แผ่นแปะฟันขาว ได้ผลจริงไหม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง มาดูกัน

แผ่นแปะฟันขาว (White Strip) เป็นอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะช่วยเพิ่มความขาวสว่างของฟันตามชื่อผลิตภัณฑ์ ซึ่งแผ่นแปะฟันขาวสามารถหาซื้อได้ทั่วไปและใช้งานไม่ยาก แม้จะได้รับความนิยมและสะดวก แต่หลายคนอาจสงสัยว่าเจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้ช่วยให้ฟันขาวได้จริงไหม หรือหากใช้แล้วจะเกิดผลข้างเคียงอะไรหรือเปล่า

ปัจจุบันแผ่นแปะฟันขาวมีหลากหลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อก็โฆษณาสรรพคุณในการทำให้ฟันขาวแตกต่างกันไป หลายคนที่เคยลองใช้อาจพบทั้งผลลัพธ์ที่น่าพอใจและไม่พึงพอใจ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สำหรับคนที่สนใจแผ่นแปะฟันขาว ควรอ่านข้อเท็จจริง ความเสี่ยง ผลข้างเคียง ข้อควรระวัง และวิธีการใช้แผ่นแปะฟันขาวอย่างปลอดภัยจากบทความนี้

แผ่นแปะฟันขาว ได้ผลจริงไหม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง มาดูกัน

แผ่นแปะฟันขาวใช้อย่างไร ฟันขาวจริงไหม และทำไมฟันถึงขาวขึ้น

แผ่นแปะฟันขาวส่วนใหญ่มักมีลักษณะเป็นแผ่นใสคล้ายแผ่นพลาสติกหรือแผ่นฟิล์มบาง ๆ วิธีใช้ก็เพียงแค่แปะแผ่นนี้บนผิวฟัน และทิ้งไว้ตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งด้านในของแผ่นแปะฟันขาวจะมีสารเคมีในกลุ่มเพอร์ออกไซด์ (Peroxide) อย่างไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) เคลือบอยู่ สารในกลุ่มนี้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคและจัดว่าเป็นสารฟอกขาวประเภทหนึ่ง โดยแผ่นแปะฟันขาวแต่ละยี่ห้อหรือแต่ละรุ่นอาจมีระดับความเข้มข้นของสารเพอร์ออกไซด์ที่ต่างกัน

เมื่อสารนี้สัมผัสกับผิวฟัน น้ำลาย หรือคราบต่าง ๆ บนฟันก็จะทำปฏิกิริยาคล้ายการฟอกและละลายคราบบนผิวฟัน เมื่อใช้เป็นประจำจึงอาจทำให้ฟันดูขาวขึ้นหรือคราบบนฟันดูจางลง ในด้านผลลัพธ์ความขาวของฟันอาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สีของฟันก่อนหน้าการฟอก ความเข้มข้นของสารเคมีในแผ่นแปะฟันขาว และระยะเวลาการใช้ติดต่อกัน เป็นต้น

ความขาวสว่างของฟันจากแผ่นแปะฟันขาวอยู่ได้นานแค่ไหน

ภายหลังจากใช้ครบแล้วระยะเวลาแล้ว ความขาวของฟันที่เพิ่มขึ้นอาจคงอยู่ได้หลายเดือน แต่ก็ขึ้นอยู่หลายปัจจัย อย่างความสะอาดของช่องปาก การกินอาหารที่ส่งผลต่อสีของฟัน อย่างกาแฟ ชา น้ำอัดลม การสูบบุหรี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจเร่งให้สีของฟันกลับมาคล้ำได้เร็วขึ้น

ผลข้างเคียงของแผ่นแปะฟันขาว

แผ่นแปะฟันขาวดูเป็นอุปกรณ์ที่สะดวก ใช้งานง่าย และดูเหมือนว่าจะได้ผลดี ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้อาจช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับใครหลายคน แต่อีกด้านหนึ่งของการใช้ผลิตภัณฑ์ก็มีความเสี่ยงที่ควรศึกษาให้ดีก่อนใช้

การใช้แผ่นแปะฟันขาวอาจพบอาการข้างเคียง เช่น อาการเสียวฟันที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้ หรืออาจกระตุ้นให้อาการเสียวฟันที่มีอยู่ก่อนรุนแรงขึ้น เพราะการกัดกร่อนของสารเคมีในแผ่นแปะฟันขาวเข้าไปทำลายเคลือบฟัน (Enermal) และเนื้อฟัน (Dentin) ให้บางลง ซึ่งด้านในของฟันมีเส้นประสาทอยู่จำนวนมาก เมื่อฟันบางจึงทำให้เกิดอาการเสียวฟันได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อกินหรือดื่มของเย็น นอกจากนี้อาจเกิดการระคายเคืองบริเวณเหงือก ทำให้เหงือกแดง อักเสบ หรือเลือดออกได้

โดยผลข้างเคียงเหล่านี้อาจรุนแรงขึ้นหรือเสี่ยงมากขึ้น เมื่อใช้แผ่นแปะฟันขาวเกินความจำเป็นหรือใช้เกินกว่าคำแนะนำบนผลิตภัณฑ์ ในระยะยาวการใช้แผ่นแปะฟันขาวอย่างผิดวิธีอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคฟันและโรคเหงือกได้ เพราะเคลือบฟันและเนื้อฟันมีหน้าที่ปกป้องฟันจากเชื้อโรค ความเย็น ความร้อน และรอยขีดข่วนจากอาหารที่มีความแข็งหรือมีผิวสัมผัสที่อาจก่อความเสียหายต่อฟัน เมื่อเคลือบฟันและเนื้อฟันบางลง ความเสี่ยงที่ฟันจะได้รับความเสียหาย อย่างแตกและหักก็จะเพิ่มมากขึ้น

มีการศึกษาชิ้นหนึ่งศึกษาผลลัพธ์และผลกระทบจากการฟอกฟันขาวโดยรวม แม้ว่าการศึกษานี้จะไม่ได้เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับผลเสียของแผ่นแปะฟันขาว แต่แนวคิด วิธี และกลไกในการฟอกฟันขาวมักเป็นไปในลักษณะเดียวกัน

เนื้อหาส่วนหนึ่งของการศึกษานี้บอกว่าการฟอกสีฟันด้วยสารที่มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรง อย่างไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ช่วยให้ฟันขาวขึ้นได้จริง โดยเฉพาะเมื่อสารมีความเข้มข้นสูง แต่ขณะเดียวกัน การศึกษานี้ยังบอกอีกว่า ไฮโดรจนเพอร์ออกไซด์ความเข้มข้นสูงก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ฟันอ่อนแอได้มากขึ้นด้วย ดังนั้นการใช้แผ่นแปะฟันขาวจึงเสี่ยงต่อปัญหาเกี่ยวกับความแข็งแรงของฟันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง

อย่างไรก็ตามผู้ใช้บางคนอาจไม่พบผลข้างเคียงจากการใช้ครั้งแรก หรือช่วงแรกของการใช้ แต่การใช้แผ่นแปะฟันขาวอย่างต่อเนื่องย่อมส่งผลต่อความแข็งแรงของฟันและเหงือกไม่มากก็น้อย ดังนั้นควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนใช้ แม้ว่าผลิตภัณฑ์นี้จะถูกออกแบบมาเพื่อใช้ด้วยตนเองก็ตาม

แผ่นแปะฟันขาวใช้อย่างไรให้ปลอดภัยและเสี่ยงน้อยที่สุด

เพื่อลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงและปัญหาที่อาจเกิดตามมา ก่อน ระหว่าง และหลังการใช้แผ่นแปะฟันขาว ควรทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • ห้ามใช้แผ่นแปะฟันขาวในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์และคุณแม่ที่กำลังให้นม เพราะสารเคมีจากแผ่นแปะอาจส่งผลต่อทารกหรือส่งผ่านทางน้ำนมได้
  • ห้ามใช้ในผู้ที่ผ่านการทำวีเนียร์ (Veneer) ครอบฟัน และสะพานฟัน เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้ฟันขาวขึ้นแล้ว ฤทธิ์การกัดกร่อนของสารบนแผ่นแปะฟันขาวอาจทำให้สีของวัสดุเคลือบฟันเหล่านี้เปลี่ยนไปและทำให้สีของฟันไม่สม่ำเสมอ
  • ปรึกษาทันตแพทย์ก่อนใช้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคในช่องปากและโรคประจำตัวอื่น ๆ
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์แปะฟันขาวที่มีส่วนผสมของคลอรีนไดออกไซด์ (Chlorine Dioxide) เพราะเป็นสารที่มีฤทธิ์กัดกร่อนสูง
  • ใช้แผ่นแปะฟันขาวตามที่ทันตแพทย์แนะนำ หรือใช้ตามรายละเอียดบนฉลากผลิตภัณฑ์ ไม่ใช้น้อยหรือมากกว่าที่ฉลากกำหนด
  • ควรแปรงฟันและทำความสะอาดช่องปากก่อนใช้แผ่นแปะฟันขาวเสมอเพื่อประสิทธิภาพที่ดี
  • เลือกยาสีฟันที่ช่วยบรรเทาอาการเสียวฟันในช่วงก่อนและหลังใช้แผ่นแปะฟันขาว
  • งดอาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดคราบ โดยเฉพาะชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมถึงการสูบบุหรี่เพื่อคงความขาวของฟัน
  • ดูแลรักษาความสะอาดภายในช่องปากอย่างเหมาะสม
  • หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงและความผิดปกติของฟัน สีของฟัน และเหงือกตลอดการใช้งานแผ่นแปะฟันขาว
  • ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือน
  • เลือกซื้อแผ่นแปะฟันขาวจากผู้จัดจำหน่ายที่เชื่อถือได้ และมีเลขจดทะเบียนจากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

หากพบความผิดปกติระหว่างใช้ เช่น ฟันผุ เสียวฟันอย่างรุนแรง เหงือกอักเสบ เหงือกมีเลือดออก หรืออาการอื่น ๆ ควรหยุดใช้และไปพบแพทย์