ลิปสติกสีสวยอาจช่วยแต่งแต้มริมฝีปากให้ดูดีขึ้น แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าหากใช้แล้วจะไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เพราะในเครื่องสำอางชนิดนี้อาจมีส่วนผสมอันก่อให้เกิดการระคายเคืองและอักเสบ ผู้ที่แพ้ลิปสติกจึงควรเข้ารับการทดสอบผิวหนังเพื่อหาสาเหตุและเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวได้อย่างตรงจุด รวมทั้งเรียนรู้วิธีเลือกซื้อลิปสติกที่เหมาะสมและปลอดภัย เพื่อป้องกันริมฝีปากระคายเคืองหรือบวมอักเสบจากการแพ้
อาการแพ้ลิปสติกเกิดขึ้นได้อย่างไร
โดยทั่วไป ลิปสติกหรือผลิตภัณฑ์ทาปากมักมีส่วนผสมของสี น้ำหอม สารกันเสีย สารเพิ่มความชุ่มชื้นให้ริมฝีปาก ส่วนผสมสำหรับกันน้ำ รวมทั้งสารเคมีอื่น ๆ ที่ช่วยเพิ่มความแวววาว หรือทำให้เนื้อผลิตภัณฑ์เรียบเนียน ส่วนประกอบเหล่านี้อาจทำให้ผู้ใช้มีอาการแพ้และส่งผลให้ริมฝีปาก บริเวณรอบ ๆ หรือมุมปากอักเสบแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรังได้
ผู้ที่แพ้ลิปสติกจนริมฝีปากอักเสบเฉียบพลันอาจมีตุ่มบวมพองเล็ก ๆ คล้ายลมพิษขึ้นมาทันทีหลังสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ในลิปสติก และอาจลามไปที่ใบหน้าและลำคอ ส่วนผู้ที่ริมฝีปากอักเสบเรื้อรังจะรู้สึกระคายเคือง แห้ง มีรอยแดง และอาจบวมเล็กน้อยที่ปาก โดยอาการเหล่านี้จะปรากฏภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังใช้ลิปสติกและคงอยู่เป็นเวลานานหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน นอกจากนี้ บางรายอาจมีอาการแพ้ในลักษณะอื่น ๆ ได้แก่ มีผื่นขึ้น ริมฝีปากดำคล้ำ อักเสบ และเกิดลมพิษ
แพ้ลิปสติกเกิดจากสารใดได้บ้าง
อาการแพ้ลิปสติกเป็นปัญหาผิวหนังบริเวณริมฝีปากที่พบได้มากที่สุดของผู้หญิง เนื่องจากลิปสติกและผลิตภัณฑ์ทาปากที่ใช้กันอาจมีส่วนผสมของสารก่อภูมิแพ้หลายชนิด อาจผสมน้ำหอมหรือสารโลหะในปริมาณมากเกินมาตรฐาน ส่วนผสมในลิปสติกที่ทำให้เกิดอาการแพ้ มีดังนี้
- กรดริซิโนเลอิก (Ricinoleic Acid) เป็นส่วนประกอบหลักของน้ำมันละหุ่งซึ่งใช้ในการทำลิปติกหรือผลิตภัณฑ์ทาปาก จัดเป็นส่วนผสมที่พบว่าทำให้เกิดอาการแพ้ลิปสติกและริมฝีปากอักเสบได้บ่อย
- น้ำหอม เป็นส่วนผสมที่พบได้ในเครื่องสำอางหลายชนิด รวมถึงลิปสติก น้ำหอมที่ทำให้ผู้ใช้เกิดอาการแพ้นั้นมีไม่มาก ชนิดที่พบได้ในลิปสติก ได้แก่ ซิทราล (Citral) ซินนามาลดีไฮด์ (Cinnamaldehyde) วานิลลา (Vanilla) เป็นต้น
- สารให้ความชุ่มชื้นและหล่อลื่น คือสารที่ช่วยให้ผิวนุ่มชุ่มชื้น มีส่วนประกอบของสารเคมีที่มีคุณสมบัติดูดความชื้นได้ดีและทำให้ผิวลื่น อีกทั้งยังมีส่วนผสมของน้ำหอมและสารกันเสียรวมอยู่ด้วย
- นิกเกิล (Nickel) เป็นสารเคมีประเภทโลหะในเครื่องสำอางที่ทำให้เกิดผื่นแพ้สัมผัสได้มากที่สุด
- ยางสนมีคุณสมบัติเหนียว จึงถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลายอย่าง สารก่อภูมิแพ้จากยางสนในลิปสติกที่พบได้มากคือสาร Glyceryl-1-Mono Abietate
- โปรพอลิส (Propolis) เป็นส่วนผสมที่ทำมาจากน้ำลายผึ้ง ช่วยให้เนื้อลิปสติกหนาขึ้น สารก่อภูมิแพ้ชนิดนี้ที่พบได้บ่อยในลิปสติกมีหลายตัว เช่น ไขผึ้งธรรมชาติ ไขผึ้งสังเคราะห์ ไขผึ้งชนิด Cera Alba เป็นต้น
- สารกันเสีย เป็นสารที่มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา ช่วยป้องกันผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางขึ้นราหรือเสื่อมสภาพ โดยสารกันเสียในลิปสติกที่มักก่ออาการแพ้คือโพรพิลแกลเลต (Propyl Gallate)
แพ้ลิปสติกดูแลรักษาได้อย่างไร
ผู้ที่ใช้ลิปสติกและเกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองควรเข้ารับการทดสอบผิวหนัง (Patch Tests) เพื่อดูว่าอาการแพ้ เกิดจากสารเคมีหรือส่วนผสมตัวใด โดยแพทย์จะแปะแผ่นสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำหอมหรือส่วนประกอบอื่น ๆ ที่พบในลิปสติกไว้ที่หลังของผู้ป่วยเพื่อตรวจดูปฏิกิริยาแพ้ เมื่อทราบว่าอาการแพ้ลิปสติกเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ชนิดใดแล้ว แพทย์จะแนะนำให้หยุดใช้ลิปสติกหรือผลิตภัณฑ์ทาปากที่มีส่วนผสมของสารนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม อาการแพ้หรืออักเสบที่ริมฝีปากอาจเกิดจากปัจจัยอื่นร่วมด้วย ผู้ป่วยควรเข้ารับการทดสอบผิวหนังอีกครั้งในกรณีที่ยังเกิดอาการแพ้หลังหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารก่อภูมิแพ้แล้ว
เลือกลิปสติกอย่างไรไม่ให้เกิดอาการแพ้
อาการแพ้ลิปสติกป้องกันได้โดยเลือกซื้อลิปสติกหรือผลิตภัณฑ์ทาปากที่มีส่วนผสมที่ปลอดภัย อ่อนโยนต่อผิว และไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง รวมทั้งหลีกเลี่ยงสารที่ทำให้เสี่ยงแพ้ได้สูง ดังนี้
ส่วนผสมของลิปสติกที่ควรเลือก
- กรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic Acid) มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ทำให้ริมฝีปากไม่แห้งแตก
- เชีย บัตเตอร์ (Shea Butter) กลีเซอรีน (Glycerin) และลาโนลิน (Lanolin) เป็นส่วนผสมสำหรับเพิ่มความชุ่มชื้นและทำให้ผิวมีสุขภาพดี ควรเลือกลิปสติกหรือผลิตภัณฑ์ทาปากที่ระบุว่ามีส่วนผสมเหล่านี้เป็นอันดับต้น ๆ บนฉลาก
- วิตามินบี 3 หรืออีกชื่อหนึ่งคือไนอาไซนาไมด์ (Niacinamide) เป็นสารที่ช่วยเพิ่มเกราะป้องกันผิว และช่วยลดรอยแดงจากการอักเสบได้
ส่วนผสมของลิปสติกที่ควรเลี่ยง
- กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) และเรตินอล (Retinol) ส่วนผสมเหล่านี้ทำให้ริมฝีปากแห้งและระคายเคือง ส่งผลให้ส่วนผสมหรือสารก่อภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ ในลิปสติกผ่านเข้าไปทำลายผิวหนังได้ง่าย และเกิดอาการริมฝีปากอักเสบในที่สุด
- น้ำหอม เสี่ยงทำให้ริมฝีปากอักเสบหรือเกิดอาการแพ้ ผู้ใช้จึงควรเลือกลิปสติกที่ปราศจากส่วนผสมชนิดนี้ โดยอ่านส่วนประกอบที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์ให้ละเอียดก่อนเลือกซื้อทุกครั้ง
- สารกันเสีย ควรเลือกใช้ลิปสติกและผลิตภัณฑ์ทาปากที่มีส่วนผสมของสารกันเสียจากธรรมชาติทดแทน เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้น้อยกว่า เช่น น้ำมันสะเดา เป็นต้น