แสบท้อง รู้ทันสาเหตุและวิธีรับมือ

แสบท้อง คือความรู้สึกแสบร้อนที่เกิดขึ้นภายในท้อง ซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งที่น่าจะเคยเกิดขึ้นกับใครหลาย ๆ คน ในบางกรณีอาการนี้อาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในประจำวันบางอย่างเท่านั้น เช่น การรับประทานอาหารรสเผ็ด การรับประทานอาหารที่มีความเป็นกรดสูง การสูบบุหรี่ หรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ในบางครั้งอาการแสบท้องก็อาจเป็นสัญญาณถึงโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่างทางร่างกายได้เช่นกัน ตั้งแต่ภาวะอาหารไม่ย่อย โรคกระเพาะอาหารอักเสบ การเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ไปจนถึงโรคมะเร็งบางชนิด ซึ่งสาเหตุเหล่านี้บางอย่างก็ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ การทำความรู้จักกับอาการของแต่ละสาเหตุเอาไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

แสบท้อง

สาเหตุของอาการแสบท้อง

อาการแสบท้องเป็นอาการที่อาจเกิดได้จากหลาย ๆ สาเหตุ ตั้งแต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันไปจนถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่างทางร่างกาย

โดยพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่อาจส่งผลให้เกิดอาการแสบท้องก็เช่น การรับประทานอาหารรสเผ็ด การดื่มน้ำอัดลม การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม การสูบบุหรี่ และการรับประทานอาหารที่มีความเป็นกรดสูง เช่น มะเขือเทศ หรือส้ม

ส่วนโรคหรือภาวะผิดปกติที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการแสบท้องก็เช่น

1. โรคกระเพาะอาหารอักเสบ

โรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือโรคกระเพาะ เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการที่เยื่อบุภายในกระเพาะอาหาร ซึ่งมีหน้าที่คอยป้องกันกระเพาะอาหารจากกรดและเชื้อโรคต่าง ๆ ของผู้ป่วยเกิดการอักเสบ

การเกิดโรคนี้ส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylorior หรือ H. pylori) การใช้ยารักษาโรคบางชนิด โดยเฉพาะยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม หรือในบางกรณีก็อาจเป็นผลมาจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และการรักษาด้วยเคมีบำบัด

ที่ป่วยด้วยโรคนี้อาจเกิดอาการแสบท้อง โดยเฉพาะบริเวณท้องด้านบน ร่วมกับอาการอื่น ๆ ในลักษณะดังต่อไปนี้ ได้แก่ เบื่ออาหาร อิ่มไวผิดปกติ ท้องอืด คลื่นไส้ และอาเจียน

2. แผลในกระเพาะอาหาร

โดยปกติแล้วในทางเดินอาหารจะมีชั้นเมือกหุ้มเพื่อป้องกันกรดอยู่ การเกิดแผลในกระเพาะอาหารจะเกิดขึ้นเมื่อปริมาณกรดเริ่มเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือชั้นเมือกที่หุ้มทางเดินอาหารอยู่มีปริมาณลดลง เนื่องจากหากกรดมีปริมาณมากเกินไป หรือชั้นเมือกมีปริมาณน้อยเกินไป ทางเดินอาหารก็อาจถูกกรดทำร้ายจนเกิดแผลตามมาได้

โดยสาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิดกลไกดังกล่าวได้ก็เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร และการใช้ยาแก้ปวดบางชนิดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะยาแอสไพริน (Aspirin) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) สเตียรอยด์ ยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านเศร้าในกลุ่ม SSRIs ยาอเลนโดรเนต (Alendronate) และยาไรซีโดรเนต (Ridedronate)

ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารมักจะพบอาการแสบท้องร่วมกับอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่ แสบร้อนกลางอก ท้องอืด เรอบ่อย เบื่ออาหาร รู้สึกอิ่มไวหรือนานผิดปกติ คลื่นไส้ และอาเจียน

3. อาหารไม่ย่อย

อาหารไม่ย่อย หรืออาการในลักษณะปวดท้อง ไม่สบายท้องหลังจากรับประทานอาหาร เป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่สาเหตุที่ไม่รุนแรงไปจนถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด

โดยสาเหตุที่ไม่รุนแรงก็คือ การรับประทานอาหารในปริมาณมากในมื้อเดียว เนื่องจากหากร่างกายได้รับอาหารในปริมาณมากในระยะเวลาสั้น ๆ ระบบย่อยอาหารจะต้องทำงานหนักและหลั่งน้ำย่อยมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการแสบท้องได้ ส่วนในกรณีที่โรคต่าง ๆ เป็นสาเหตุ อาการมักจะเกิดอย่างเรื้อรัง โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยคือ โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome)

ผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อยมักจะพบอาการอื่นนอกจากอาการแสบท้องในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ อิ่มไวผิดปกติ รู้สึกอิ่มหลังจากรับประทานอาหารในแต่ละมื้อนานผิดปกติ รู้สึกปวดบริเวณระหว่างใต้หน้าอกกับเหนือสะดือ ท้องอืด และคลื่นไส้ 

4. กรดไหลย้อน

กรดไหลย้อนเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อหูรูดบริเวณส่วนปลายหลอดอาหารทำงานผิดปกติไป จนส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาทางหลอดอาหารได้ ซึ่งเมื่อกรดเกิดการไหลย้อนกลับขึ้นมา เยื่อบุภายในหลอดอาหารก็อาจเกิดการระคายเคืองจากกรดได้

ในด้านสาเหตุ ภาวะกรดไหลย้อนจะสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การมีภาวะอ้วน การตั้งครรภ์ การสูบบุหรี่ การเจ็บป่วยด้วยภาวะไส้เลื่อนกระบังลม การเจ็บป่วยด้วยโรคหนังแข็ง และการใช้ยารักษาโรคบางชนิด โดยเฉพาะยาในกลุ่มเอ็นเสด กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ยาต้านแคลเซียม และยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants)

ส่วนด้านอาการ ผู้ที่มีอาการกรดไหลย้อนมักพบจะอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ เช่น แสบร้อนกลางอกหรือแสบท้อง โดยเฉพาะช่วงหลังรับประทานอาหารและหลังนอนราบไปกับพื้น มีอาหารไหลย้อนกลับมาทางลำคอ ได้รสเปรี้ยวในปาก กลืนลำบาก เจ็บคอ คลื่นไส้ และรู้สึกเหมือนมีก้อนอะไรติดอยู่ในลำคอ

5. โรคลำไส้แปรปรวน

โรคลำไส้แปรปรวน เป็นโรคที่เกิดจากการที่ลำไส้ทำงานผิดปกติไป โดยสาเหตุหรือปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ก็เช่น ภาวะที่กลไกการบีบตัวของลำไส้ทำงานผิดปกติไป ระบบประสาทบริเวณระบบย่อยอาหารเกิดความผิดปกติบางอย่าง และการติดเชื้อ

ผู้ที่ป่วยด้วยโรคลำไส้แปรปรวนมักจะพบอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ เช่น ปวดท้อง ท้องอืด เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารมาก มีอาการท้องเสียสลับกับอาการท้องผูก อุจจาระมีมูกปน และรู้สึกเหมือนกับอุจจาระไม่สุด

นอกจากนี้ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ยังมักพบว่าอาการมักจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับตัวกระตุ้นบางอย่าง เช่น ความเครียด หรือการรับประทานอาหารบางชนิด โดยเฉพาะนมวัว อาหารหรือเครื่องดื่มที่ทำมาจากนมวัว ผลไม้ในตระกูลส้ม พืชตระกูลถั่ว กะหล่ำปลี และน้ำอัดลม

6. มะเร็งกระเพาะอาหาร

มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นโรคที่เกิดจากการที่เซลล์บริเวณกระเพาะอาหารที่มีความผิดปกติเกิดการเจริญเติบโตหรือเพิ่มจำนวนมากผิดปกติ จนนำไปสู่การเกิดเนื้องอกwww.pobpad.com/เนื้องอกบริเวณกระเพาะอาหาร

ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่ทราบถึงสาเหตุของโรคนี้ที่แน่ชัด แต่เป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เช่น ประวัติป่วยด้วยโรคนี้ของคนในครอบครัว การเป็นกรดไหลย้อนเรื้อรัง การป่วยด้วยโรคกระเพาะอาหารอักเสบ การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร การรับประทานอาหารที่มีเกลือหรืออาหารรมควันมาก ๆ การรับประทานผักและผลไม้น้อย และการสูบบุหรี่

ผู้ป่วยในกลุ่มนี้บางคนอาจไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ ในช่วงแรกของการเกิดมะเร็ง แต่เมื่อเริ่มเกิดอาการ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมักพบอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ เช่น รู้สึกปวดท้องช่วงบน อาหารไม่ย่อย อ่อนเพลียผิดปกติ น้ำหนักลดผิดปกติ อาเจียนปนเลือด และอุจจาระมีสีดำผิดปกติ

7. การใช้ยารักษาโรคบางชนิด

การใช้ยาบางชนิดอาจส่งผลให้ผู้ใช้ยาเกิดอาการแสบท้องเป็นผลข้างเคียงได้ โดยเฉพาะยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน และยานาพรอกเซน (Naproxen)

วิธีรับมือกับอาการแสบท้องอย่างถูกต้อง

ผู้ที่มีอาการแสบท้องอาจลองนำวิธีดังต่อไปนี้ไปปรับใช้เพื่อบรรเทาอาการในเบื้องต้น

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจเป็นสาเหตุ เช่น อาหารที่มีความเป็นกรดสูง นมวัว อาหารหรือเครื่องดื่มที่ทำมาจากนมวัว อาหารแปรรูป อาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อาหารที่มีไขมันสูง และอาหารที่มีกลูเตน (Gluten) เป็นส่วนผสม
  • ลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อลง แต่ให้เพิ่มจำนวนมื้ออาหารให้มากขึ้น รวมถึงควรรับประทานอาหารในเวลาเดิมของทุกวัน
  • จัดการกับความเครียด เช่น ทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบ ออกกำลังกาย
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่อาจส่งผลให้ร่างกายผลิตกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น อีกทั้งยังอาจส่งผลให้หูรูดส่วนปลายทำงานผิดปกติจนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกรดไหลย้อนได้อีกด้วย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อาจส่งผลให้เยื่อเมือกที่ป้องกันกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลงได้
  • พยายามเคี้ยวอาหารช้า ๆ ให้ละเอียดก่อนกลืน
  • หลีกเลี่ยงการเอนตัวนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร โดยให้เว้นช่วงเวลาอย่างน้อยประมาณ 3 ชั่วโมง
  • หมั่นออกกำลังกาย เนื่องจากการออกกำลังกายอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ได้ อีกทั้งยังเป็นอีกวิธีที่อาจช่วยให้ควบคุมความเครียดได้ดีขึ้นอีกด้วย
  • เพิ่มปริมาณการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารให้มากขึ้น แต่ให้ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณทีละน้อย เนื่องจากหากร่างกายได้รับปริมาณใยอาหารที่มากเกินไปในเวลาสั้น ๆ ผู้ที่รับประทานใยอาหารอาจเกิดแก๊สในกระเพาะและปวดท้องได้
  • รับประทานยาลดกรด แต่ก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงจากยาและความปลอดภัยต่อร่างกาย

ทั้งนี้ วิธีเหล่านี้เป็นวิธีดูแลตัวเองจากอาการแสบท้องในเบื้องต้นเท่านั้น หากลองทำตามแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาการแย่ลง หรืออาการกลับมาเกิดซ้ำ ๆ ผู้ที่มีอาการแสบท้องก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการแสบท้องควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากพบอาการที่อาจเป็นสัญญาณของโรคบางชนิดที่มีความรุนแรงร่วมด้วย เช่น อาเจียนปนเลือด อุจจาระปนเลือด อุจจาระมีสีดำผิดปกติ ปวดท้องอย่างรุนแรง หายใจลำบาก กลืนอาหารลำบาก คลำพบก้อนบริเวณท้อง น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ผิวหนังมีสีออกเหลือง และดวงตามีสีออกเหลือง