เมื่อมีอาการแน่นหน้าอก วิธีแก้เบื้องต้นคงเป็นสิ่งที่หลายคนต้องการทราบ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่รู้สึกแน่นหน้าอกอาจบรรเทาอาการด้วยตนเองจนหายได้ในบางกรณีเท่านั้น เนื่องจากอาการแน่นหน้าอกเกิดได้จากหลายสาเหตุ และมีระดับความรุนแรงไม่เท่ากัน ทำให้บางกรณีอาจจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เพื่อความปลอดภัย
อาการแน่นหน้าอกคือความรู้สึกไม่สบาย เจ็บแน่นที่หน้าอกคล้ายถูกบีบรัด หรือปวดจี๊ด ปวดตื้อ ๆ โดยอาจหายใจลำบากด้วย แน่นหน้าอกอาจเป็นอาการจากโรควิตกกังวล ภูมิแพ้ ทางเดินหายใจถูกปิดกั้นจากเสมหะ โรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร โรคปอด และโรคหัวใจ ผู้ที่แน่นหน้าอกจึงควรสังเกตอาการของตนเองอย่างใกล้ชิด และไปพบแพทย์เมื่อจำเป็น
5 วิธีแก้อาการแน่นหน้าอกเบื้องต้นที่ทุกคนควรรู้
ผู้ที่มีอาการแน่นหน้าอกสามารถบรรเทาอาการในเบื้องต้นได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
1. หยุดทำกิจกรรมต่าง ๆ ทันที
หากเริ่มมีอาการแน่นหน้าอก ให้หยุดทำกิจกรรมใด ๆ ก็ตามทันที เมื่อเคลื่อนไหวร่างกายมาก ๆ อาจทำให้อาการแน่นหน้าอกแย่ลงได้ ผู้ที่รู้สึกแน่นหน้าอกควรนั่งพักและสังเกตอาการของตนเอง โดยอาจมีผู้อื่นเฝ้าดูอาการด้วย เบื้องต้นสามารถเปลี่ยนจากเสื้อผ้าที่รัดแน่นเป็นเสื้อผ้าหลวม ๆ อยู่ในพื้นที่ที่สงบเงียบ อากาศระบาย เพื่อช่วยให้รู้สึกดีขึ้น
บางกรณี ผู้ป่วยอาจแน่นหน้าอกจากการออกกำลังกายจนกล้ามเนื้อฉีกได้ ให้ใช้น้ำแข็ง หรือเจลเย็นประกบบริเวณกล้ามเนื้อฉีก อาจใช้ผ้ายางยืดพันบริเวณที่อักเสบ และงดการออกกำลังกายอย่างหนักขณะฟื้นตัว
2. ลองใช้เทคนิคฝึกลมหายใจ
หากผู้ที่รู้สึกแน่นหน้าอกมีอาการหายใจสั้นและถี่ร่วมด้วย สามารถลองใช้เทคนิคฝึกลมหายใจ โดยอาจนับ 1–5 ขณะหายใจเข้าและออก แต่ในระยะแรกอาจนับถึง 5 ไม่ได้เป็นเรื่องปกติ ไม่ควรฝืน และทำเช่นนี้อย่างน้อย 5 นาที
หากมีอาการชาที่ปลายมือและปลายเท้า ตัวสั่น และหัวใจเต้นผิดปกติ อาจเป็นเพราะความเครียดที่มากเกินไป ซึ่งมักจะหายได้ใน 20–30 นาที และไม่ได้เป็นอันตรายต่อชีวิตแต่อย่างใด แต่หากมีอาการบ่อยครั้ง แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อการวินิฉัยและการรักษาที่เหมาะสม
3. ยกศีรษะสูงขณะนอนหลับ
ผู้ที่แน่นหน้าอกอาจอาการแย่ลงเมื่อนอนราบได้ หากอาการเกิดจากเสมหะปิดกั้นทางเดินหายใจ กรดไหลย้อน หรือกล้ามเนื้อฉีกหลังออกกำลังกาย ก่อนนอนหลับอาจใช้หมอนรองศีรษะเพิ่มและหลังเพิ่มจากปกติ เพื่อยกศีรษะและอกให้สูงขึ้นขณะนอนหลับ หรืออาจเลือกนอนในเอนหลังที่ปรับระดับได้ ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน
4. ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต
ผู้ที่มีอาการแน่นหน้าอกสามารถป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นได้ด้วยการลดหรือหยุดสูบบุหรี่ ซึ่งปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการแน่นหน้าอกในหลายกรณี เช่น ในโรคกรดไหลย้อน เสมหะปิดกั้นทางเดินหายใจจากการติดเชื้อต่าง ๆ โรคปอด และโรคหลอดอาหาร
ผู้ที่แน่นหน้าอกจากกรดไหลย้อน อาจกินอาหารมื้อเล็กลง แต่บ่อยครั้งมากขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้กรดไหลย้อนแย่ลง และอาจพยายามรักษาน้ำหนักให้เหมาะสมเพื่อสุขภาพที่ดี
5. ใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการร่วมอื่น ๆ
แน่นหน้าอกมักเกิดร่วมกับอาการป่วยอื่น ๆ จึงควรเลือกใช้ยาตามอาการที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม เช่น ยาแก้คัดจมูก ยาแก้ไอ ยาแก้ปวด ยาแก้เจ็บคอ ยาขยายหลอดลมหากเป็นโรคหืด ยาลดไข้ น้ำเกลือล้างจมูก หรือสเปรย์พ่นจมูก ยาลดกรดหากเป็นโรคกรดไหลย้อน
อาการแน่นหน้าอกที่ควรพบแพทย์
ในบางกรณีอาการแน่นหน้าอกอาจดีขึ้นได้เมื่อดูแลอาการด้วยวิธีต่าง ๆ ด้วยตนเอง แต่ผู้ที่ไม่แน่ใจถึงสาเหตุของอาการแน่นหน้าอกที่เกิดขึ้น ผู้ที่แน่นหน้าอกจากโรคติดเชื้อ และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 สัปดาห์ รวมทั้งผู้ที่มีอาการแน่นหน้าอกเป็น ๆ หาย ๆ บ่อยครั้ง ควรหาเวลาพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยอย่างเหมาะสม
และควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการต่อไปนี้ เนื่องจากอาจเป็นอันตรายได้
- ผู้ที่มีอาการแน่นหน้าอก และมีไข้สูง หรือเป็นลม รู้สึกว่าได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ สับสน ปากหรือเล็บเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน ไอเป็นเลือด อาเจียน ปวดท้องด้านบนเป็นเวลาหลายชั่วโมง หรือ มีอาการบวมที่ลิ้นหรือคอ
- ผู้ที่มีอาการแน่นหน้าอกเฉียบพลันและรุนแรง เจ็บลามไปที่ไหล่ แขน หลังคอ ขากรรไกร รวมถึงมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ มีเหงื่อออก โดยอาจมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วย
วิธีดูและอาการแน่นหน้าอกในบทความนี้เป็นเพียงวิธีดูแลอาการเบื้องต้นเท่านั้น ผู้ที่รู้สึกแน่นหน้าอกควรสังเกตอาการของตนเอง และไม่ควรมองข้ามเมื่ออาการแย่ลง หากมีอาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณอันตราย ควรพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและรักษาอาการอย่างเหมาะสม อีกทั้งยังช่วยลดกังวลได้อีกด้วย