ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มลพิษในอากาศอย่างฝุ่นละอองหรือฝุ่น PM 2.5 ที่มีปริมาณสูงขึ้นทุกปีทำให้เราต้องพบเจอกับปัญหาสุขภาพในระบบทางเดินหายใจมากมาย หนึ่งในนั้นคือ แพ้ฝุ่น โดยเฉพาะกับผู้คนในเมืองใหญ่ ย่านโรงงานอุตสาหกรรม หรือบริเวณที่เต็มไปด้วยไอเสียจากยานพาหนะ การดูแลตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่อาจช่วยบรรเทาอาการและลดโอกาสของการเกิดโรคร้ายแรงในอนาคต
ท่ามกลางวิกฤตฝุ่น ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละอองจากฝีมือมนุษย์หรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เริ่มทำให้หลายคนกังวลว่าจะปรับตัวอย่างในสถานกาณ์เช่นนี้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจ วันนี้มาดูวิธีป้องกันและดูแลตนเองหากต้องเผชิญกับฝุ่นร้ายเหล่านี้กัน หรือหากต้องกินยาแก้แพ้นั้นมีชนิดไหนกันบ้าง
อาการแพ้ฝุ่นเป็นอย่างไร
แพ้ฝุ่นถือว่าเป็นภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย โดยเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อฝุ่นละอองหรือฝุ่นพิษที่มีอยู่ในอากาศ เมื่อเราสูดฝุ่นเข้าไป ร่างกายจะสร้างโปรตีนที่เรียกว่าแอนติบอดีขึ้นมาต่อสู้กับสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการอักเสบที่จมูกหรือปอด มีอาการแพ้ตามมา
อาการแพ้ฝุ่น ฝุ่นละออง หรือฝุ่น PM 2.5 นั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคน เมื่อเจอกับช่วงที่มีฝุ่นละอองในอากาศมากจะทำให้มีอาการแพ้ฝุ่นขึ้นมาได้ เช่น ตาแดง น้ำตาไหล คันตาหรือจมูก คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม หายใจลำบาก หายใจมีเสียงวีด คัน มีผื่นขึ้น เป็นต้น
ผลกระทบจากฝุ่นละอองและฝุ่น PM 2.5
ปกติแล้ว ฝุ่นในบ้านจะปะปนไปด้วยเส้นใยที่สลายมาจากเสื้อผ้า พรม หรือเครื่องนอน มูลของแมลงโดยเฉพาะแมลงสาบ สะเก็ดผิวหนังของสัตว์เลี้ยง สปอร์ของเชื้อรา ไรฝุ่น ขี้ไคล รังแค หรือแม้กระทั่งเศษผิวหนังที่ตายแล้ว ซึ่งการสูดดมฝุ่นในระยะยาวอาจทำให้เราปวดศีรษะบ่อยครั้ง จาม มีน้ำมูก คันจมูกหรือตา เป็นหวัดติดต่อเป็นเวลานาน หลอดลมอักเสบ และเป็นหอบหืดได้
ในขณะที่ฝุ่น PM 2.5 ภายนอกบ้านมักมาจากควันเสียของเครื่องยนต์ การเผาขยะ การผลิตไฟฟ้า การเผาไหม้พื้นที่โล่งอย่างเผาพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งส่งผลเสียต่อกระบวนการภายในร่างกายได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะในเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ดังนี้
- การสูดฝุ่น PM 2.5 ในระยะเวลาอันสั้นตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงจนถึงหลายวันอาจทำให้เกิดอาการ เช่น ระคายเคืองตา จมูกหรือลำคอ ไอ หายใจลำบาก ปอดถูกทำลาย หากเป็นผู้ป่วยโรคหอบหืดหรือโรคเกี่ยวกับปอดอย่างโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังอาจมีอาการแย่ลง ผิวหนังอักเสบ ระคายเคืองที่ผิวหนัง หรือผื่นคันโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคผิวหนัง ผู้ป่วยโรคหัวใจอาจมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติหรือหัวใจขาดเลือด อีกทั้งยังเสี่ยงในการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากโรคระบบทางเดินหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้นด้วย
- การสูดฝุ่น PM 2.5 ติดต่อกันเป็นปี ๆ อาจต้องพบกับปัญหาสุขภาพ เช่น ปอดทำงานได้ลำบากยิ่งขี้น เกิดสารอนุมูลอิสระในร่างกาย ผิวเสื่อมสภาพ มีจุดด่างดำหรือริ้วรอยที่ผิวหนัง ระบบภูมิคุ้มกันผิวหนังทำงานผิดปกติ เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคลุกลามมากขึ้น อายุขัยลดลง เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อดูจากผลกระทบต่อสุขภาพที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้รับอันตรายจากมลพิษเหล่านี้มากกว่ากลุ่มคนทั่วไปจึงควรระมัดระวังและพยายามเลี่ยงการสูดดมมลพิษให้ได้มากที่สุด
วิธีรับมือกับอาการแพ้ฝุ่น ทำได้ง่ายกว่าที่คิด
ในเบื้องต้น ผู้ที่มีอาการแพ้ฝุ่นที่ไม่รุนแรงสามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสทามีนที่มีอยู่หลายรูปแบบ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันมีตัวยาหลากหลายชนิดให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก
ยาต้านฮิสทามีนกลุ่มที่ทำให้ง่วง
เป็นยาแก้แพ้อย่างยาคลอเฟนิรามีนเป็นกลุ่มยาที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง อาจทำให้รู้สึกง่วงซึม ปวดศีรษะและปากแห้ง ยานี้จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่ต้องขับขี่ยานพาหนะ ใช้เครื่องจักร หรือทำงานที่ต้องอาศัยการตื่นตัวอยู่เสมอ และยังไม่ควรใช้ยาดังกล่าวร่วมกับยากดประสาทชนิดอื่นหรือการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้
ยาต้านฮิสทามีนกลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วง
ยาในกลุ่มนี้ได้รับการพัฒนามาจากยาในกลุ่มแรก ทำให้มีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีโดยจะออกฤทธิ์ได้นานกว่า จึงไม่จำเป็นต้องรับประทานในปริมาณมาก เช่น ยาลอราทาดีนที่สามารถใช้ได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ รับประทานวันละ 1 เม็ด ส่วนใหญ่ไม่มีผลข้างเคียงอย่างอาการง่วงซึม แต่ก็อาจทำให้ง่วงได้ในบางราย ตัวยาจะช่วยบรรเทาอาการจากโรคภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นแพ้ฝุ่น แพ้อากาศ อาการแพ้ทางผิวหนัง หรืออาการคันจากลมพิษได้ ทั้งนี้ ห้ามใช้ยาลอราทาดีนแบบเม็ดหรือแคปซูลในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี และแบบน้ำเชื่อมหรือยาเม็ดเคี้ยวในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ ซึ่งนอกเหนือจากยาชนิดนี้ ยังมียาเซทิริซีนหรือยาเฟกโซเฟนาดีนที่ถูกนำมาใช้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาฮิสทามีนเป็นเพียงวิธีบรรเทาอาการ แต่ไม่ได้ช่วยรักษาอาการภูมิแพ้ฝุ่นให้หายไปอย่างถาวร สิ่งสำคัญที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เพื่อไม่ให้เกิดอาการรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเราโดยการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากฝุ่นละอองภายในบ้านและฝุ่น PM 2.5 ตามเคล็ดลับแสนง่าย ดังนี้
- ดูแลห้องนอนให้มีฝุ่นน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยควรซักล้างเครื่องนอนด้วยน้ำร้อนหรือนำไปตากแดดบ่อย ๆ หรืออาจนำใช้ที่นอน ปลอกหมอน หรือผ้าคลุมเตียงที่ทำจากเส้นใยที่ป้องกันไรฝุ่น
- ทำความสะอาดพื้นด้วยผ้าชุบน้ำหมาด ๆ หรือดูดฝุ่นด้วยเครื่องดูดฝุ่นสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง แต่ไม่ควรใช้ไม้กวาดในการทำความสะอาดพื้น เพราะอาจทำให้ฝุ่นละอองฟุ้งกระจายได้
- เช็ดฝุ่นที่เกาะอยู่ตามพื้นผิวของเครื่องใช้หรือเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านเป็นประจำ
- ไม่ควรปูพรมขนสัตว์หรือใยสังเคราะห์ เพราะอาจมีฝุ่นละอองสะสมและทำความสะอาดได้ยาก
- หลีกเลี่ยงการเปิดประตูหรือหน้าต่างทิ้งไว้ เพื่อไม่ให้ฝุ่นละอองจากภายนอกเข้ามาด้านในบ้าน
- หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์ การสัมผัส การนอน หรือการอยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ ในกรณีที่มีสัตว์เลี้ยงควรทำทำความสะอาดบ้านบ่อย ๆ และล้างมือทันทีหลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยงมา
- หากต้องออกจากบ้านควรสวมหน้ากากอนามัยแบบ N95 เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM 2.5 ที่สูงกว่าหน้ากากอนามัยแบบทั่วไป และควรปิดกระจกรถยนต์ให้สนิท เพื่อป้องกันมลพิษในอากาศ
- ในวันที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานอาจต้องลดทำกิจกรรมกลางแจ้ง พยายามอยู่ภายในอาคารให้ได้มากที่สุด และควรหาซื้อเครื่องฟอกอากาศมาใช้ร่วมด้วย
สุดท้ายนี้ เนื่องจากมลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก เราจึงต้องหมั่นดูแลตนเองให้แข็งแรงและห่างไกลจากปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ หรืออาจใช้ยาต้านฮิสตามีนเพื่อบรรเทาอาการที่สร้างความรำคาญต่อการดำเนินชีวิต เช่น จาม คันจมูก หรือคันตา แต่อย่าลืมว่า ผู้ป่วยควรอ่านฉลากบนผลิตภัณฑ์ยาและปฏิบัติตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของตนเองและลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนการใช้ยา โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่กำลังใช้ยาชนิดอื่น