาะสม
การดูแลผู้ป่วยเอดส์หรือผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำเป็นต้องใช้ความใส่ใจและอดทนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยเอดส์ที่มีอาการรุนแรง เพราะนอกจากจะมีสุขภาพอ่อนแอมากแล้ว อาจมีภาวะสมองเสื่อมร่วมด้วย ซึ่งหลักการดูแลผู้ป่วยในเบื้องต้นมีดังนี้
- ปฏิบัติตัวต่อผู้ป่วยเหมือนคนปกติ ลักษณะการพูดคุยหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิมอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแปลกแยก อีกทั้งควรรับฟังปัญหาและให้คำปรึกษาที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วย พยายามอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าการรักษาทันทีเมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อนั้นส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมอย่างมาก
- สร้างวินัยให้ผู้ป่วยรับประทานยาเป็นประจำ ควรศึกษาข้อมูลของยาแต่ละชนิดที่แพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทาน ทั้งเวลาที่ต้องรับประทานและผลข้างเคียงของยา เพราะการรับประทานยาไม่สม่ำเสมอจะทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง และอาจทำให้เชื้อดื้อยาชนิดนั้นหรือยาชนิดใกล้เคียง ส่งผลให้การรักษามีข้อจำกัดและทำได้ยากยิ่งขึ้น
- สร้างสิ่งแวดล้อมบริเวณที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม ควรคำนึงถึงความสะดวกสบายและความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยเฉพาะผู้ป่วยเอดส์ที่มีอาการรุนแรง เช่น จัดพื้นที่บริเวณที่อยู่อาศัยให้รองรับผู้ป่วยที่ใช้รถเข็น วางสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในที่ที่ผู้ป่วยหยิบใช้ง่าย เก็บสิ่งของมีคมให้มิดชิด เป็นต้น
- ดูแลด้านอาหารการกิน พยายามช่วยให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงความสะอาดเป็นอันดับแรก ทั้งความสะอาดของวัตถุดิบ เครื่องใช้ในครัว และผู้ประกอบอาหาร ผู้ป่วยควรบริโภคอาหารที่ปรุงสุก เน้นอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและอุดมไปด้วยเส้นใย หลีกเลี่ยงอาหารทะเลดิบและไข่ดิบ ส่วนผักและผลไม้สดควรล้างน้ำให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทาน
- ดูแลสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วยนอกจากนี้ ผู้ดูแลควรหมั่นพลิกตัวและทำกายภาพบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์ให้กับผู้ป่วยที่เคลื่อนไหวลำบากหรือจำเป็นต้องนอนอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน รวมถึงเลือกใช้วัสดุที่นิ่มเพียงพอปูรองใต้ผิวหนัง เช่น ฟูก หรือฟองน้ำรังไข่ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจตามมา ได้แก่ แผลกดทับ ข้อติดแข็ง ปอดบวม เป็นต้น
เรื่องที่ควรระมัดระวังเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วยเอดส์
เชื้อไวรัสเอชไอวีพบได้ในสารคัดหลั่ง ซึ่งก็คือของเหลวทุกชนิดที่ออกมาจากร่างกายผู้ติดเชื้อ โดยเชื้อเข้าสู่ร่างกายอีกฝ่ายได้ผ่านผิวหนังที่มีแผลหรือเยื่อบุผิวบริเวณต่าง ๆ เช่น ช่องปาก ตา ช่องคลอด ผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ป่วยจึงต้องระมัดระวังและป้องกันตนเองไม่ให้ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ดังนี้
- สวมถุงมือยางทุกครั้งเมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
- ล้างมือด้วยสบู่หลังจากสัมผัสสารคัดหลั่งทุกครั้ง แม้ขณะสัมผัสจะสวมถุงมือก็ตาม
- ห้ามใช้มีดโกนและแปรงสีฟันร่วมกับผู้ป่วย เพราะอาจมีเลือดที่มีเชื้อเอชไอวีปะปน
- ระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อถือเข็มฉีดยาหรือของมีคมที่มีเลือดของผู้ป่วยติดอยู่ หากเผลอทิ่มร่างกายแม้เพียงเล็กน้อย ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่ และไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
- ควรทิ้งขยะที่มีสารคัดหลั่งปะปน เช่น ผ้าอนามัย ผ้าพันแผล ใส่ถุงพลาสติกที่ปิดมิดชิดและแยกจากขยะชนิดอื่น ๆ
- ล้างทำความสะอาดของเสียจากร่างกายผู้ป่วยตามห้องน้ำหรือโถสุขภัณฑ์ให้สะอาดก่อนใช้งานต่อ โดยสวมถุงมือยางขณะทำความสะอาดทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม สารคัดหลั่งบางชนิดมีปริมาณเชื้อเอชไอวีปะปนอยู่น้อยเกินกว่าที่จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ เช่น น้ำตา เหงื่อ น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ นอกจากนั้น เชื้อเอชไอวีไม่อาจติดต่อผ่านทางอากาศ น้ำ แมลงสัตว์กัดต่อย หรือเพียงสัมผัสผิวหนังกัน คนทั่วไปจึงทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับผู้ป่วยได้ตามปกติ เช่น รับประทานอาหารร่วมกัน ใช้ห้องน้ำร่วมกัน เป็นต้น ทั้งนี้ หากผู้ติดเชื้อมีแผลหรือมีเลือดออกในช่องปาก เชื้อในเลือดที่ปะปนมากับน้ำลายอาจแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้