สำหรับผู้ที่ใช้มอเตอร์ไซค์อยู่เป็นประจำ แผลโดนท่อรถอาจเป็นหนึ่งในปัญหาที่พบได้บ่อย อย่างไรก็ตาม หลายคนที่มักปัญหานี้ก็อาจจะยังไม่ทราบถึงวิธีรับมือกับแผลอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการปฐมพยาบาล การลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็น และเมื่อไรที่ต้องไปพบแพทย์ บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลที่ว่ามาให้ทุกคนได้ลองศึกษากัน
แผลที่เกิดจากความร้อนของวัตถุใด ๆ รวมทั้งแผลโดนท่อรถ เป็นแผลชนิดที่ต้องรับมืออย่างระมัดระวัง อีกทั้งยังต้องมีการประเมินความรุนแรงก่อนอย่างถูกต้อง เนื่องจากอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนได้หากรับมืออย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในกรณีที่แผลมีความรุนแรง หรือการใช้ผลิตภัณฑ์บางชนิดที่หลายคนอาจเข้าใจผิดในการรักษา เช่น การใช้ยาสีฟันทาแผล
วิธีปฐมพยาบาลแผลโดนท่อรถ
ขั้นตอนแรกในการปฐมพยาบาลแผลโดนท่อรถ ควรตรวจสอบความรุนแรงก่อน และควรรีบไปพบแพทย์หากอาการเข้าข่ายดังต่อไปนี้
- เกิดแผลพุพองขนาดใหญ่
- แผลโดนท่อรถเกิดขึ้นกับเด็กหรือผู้สูงวัย
- เกิดแผลบริเวณใบหน้า ลำคอ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ข้อต่อ หรืออวัยวะเพศ
- มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีของเหลวไหลออกมาจากแผล มีอาการเจ็บที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เกิดรอยแดงรุนแรง และบวม
นอกจากนี้ ในระหว่างที่ประเมินอาการ ให้ถอดเครื่องประดับหรือเครื่องแต่งกายใด ๆ ที่สัมผัสกับแผล แต่หากมีวัตถุฝังติดแน่นไปกับเนื้อ ให้หลีกเลี่ยงการดึงออกมา
ส่วนในกรณีที่พบว่าแผลโดนท่อรถไม่รุนแรง เช่น รู้สึกเจ็บแสบผิวเล็กน้อย บวมเล็กน้อย หรือมีแผลพุพองขนาดเล็ก ผู้ที่มีแผลควรปฐมพยาบาลตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. หลังจากถอดเครื่องประดับหรือเครื่องแต่งกายบริเวณที่เกิดแผลแล้ว ให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือหรือน้ำเปล่าอุณหภูมิห้อง แต่ควรแน่ใจว่าน้ำที่ใช้เป็นน้ำสะอาด หรืออาจจะใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดประคบบริเวณแผล โดยให้ล้างหรือประคบประมาณ 10–15 นาที
2. ทาปิโตรเลียมเจลลี่ (Petroleum Jelly) ที่แผล โดยให้ทาประมาณ 2–3 ครั้ง/วัน
3. สำหรับคนที่มีแผลพุพอง ควรหลีกเลี่ยงการเจาะหรือแกะแผลให้แตกเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือหากแผลแตก ก็ให้ทำความสะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาด และทายาปฏิชีวนะ
4. หลังจากที่แผลเริ่มเย็นลงแล้ว ให้ปิดแผลด้วยผลิตภัณฑ์ปิดแผล และหากเป็นไปได้ให้พยายามยกอวัยวะส่วนที่เกิดแผลให้สูง
5. หากมีอาการปวด ให้รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
หลังจากแผลโดนท่อรถเริ่มหายดีแล้ว ผู้ที่เกิดแผลอาจมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นจากการถูกแสงแดดตามมาได้ ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงหรือบรรเทาการเกิดรอยแผลเป็น ให้พยายามทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF อย่างน้อย 30 อย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันแผลจากแสงแดด
ทั้งนี้ วิธีดังกล่าวเป็นเพียงวิธีสำหรับดูแลแผลโดนท่อรถด้วยตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น หากเกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือเห็นว่าแผลไม่ดีขึ้นและเริ่มแย่ลง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการดูแลแผลโดนท่อรถ
หลายคนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับการใช้ยาสีฟันทาแผลเพื่อบรรเทาความรุนแรงของแผลโดนท่อรถ หรือแผลจากความร้อน อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่มีแผลโดนท่อรถหรือแผลจากความร้อนใด ๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาสีฟัน หรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตามที่ยังไม่แน่ใจว่าสามารถใช้เพื่อบรรเทาอาการได้หรือไม่ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้