หลายคนคงไม่ได้ตระหนักถึงอันตรายของแร่ใยหินมากนัก เพราะอาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่บางกลุ่มอาชีพที่ต้องคลุกคลีอยู่กับแร่ใยหินเป็นประจำควรใส่ใจกับสุขภาพให้มากขึ้น เพราะการสะสมของแร่ใยหินในร่างกายเป็นระยะเวลานานอาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพหลายประการ โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับปอด
แร่ใยหินเป็นกลุ่มของใยแร่ธรรมชาติที่ขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแรง เหนียว ยืดหยุ่นสูง ทนต่อความร้อนไฟและสารเคมี มักนำมาใช้ในงานอุตสาหกรรมบางประเภท อาทิ ปูนซีเมนต์ พลาสติกหรือสีบางชนิด ผ้าเบรกรถยนต์ สิ่งทอกันความร้อน ปลอกสายไฟ กระเบื้องปูพื้น และวัสดุดูดซับเสียง
โดยทั่วไปแร่ใยหินแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มแอมฟิโบล (Amphibole) เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ไม่อนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง และกลุ่มเซอร์แพนไทน์ (Serpentine) ที่มีชนิดแยกย่อยอย่างไครโซไทล์ (Chrysotile) เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 สามารถผลิต นำเข้า ส่งออก หรือครอบครองได้หากผ่านการขึ้นทะเบียนวัตถุและได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยถือเป็นแร่ใยหินกลุ่มเดียวที่มีใช้ในประเทศไทย
ผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน
แม้แร่ใยหินจะปะปนในอากาศ น้ำ หรือดินอยู่บ้าง แต่มักมีปริมาณต่ำจนไม่อาจก่อให้เกิดอาการป่วยในคนทั่วไป แต่กลุ่มคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือประกอบอาชีพเกี่ยวกับแร่ใยหินโดยตรง อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากขึ้นได้ โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระยะเวลาที่ได้รับแร่ใยหิน ชนิด ปริมาณและขนาดของแร่ใยหิน ประเภทของอุตสาหกรรม และสุขภาพส่วนตัว อย่างการสูบบุหรี่หรือประวัติป่วยเป็นโรคปอด เป็นต้น
ในกรณีที่แร่ใยหินถูกปล่อยสู่อากาศหรือฟุ้งกระจายในอากาศจากเหตุต่าง ๆ อย่างการตัดหรือเลื่อยวัสดุที่ทำจากแร่ใยหิน และรื้อถอนหรือทุบทำลายอาคารที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน แร่ชนิดนี้จะแตกตัวกลายเป็นอนุภาคขนาดเล็ก เมื่อสูดดมหรือหายใจเอาอากาศที่ปนเปื้อนแร่ใยหินเข้าไปอย่างต่อเนื่องหรือปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดการสะสมของแร่ใยหินที่ปอด และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพปอดที่รุนแรงตามมา เช่น
1. โรคปอดจากแร่ใยหินหรือโรคแอสเบสโตซิส (Asbestosis)
โรคปอดจากแร่ใยหินเป็นโรคเรื้อรังที่ก่อให้เกิดผังผืดหนาหรือรอยแผลที่ปอด ทำให้มีอาการหายใจไม่อิ่ม ไอแห้งอย่างต่อเนื่อง ไม่อยากอาการ ร่วมกับมีน้ำหนักตัวลดลง ปลายนิ้วมือและเท้าขยายตัว แน่นหรือเจ็บหน้าอก
โดยผู้ป่วยแต่ละคนจะมีอาการรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป และอาจใช้เวลา 15–35 ปี หลังได้รับแร่ใยหินอย่างต่อเนื่องกว่าอาการจะปรากฏ
2. โรคเกี่ยวกับเยื่อหุ้มปอด
เยื่อหุ้มปอดเป็นชั้นเนื้อเยื่อบาง ๆ ที่หุ้มล้อมรอบปอดและช่องอกเอาไว้ โดยภายในช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้มปอดและช่องอกจะมีของเหลวอยู่เล็กน้อย เพื่อป้องกันการเสียดสีกันขณะหายใจเข้าออก
การสูดดมแร่ใยหินจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อหุ้มปอด อย่างเยื่อหุ้มปอดหนาตัวผิดปกติหรือน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pleural Effusion) แม้ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีความผิดปกติในการหายใจ แต่ประสิทธิภาพการทำงานของปอดอาจน้อยลง
3. โรคมะเร็ง
แร่ใยหินอาจเป็นปัจจัยหนึ่งในการพัฒนามะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อหุ้มส่วนอื่นๆ (Mesothelioma) มะเร็งรังไข่ รวมถึงมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ไต และลำคอด้วย โดยปัจจัยร่วมอย่างการสูบบุหรี่อาจทำให้ความเสี่ยงของมะเร็งปอดเพิ่มสูงขึ้นได้ ทว่ามะเร็งบางชนิดพบได้น้อยมากและกินเวลานานเป็นสิบ ๆ ปีกว่าจะแสดงอาการให้เห็น
วิธีป้องกันแร่ใยหินอย่างถูกวิธี
แม้ประเทศไทยจะมีมาตรการควบคุมแร่ใยหินที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 จนถึงปัจจุบัน แต่ผู้เชี่ยวชาญยังมีความกังวลว่า ความพยายามลดใช้แร่ใยหินที่ผ่านมาอาจยังไม่ถึงระดับที่ตั้งเป้าไว้ ดังนั้น การหลีกเลี่ยงแร่ใยหินหรือการป้องกันตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ จากแร่ใยหินจึงมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนทำงานหรือเสี่ยงต่อการสัมผัสแร่ใยหินเป็นเวลานาน โดยอาจปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- สวมชุดและอุปกรณ์ป้องกันก่อนการทำงานหรือกิจกรรมใดที่เสี่ยงได้รับแร่ใยทุกครั้ง หลังเสร็จสิ้นภารกิจควรทำความสะอาดร่างกายเพื่อป้องกันแร่ใยหินปนเปื้อนไปสู่ผู้อื่นหรือคนในครอบครัว
- เช็ดพื้นรองเท้าด้วยพรมเช็ดเท้าและถอดรองเท้าก่อนเข้ามาในตัวบ้าน เพื่อป้องกันแร่ใยหินที่อาจติดมากับพื้นรองเท้า
- ทำความสะอาดบ้านด้วยผ้าชุบน้ำบิดหมาด ๆ แทนไม้ปัดขนไก่ และใช้เครื่องดูดฝุ่นที่มีตัวกรองอากาศประสิทธิภาพสูง
- เลิกสูบบุหรี่เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพปอดในอนาคต
- เข้ารับการตรวจร่างกายเป็นประจำ
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และปอดบวม (Pneumococcal Vaccine)
- หลีกเลี่ยงอาคารเก่าที่ปล่อยทิ้งร้างหรืออาคารที่กำลังทำการรื้อถอน เนื่องจากตัวอาคารหรือวัสดุต่าง ๆ ในพื้นที่ดังกล่าวอาจมีส่วนประกอบของแร่ใยหิน
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบอาชีพที่กังวลเกี่ยวกับแร่ใยหิน สามารถปรึกษาและขอคำแนะนำแพทย์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในกรณีที่เข่าข่ายสัมผัสกับแร่ใยหินติดต่อกันหลายปีควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายและสุขภาพปอดอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยให้การรักษาดำเนินไปอย่างรวดเร็วและตรงจุดยิ่งขึ้น