แพ้แอลกอฮอล์ เป็นคำที่คนส่วนใหญ่มักใช้เรียกอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น หน้าแดง ตัวแดง คันตามร่างกาย ลมพิษขึ้น หรือคัดจมูก เป็นต้น ซึ่งจริง ๆ แล้วการแพ้แอลกอฮอล์นั้นเป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก โดยส่วนใหญ่อาการที่เกิดขึ้นมักมาจาก Alcohol Intolerance หรือภาวะไม่ทนทานต่อแอลกอฮอล์ที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติที่คล้ายแต่ไม่ใช่ทั้งหมดและไม่ใช่ภาวะเดียวกัน โดยในบทความนี้ได้รวบรวมภาวะต่าง ๆ ที่มักให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นการแพ้แอลกอฮอล์ หากใครที่มีอาการและอยากทราบว่าตนเองมีภาวะใด แพ้แอลกอฮอล์หรือไม่ และควรรับมืออย่างไร สามารถติดตามได้จากบทความนี้
การแพ้แอลกอฮอล์คือ ?
อย่างที่ได้กล่าวไปว่าการแพ้แอลกอฮอล์นั้นเป็นภาวะที่หาได้ยาก โดยสาเหตุที่เกิดอาการแพ้มาจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันนั้นตอบสนองต่อแอลกอฮอล์รุนแรงมากผิดปกติจึงทำให้เกิดอาการ เช่น ลมพิษ ร่างกายและใบหน้าเกิดผื่นคันและบวม หายใจไม่อิ่มหรือหายใจลำบาก ปวดท้อง อาเจียน เวียนศีรษะ และหมดสติ รวมทั้งภาวะภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงที่อาจส่งผลให้คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก เป็นลมพิษ หายใจติดขัดคล้ายภูมิแพ้แต่รุนแรงกว่ามาก อาจทำให้เนื้อเยื้อทางเดินหายใจบวมไปจนปิดกั้นหลอดลมส่งผลให้หายใจไม่ออก และอาจเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว ชีพจรเต้นอ่อนลงหรือแรงขึ้นซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เป็นต้น
โดยภาวะไม่ทนทานต่อแอลกอฮอล์ซึ่งพบได้มากกว่า นั้นมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของเอนไซม์ในทางเดินอาหารที่ไม่สามารถย่อยสลายแอลกอฮอล์ได้หรือย่อยสลายได้น้อยจึงทำให้เกิดอาการผิดปกติที่คล้ายกันแต่ไม่ใช่ทุกอาการ นอกจากนี้ หากคุณเป็นไข้ละอองฟาง โรคหืด โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน มีประวัติการแพ้อาหาร หรือเป็นชาวเอเชีย อาจมีแนวโน้มที่จะเป็นภาวะไม่ทนทานต่อแอลกอฮอล์มากกว่าการแพ้แอลกอฮอล์
ภาวะและอาการแพ้อื่น ๆ ที่คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นการแพ้แอลกอฮอล์
ด้วยอาการผิดปกติจากภายนอกที่คล้ายกัน คนส่วนใหญ่จึงมักเข้าผิดว่าอาการและภาวะต่อไปนี้ว่าเป็นการแพ้แอลกอฮอล์
- ภาวะไม่ทนทานต่อฮิสตามีน (Histamine intolerance) เกิดจากระดับฮิสตามีนในร่างกายสูงเกินไปหรือเกิดจากเอนไซม์ Daimine Oxidase ซึ่งมีหน้าที่สลายฮิสตามีนจากอาหารทำงานได้ไม่เต็มที่ เป็นผลให้เกิดความผิดปกติคล้ายอาการแพ้ ไวน์นั้นเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีฮิสตามีนสูง หากผู้ที่ขาดเอนไซม์ Daimine Oxidase ดื่มไวน์เข้าไปก็อาจเกิดการแพ้และทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นการแพ้แอลกอฮอล์ได้
- ภาวะไม่ทนทานต่อซัลไฟต์ (Sulfite intolerance) ซัลไฟต์นั้นเป็นสารกันเสียชนิดหนึ่ง ที่มักนำมาใช้ในกระบวนการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเบียร์หรือไวน์ ซึ่งหากผู้ที่ไวต่อซัลไฟต์ดื่มเครื่องดื่มเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติได้
- การแพ้อาหาร ในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละชนิดนั้นอาจมีส่วนผสมที่แตกต่างกัน เช่น องุ่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวมอลต์ หรือวัตถุดิบอื่น ๆ เป็นต้น หากผู้ที่มีอาการแพ้อาหารเหล่านั้นดื่มเครื่องดื่มที่ตนเองแพ้เข้าไปก็อาจเกิดอาการแพ้ได้ ด้วยเหตุนี้บางคนจึงเข้าใจผิดว่าตนเองนั้นแพ้แอลกอฮอล์โดยไม่ทราบสาเหตุการแพ้ที่แท้จริง
- โรคและยาบางชนิด อาการใบหน้าแดงหรือตัวแดงอย่างรุนแรงหลังจากดื่มแอลกอฮอล์นั้น อาจมีสาเหตุมาจากโรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย รวมถึงการใช้ยาบางชนิด เช่น ไนอะซิน เมโทรนิดาโซล ไดซัลฟิแรม และยารักษาโรคผิวหนังอักเสบ อย่างยาโปรโทปิคและยาทาอีลีเดล เป็นต้น
แพ้แอลกอฮอล์ควรรับมืออย่างไร ?
ในขั้นแรกควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นการแพ้แอลกอฮอล์จริง ๆ ไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่นที่มักเข้าใจผิด หากทราบแล้วว่าตนเองมีอาการนี้ ควรงดบริโภคแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะจากเครื่องดื่มหรือจากอาหารเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เล็กน้อยก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ รวมถึงอาการแพ้นั้นเป็นภาวะที่มาพร้อมกับกรรมพันธุ์ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ถ้าหากเป็นเพียงอาการแพ้อาหารบางประเภทก็อาจเปลี่ยนไปบริโภคเครื่องดื่มชนิดอื่นที่ไม่มีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดการแพ้
ในเบื้องต้นหากมีอาการแพ้ที่ไม่รุนแรง อาจใช้ยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก หรือผื่นคันได้ แต่ถ้ามีอาการที่บ่งบอกถึงอาการแพ้อย่างรุนแรง ควรใช้ยาเอพิเนฟรีนหรือที่รู้จักกันในชื่ออะดรีนาลีนฉีดเข้าร่างกายทันที เนื่องจากอาการแพ้อาจทำให้เสียชีวิตได้ หากผู้แพ้เคยมีประวัติการแพ้อย่างรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาเอพิเนฟรีนในรูปแบบปากกาฉีดยาสำหรับพกพาเพื่อให้ผู้ป่วยใช้เมื่อฉุกเฉินจึงควรพกยาติดตัวไว้ตลอดเวลา ซึ่งวิธีการฉีดยาในรูปแบบปากกาจะต้องเรียนวิธีฉีดกับบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น โดยหลังจากฉีดยาควรรีบไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อติดตามอาการและเข้ารับการรักษา
อย่างไรก็ตาม การดื่มแอลกอฮอล์บ่อยหรือมากเกินไปนั้นอาจทำให้เกิดโรคได้ นอกจากนี้ แอลกอฮอล์นั้นยังอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุได้อีกด้วย ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มในปริมาณเหมาะสมเพื่อความปลอดภัยในชีวิต