โรคกลัวการแยกจาก (Separation Anxiety Disorder) และการรักษา

โรคกลัวการแยกจาก (Separation Anxiety Disorder: SAD) คือโรควิตกกังวลรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกลัวอย่างรุนแรงเมื่อต้องแยกจากคนที่รักหรือผู้ดูแล เช่น กลัวจะถูกทิ้ง กลัวจะเกิดเรื่องร้ายแรงกับคนที่ตนรัก อาการกลัวการแยกจากพบบ่อยในทารกและเด็กเล็กที่อายุระหว่าง 6 เดือนถึง 2 ปี แต่บางครั้งอาจพบในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ได้เช่นกัน 

อาการกลัวการแยกจากผู้ปกครองเป็นเรื่องปกติตามพัฒนาการเด็ก ซึ่งอาการจะดีขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้น แต่หากอาการไม่ดีขึ้นและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจเข้าข่ายโรคกลัวการแยกจาก ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชที่ที่ควรได้รับการรักษา หากพบว่าเด็กหรือคนรอบข้างมีอาการกลัวการแยกจากอย่างรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

โรคกลัวการแยกจาก

อาการของโรคกลัวการแยกจาก

เด็กเล็กที่ต้องแยกจากพ่อแม่และผู้ปกครองมักมีอาการร้องไห้งอแง กอดผู้ปกครองแน่น กลัวคนแปลกหน้าและสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย เช่น ครูและเพื่อนใหม่ที่โรงเรียน ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นเรื่องปกติตามพัฒนาการของเด็กและไม่ใช่เรื่องน่ากังวล ซึ่งอาการมักจะหายไปเมื่อเด็กอายุได้ 2–3 ปี

ในกรณีของโรคกลัวการแยกจาก สามารถเกิดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่อาการจะรุนแรงกว่ามาก และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์กับผู้อื่น DSM-5 ระบุว่าผู้ป่วยจะมีอาการแสดงออกในลักษณะต่าง ๆ อย่างน้อย 3 ข้อ ดังนี้

  • ไม่สบายใจ ทุกข์ใจ และคิดวนเวียนว่าตนเองจะต้องแยกจากไปอยู่ที่อื่น และต้องพรากจากคนที่รัก
  • ร้องไห้ไม่หยุด กรีดร้องโวยวาย หรือพยายามอ้อนวอนซ้ำ ๆ เมื่อต้องแยกจากผู้ปกครองหรือคนที่รัก
  • กลัวว่าจะมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นกับตัวเอง เช่น กลัวถูกทอดทิ้ง กลัวหลงทาง ถูกลักพาตัว เกิดอุบัติเหตุ หรือมีอาการเจ็บป่วย เมื่อต้องแยกจากคนที่รัก
  • กลัวว่าจะมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นกับคนที่รัก เช่น เกิดอุบัติเหตุ ภัยพิบัติ และการเสียชีวิต
  • กลัวการอยู่คนเดียวอย่างรุนแรง ไม่สามารถอยู่ตามลำพังหรือนอนค้างในสถานที่ที่ไม่มีคนที่รักอยู่ด้วย
  • ไม่ยอมออกจากบ้าน ไม่ไปโรงเรียน ไม่ไปทำงาน เพราะกลัวการแยกจากคนที่รัก
  • ฝันร้ายเกี่ยวกับการต้องแยกจากคนที่รักบ่อย ๆ บางคนอาจฉี่รดที่นอน
  • มีอาการผิดปกติทางร่างกาย เช่น ปวดท้อง ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ไม่มีสมาธิ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก เมื่อคิดว่าต้องแยกจากคนที่รัก

ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการของโรคกลัวการแยกจากตั้งแต่เด็ก และบางคนอาจมีอาการต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกลัวการแยกจากหากมีอาการข้างต้นต่อเนื่องนานกว่า 4 สัปดาห์ ส่วนในผู้ใหญ่ จะได้รับการวินิจฉัยหากอาการต่าง ๆ คงอยู่นานกว่า 6 เดือน

สาเหตุของโรคกลัวการแยกจาก

โรคกลัวการแยกจากเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดอาการ เช่น

  • การเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียดที่ยากต่อการปรับตัว เช่น การย้ายโรงเรียนกะทันหัน การหย่าร้าง ภัยพิบัติ และการเสียชีวิตของคนที่รักหรือสัตว์เลี้ยง 
  • ประสบการณ์อันเลวร้ายในวัยเด็กและปัญหาครอบครัว เช่น การถูกทารุณกรรม การถูกทอดทิ้ง ฐานะครอบครัวที่ยากจน
  • การเลี้ยงดู เช่น การเลี้ยงลูกแบบประคบประหงมเกินไป หรือปล่อยปละละเลยให้อยู่เองตามลำพัง
  • คนในครอบครัวมีประวัติของโรคจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล
  • บุคลิกนิสัยส่วนตัว เช่น ขี้อาย พูดน้อย เครียดและกังวลง่าย
  • มีโรคทางจิตเวชอื่นร่วมด้วย เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคแพนิค โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคกลัวสังคม และโรคกลัวอื่น ๆ

แนวทางการรักษาโรคกลัวการแยกจาก

อาการกลัวการแยกจากในเด็กเล็กอาจดีขึ้นได้เองหลังจากที่เด็กเริ่มปรับตัวกับคนที่ไม่คุ้นเคยและสถานที่ใหม่ได้ ผู้ปกครองควรพูดคุยกับครูหรือพี่เลี้ยงเพื่อให้ช่วยดูแลเด็กระหว่างที่ผู้ปกครองไม่อยู่ และอธิบายอธิบายให้เด็กเข้าใจได้ง่ายว่าผู้ปกครองกำลังจะไปไหน ทำอะไร และจะกลับมารับหรือมาหาเด็กเมื่อไหร่ รวมทั้งควรกลับมาตามเวลาที่บอกไว้ เพื่อให้เด็กคุ้นเคยและปรับตัวกับการแยกจากผู้ปกครองได้ดีขึ้น 

แต่ในกรณีของโรคกลัวการแยกจากนั้น ควรได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ ซึ่งวิธีการรักษาอาจได้แก่

การบำบัด

จิตบำบัด (Psychotherapy) เป็นวิธีรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยการพูดคุยกับนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ เพื่อประเมินอาการ วิเคราะห์สาเหตุ และรับคำแนะนำในการรับมือกับอาการ ซึ่งการบำบัดแต่ละแบบจะมีหลักการและวิธีที่ต่างกัน

วิธีที่ใช้ในการรักษาโรคกลัวการแยกจากบ่อยที่สุด คือการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) เพื่อทำความเข้าใจระบบความคิด และนำไปสู่การปรับปรุงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ผู้ป่วยจะได้เรียนรู้วิธีการเผชิญหน้ากับความกลัวเมื่อต้องแยกจากคนที่รัก 

ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยเด็ก ผู้ปกครองอาจได้เรียนรู้วิธีรับมือกับอารมณ์ไม่พึงประสงค์ของผู้ป่วยผ่านการบำบัดครอบครัว (Family Therapy) นอกจากนี้ แพทย์อาจรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การบำบัดพฤติกรรมวิภาษ (Dialectical Behavior Therapy: DBT) และการบำบัดแบบกลุ่ม 

การใช้ยา

ในบางกรณี การใช้ยา เช่น ยาต้านเศร้ากลุ่ม SSRIs และยาลดความวิตกกังวล ควบคู่กับจิตบำบัดอาจช่วยรักษาผู้ที่มีอาการของโรคกลัวการแยกจากขั้นรุนแรงได้ดี 

โรคกลัวการแยกจากอาจพบได้ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต และผู้ใหญ่ หากมีอาการรุนแรงหรือไม่ดีขึ้นตามวัยอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หากไม่ได้รับการรักษา อาการมักจะไม่ดีขึ้น และอาจนำไปสู่โรคทางจิตเวชอื่นตามมา เช่น โรคแพนิค และโรควิตกกังวล หากพบว่าเด็กหรือตัวเองมีอาการของโรคกลัวการแยกจาก ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรับการรักษาอย่างเหมาะสม