แก้อาการมึนหัว 10 วิธีง่าย ๆ ที่ทำได้ด้วยตัวเอง

แก้อาการมึนหัวด้วยตัวเองมีหลายวิธี การรู้วิธีแก้อาการมึนหัวจะช่วยบรรเทาอาการเวียนหัว อ่อนแรง เซ หน้ามืด หรือจะเป็นลมได้ บางคนที่มีอาการมึนหัวอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้และอาเจียน โดยการแก้อาการมึนหัวมีหลายวิธีที่อาจทำได้ เช่น การปรับท่าทาง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การทำกายบริหาร และการใช้ยา

มึนหัวหรือเวียนหัว (Dizziness) ไม่ใช่โรคโดยตรง แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ความดันต่ำ น้ำตาลในเลือดต่ำ ขาดน้ำ ทั้งนี้ การรู้จักวิธีรับมือหรือแก้อาการมึนหัวในเบื้องต้นจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

Relieve Dizziness

วิธีบรรเทาอาการมึนหัวที่ควรรู้

อาการมึนหัวของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป บางคนอาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและหายไป บางคนเกิดขึ้นจากโรคประจำตัว หรือใช้ยาบางชนิด หรือในบางรายอาจเกิดอาการมึนหัวขณะโดยสารยานพาหนะ เช่น รถ เรือ เครื่องบิน โดยวิธีแก้อาการมึนหัวในเบื้องต้นด้วยตัวเองสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

1. นั่งหรือนอนนิ่ง ๆ

เมื่อมีอาการมึนหัว ควรนั่งหรือนอนลงอยู่กับที่ หลับตาลงนิ่ง ๆ เพื่อแก้อาการมึนหัว กรณีที่มีอาการมึนหัวหลังจากลุกจากที่นอน ควรลุกขึ้นช้า ๆ หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนท่าทางเร็ว ๆ และหากมีอาการบ้านหมุน เซ หรือเสียการทรงตัวบ่อย ควรใช้ไม้เท้าหรือวอล์กเกอร์ (Walker) ช่วยพยุงให้เดินได้อย่างมั่นคง เพื่อป้องกันการหกล้มและได้รับบาดเจ็บ

2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ

บ่อยครั้งที่อาการมึนหัวและปวดหัวเกิดจากการที่ร่างกายขาดน้ำ การดื่มน้ำให้เพียงพอจึงช่วยแก้อาการมึนหัวได้ โดยสังเกตสีของปัสสาวะ หากปัสสาวะมีสีเข้มอาจเป็นสัญญาณว่าดื่มน้ำน้อยเกินไป 

ควรจดปริมาณน้ำที่ดื่ม และเตือนตัวเองให้จิบน้ำทีละน้อยตลอดทั้งวัน โดยใน 1 วัน ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้ว แก้วละ 250 มิลลิตร และในวันที่อากาศร้อนหรือเสียเหงื่อมาก ควรดื่มน้ำให้มากขึ้น

3. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นอาการมึนหัว

คนที่มีอาการมึนหัว ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีแสงสว่างจ้าหรือมีอากาศร้อนจัด เพราะอาจทำให้ตาพร่า มึนหัว และหน้ามืดได้ง่าย รวมทั้งหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน สูบบุหรี่ ซึ่งอาจกระตุ้นให้มึนหัวมากขึ้น และไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานการเครื่องจักรหากมีอาการมึนหัวบ่อยและเฉียบพลัน 

หากมีอาการมึนหัวจากการใช้ยารักษาโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับขนาดยาหรือเปลี่ยนตัวยา ก็จะช่วยแก้อาการมึนหัวได้อย่างเหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อการรักษาโรคประจำตัวที่เป็นอยู่

4. เครื่องดื่มหรือลูกอมอาจช่วยได้

วิธีแก้อาการมึนหัวอย่างง่าย ๆ และเห็นผลได้รวดเร็วคือการจิบน้ำหวาน น้ำผลไม้ หรืออมลูกอม ซึ่งช่วยให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า หรืออาจดื่มชาสมุนไพร เช่น ชาขิง ซึ่งช่วยแก้อาการมึนหัวและเมารถ จึงเหมาะกับผู้ที่มีอาการมึนหัว คลื่นไส้ อาเจียนขณะเดินทาง

5. กายบริหารด้วยวิธี Epley Maneuver

Epley Maneuver คือท่ากายบริหารที่สำหรับผู้มีอาการบ้านหมุนจากโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (BPPV) และช่วยแก้อาการมึนหัว โดยขั้นตอนสำหรับคนที่มีอาการมึนหัวที่หูข้างขวา มีดังนี้

  • วางหมอนบนเตียง ให้สามารถรองบริเวณช่วงไหล่ได้พอดีเมื่อนอนลง
  • นั่งบนเตียง หันศีรษะไปข้างขวา
  • นอนหงายลงบนเตียงอย่างรวดเร็ว โดยให้ค้างศีรษะไว้ในท่าเดิม 30 วินาที
  • หันศีรษะไปด้านซ้าย โดยไม่ยกศีรษะขึ้น ค้างไว้อีก 30 วินาที
  • เปลี่ยนท่าเป็นนอนตะแคงซ้าย ค้างไว้ 30 วินาที
  • ค่อย ๆ ลุกขึ้นนั่ง และกลับสู่ท่าปกติ

สามารถทำท่าเหล่านี้ซ้ำได้ประมาณ 3 ครั้ง โดยอาจมีผู้ช่วยคอยจัดท่าทางให้ เพราะในระหว่างที่ทำท่ากายบริหารอาจมีอาการมึนหัวเล็กน้อย

6. กายบริหารด้วยวิธี Semont-Toupet Maneuver

การแก้อาการมึนหัวด้วยท่ากายบริหารด้วยวิธี Semont-Toupet Maneuver เป็นวิธีแก้อาการมึนหัวที่ทำได้เองที่บ้าน ซึ่งเห็นผลดีคล้าย Epley Maneuver แต่ใช้การเคลื่อนไหวบริเวณคอน้อยกว่า โดยมีขั้นตอนดังนี้

  • นั่งลงด้านข้างของเตียง หันศีรษะไปทางขวา
  • เอนตัวลงนอนด้านซ้ายอย่างรวดเร็ว ค้างไว้ 30 วินาที
  • ลุกขึ้น และเอนตัวลงนอนด้านขวาอย่างรวดเร็ว ค้างไว้ 30 วินาที โดยที่ยังค้างศีรษะไว้ทางขวาเหมือนเดิม และมองลงที่พื้น
  • ค่อย ๆ ลุกขึ้นนั่งในท่าปกติ รอประมาณ 2–3 นาที
  • ทำซ้ำขั้นตอนเดิม โดยสลับข้างกัน 

7. พักผ่อนให้เพียงพอ

ผู้ใหญ่ควรนอนหลับอย่างน้อยวันละ 7–9 ชั่วโมง การพักผ่อนไม่เพียงพออาจกระตุ้นให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เวียนหัว เดินเซ และไมเกรน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการมึนหัว โดยปรับพฤติกรรมเพื่อให้นอนหลับได้อย่างเพียงพอและมีคุณภาพ

8. รับมือกับความเครียด

ความเครียดเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease) และไมเกรน ซึ่งทำให้เกิดอาการมึนหัวตามมา 

หากเกิดความเครียด ควรรับมือด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น นั่งสมาธิ ฝึกหายใจ เล่นโยคะ ฟังเพลงสบาย ๆ และอ่านหนังสือ เพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียด

9. กินอาหารที่มีประโยชน์

การกินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี และธาตุเหล็ก อาจช่วยแก้อาการมึนหัวได้ ซึ่งพบในอาหารหลายชนิด เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว ผักใบเขียว เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ถั่ว และธัญพืชต่าง ๆ

10. ใช้ยาที่หาซื้อได้เอง

หากมีอาการมึนหัวและคลื่นไส้จากการเมารถหรือบ้านหมุน ควรปรึกษาเภสัชกรในการใช้ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) หรือยาแก้แพ้ เช่น ยาเมคลิซีน (Meclizine) และยาไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) แต่ยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการง่วงซึมได้

หรืออาจเลือกใช้ยาดม ซึ่งเป็นยาสำหรับสูดดมที่ประกอบไปด้วยสมุนไพรหลายชนิด มีคุณสมบัติช่วยแก้อาการมึนหัว หน้ามืด ตาลาย และคลื่นไส้ได้

หากแก้อาการมึนหัวด้วยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้แล้วยังมีอาการมึนหัวอยู่ มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการบ่อยจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาต่อไป 

หากมีอาการมึนหัวเฉียบพลันหรือรุนแรงร่วมกับอาการอื่น เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ชาและอ่อนแรงบริเวณใบหน้า แขน ขา เสียการทรงตัว การมองเห็นและได้ยินผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว และชัก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที