เอดส์ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่หลายคนหวาดกลัว เพราะยังไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ โดยในปี 2560 เอดส์ได้คร่าชีวิตมนุษย์ทั่วโลกไปมากกว่า 940,000 คน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นโรคที่น่ากลัวและไม่มีทางรักษา แต่ก็มีวิธีการมากมายที่ช่วยป้องกันโรคนี้ได้ ซึ่งสามารถอ่านได้จากบทความนี้
ทำความรู้จักกับโรคเอดส์
เอดส์ คือ ภาวะที่ภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่องจนไม่สามารถจัดการกับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้ ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย ซึ่งสาเหตุของโรคเอดส์ คือ การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งเป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแต่เดิมมาจากลิงชิมแปนซีในทวีปแอฟริกา โดยไวรัสชนิดนี้จะทำลายเม็ดเลือดขาวภายในร่างกายซึ่งมีหน้าที่จัดการกับเชื้อโรคต่าง ๆ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติที่ระบบภูมิคุ้มกันตามมา
โดยอาการของการติดเชื้อเอชไอวีแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกผู้ป่วยจะยังไม่ค่อยแสดงอาการมากนักและมีอาการไม่รุนแรง แต่เชื้ออาจแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากกว่าระยะอื่น ระยะต่อมาเป็นช่วงที่เชื้อเอชไอวียังคงทำลายระบบภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่แสดงอาการที่เด่นชัดหรือแทบไม่มีอาการเลย ซึ่งระยะนี้อาจกินเวลานานถึง 10 ปี และช่วงสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี คือ ระยะเอดส์ โดยในระยะนี้ ระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายของผู้ป่วยจะเสียหายอย่างมาก จนไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้เลย จึงทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ มากมาย และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด
เชื้อเอชไอวีแพร่ติดต่อกันอย่างไร ?
เชื้อเอชไอวี (HIV) แพร่กระจายผ่านตัวกลางบางอย่างเท่านั้น อย่างเลือด น้ำนม อสุจิ น้ำหล่อลื่นจากอวัยวะเพศชาย และของเหลวจากช่องคลอดหรือทวารหนัก โดยสาเหตุของการติดเชื้อที่พบบ่อย คือ มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีทางช่องคลอดหรือทวารหนักโดยไม่สวมถุงยางอนามัย ไม่รับประทานยาป้องกันเชื้อเอชไอวีก่อนมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อ หรือผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีไม่รับประทานยาต้านเชื้อก่อนมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมถึงใช้เข็มหรืออุปกรณ์ฉีดยาร่วมกับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีด้วย
ส่วนสาเหตุอื่นของการติดเชื้อเอชไอวีที่อาจพบได้บ้าง คือ การติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ทั้งการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ติดเชื้อระหว่างที่คลอด หรือติดเชื้อผ่านการให้นมบุตร รวมถึงหากเป็นผู้ที่ต้องทำงานอยู่กับอุปกรณ์ที่อาจปนเปื้อนเชื้อเอชไอวีอย่างของมีคมหรือเข็มฉีดยาก็อาจเสี่ยงได้รับเชื้อนี้ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุบางประการที่ทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้แม้พบได้น้อยมาก เช่น มีเพศสัมพันธ์ทางปาก ถูกผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีกัด สัมผัสเลือดหรือสิ่งที่ปนเปื้อนเลือดของผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีขณะที่ร่างกายมีแผล ได้รับเลือดหรือการปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น ส่วนการจูบแบบเปิดปากหรือการรับประทานอาหารที่ผ่านการเคี้ยวจากผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีนั้น จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีแผลหรือมีเลือดออกในช่องปากเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เชื้อเอชไอวีไม่ถูกส่งผ่านทางน้ำลาย น้ำตา เหงื่อ น้ำ อากาศ หรือสัตว์เลี้ยง ดังนั้น การถูกยุงกัด การกอดหรือสัมผัสเหงื่อของผู้ที่มีเชื้อ การใช้ห้องน้ำร่วมกัน หรือการใช้อากาศหายใจร่วมกับผู้ป่วยนั้น ไม่ทำให้ติดเชื้อได้แต่อย่างใด
ป้องกันโรคเอดส์ได้อย่างไร ?
การป้องกันโรคเอดส์นั้น สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่เป็นสาเหตุของโรคด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ใช้ถุงยางอนามัย
ปัจจุบันมีถุงยางอนามัยทั้งของผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วย โดยใช้ป้องกันได้ทั้งการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือทางปาก แต่ควรสวมถุงยางอนามัยก่อนมีการสัมผัสกันของอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก นอกจากนี้ การใช้สารหล่อลื่นร่วมกับถุงยางอนามัยอาจช่วยป้องกันถุงยางอนามัยฉีกขาด และช่วยลดความเสี่ยงต่อการฉีกขาดของช่องคลอดหรือทวารหนักที่อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวีได้อีกด้วย แต่ควรเลือกสารหล่อลื่นที่มีส่วนประกอบพื้นฐานเป็นน้ำแทนน้ำมัน เพราะสารหล่อลื่นที่ใช้น้ำมันอาจทำให้น้ำยางของถุงยางลดลงจนอาจเกิดการฉีกขาดได้ง่าย
ใช้ยาป้องกันเชื้อเอชไอวี
การใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวี Pre-Exposure Prophylaxis หรือ PrEP เป็นอีกวิธีที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหรือยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อ โดยการรับประทานยาชนิดนี้ตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และลดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันได้ 70 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยาชนิดนี้ยังช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไม่ให้ลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ในร่างกายได้อีกด้วย
ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
การพาคู่นอนและตนเองไปตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่โรงพยาบาลเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ ดังนั้น ทั้งผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่รักหรือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่รักของตนเองก็ตาม ควรไปรับการตรวจปีละครั้ง เพราะการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีผลต่อสุขภาพในระยะยาวและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีได้
ตรวจเชื้อเอชไอวีขณะตั้งครรภ์
เพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้อาจถูกส่งผ่านจากแม่สู่ลูกได้ ซึ่งหากคุณแม่มีเชื้อเอชไอวีขณะตั้งครรภ์ ควรไปปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการคลอดที่เหมาะสม และการใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปสู่ลูก โดยหลังจากคลอดแล้ว ลูกน้อยที่เพิ่งคลอดก็ยังคงต้องรับยาต้านเอชไอวี ซึ่งยาจะช่วยป้องกันเด็กทารกจากการติดเชื้อเอชไอวีในขณะคลอดได้ นอกจากนี้ การให้เด็กดื่มนมแม่ที่มีเชื้อเอชไอวีอาจทำให้ลูกน้อยติดเชื้อได้ จึงควรให้เด็กดื่มนมผงแทน
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
เชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่แพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดหรือทวารหนักโดยไม่สวมถุงยางอนามัย และการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการกระทำดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ นอกจากนี้ การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ หรือการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ก็อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้นด้วยเช่นกัน
หลีกเลี่ยงการใช้เข็มหรืออุปกรณ์ฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
เพราะการใช้เข็มฉีดยาอาจนำมาซึ่งเชื้อเอชไอวีและเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อยู่ในเลือดอย่างไวรัสตับอักเสบซีได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวร่วมกับผู้อื่น นอกจากนี้ หากต้องการสักหรือเจาะตามร่างกาย ควรใช้อุปกรณ์ที่สะอาดและปราศจากเชื้อเสมอ
วิธีป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวี
หากติดเชื้อเอชไอวีไปแล้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยารักษาควบคุมการแพร่เชื้อ ซึ่งมีหลายรูปแบบด้วยกัน อย่างการใช้ยา PEP หรือ Post-exposure Prophylaxis ซึ่งเป็นการรับประทานยาต้านเอชไอวีร่วมกันหลายตัวภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากได้รับเชื้อ โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการติดเชื้อและยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวีได้ รวมทั้งการใช้ยา PrEP ก็สามารถช่วยป้องกันเชื้อลุกลามได้เช่นกัน
อีกวิธีหนึ่ง คือ การใช้ยาต้านรีโทรไวรัสหลายตัวร่วมกัน (Antiretroviral Therapy: ART) เช่น เนวิราปีน อาบาคาเวียร์ อะทาซานาเวียร์ หรืออินดินาเวียร์ เป็นต้น หากใช้ยาอย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของแพทย์ จะช่วยลดจำนวนของเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือดลงไปอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จนห้องปฏิบัติการมาตรฐานตรวจไม่พบเชื้อ ซึ่งช่วยให้ผู้ที่ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์มีสุขภาพดีและทำให้เชื้อไม่แพร่กระจายสู่ผู้อื่นผ่านการมีเพศสัมพันธ์ด้วย
สุดท้ายแล้ว แม้การใช้ยาบางชนิดอาจช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อเอชไอวีแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ แต่ผู้ป่วยก็ควรป้องกันการแพร่เชื้อโดยใช้วิธีอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้ออย่างการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก พาคู่รักและตนเองไปตรวจหรือรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปรึกษาคู่รักเกี่ยวกับการใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวี และไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น