โรคชอบขโมยของ (Kleptomania) เป็นโรคทางจิตเวชที่ทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจในการลักขโมยของ ซึ่งสิ่งของที่ถูกขโมยมักไม่ใช่สิ่งของที่ต้องการใช้หรือสิ่งของที่มีราคาสูง โดยโรคชอบขโมยเป็นโรคที่สามารถบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ด้วยวิธีการรักษา เช่น การทำจิตบำบัด การใช้ยา
โรคชอบขโมยของนั้นแตกต่างกับการลักขโมยทั่วไป เนื่องจากการลักขโมยมักมีการวางแผนหรือขโมยสิ่งของที่มูลค่าสูงที่ไม่สามารถซื้อได้ด้วยตนเอง แต่สำหรับโรคชอบขโมยของ ผู้ที่มีอาการมักจะไม่มีการวางแผนล่วงหน้า รวมถึงมักจะลักขโมยสิ่งของเพื่อตอบสนองต่อความเครียดและความกังวลที่เกิดจากการหักห้ามใจไม่ให้ขโมยของ
สังเกตสัญญาณโรคชอบขโมยของ
โรคชอบขโมยของจัดเป็นโรคในกลุ่มโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ (Impulse Control Disorders) โดยผู้ที่เป็นโรคชอบขโมยของอาจมีอาการต่าง ๆ เช่น
- รู้สึกอยากขโมยของบ่อยครั้ง ซึ่งมักเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และมักเป็นผู้ขโมยแต่เพียงผู้เดียว
- ขาดความยับยั้งชั่งใจในการขโมยของต่าง ๆ ที่ไม่ได้ต้องการ
- รู้สึกดีหรือพึงพอใจจากการขโมยของ
- ผู้ที่เป็นโรคชอบขโมยของส่วนใหญ่มักขโมยของที่อยู่ในที่สาธารณะ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร บางรายอาจขโมยของจากเพื่อนหรือคนรู้จักด้วย
- ของที่ขโมยมักมีมูลค่าไม่สูงมาก หรือเป็นสิ่งของที่มีสามารถซื้อได้ด้วยตนเอง
- ของที่ถูกขโมยมักจะถูกเก็บไว้และไม่นำมาใช้งาน ถูกบริจาค มอบให้กับผู้อื่น หรืออาจส่งคืนไปยังสถานที่ที่ขโมยของมา
ผู้ที่เป็นโรคชอบขโมยของทราบดีว่าการขโมยของเป็นสิ่งที่ผิดและอาจทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ แต่ผู้ที่เป็นโรคชอบขโมยของมักไม่สามารถควบคุมตนเอง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ที่มีอาการดังกล่าวรู้สึกผิด เครียด หรือกังวลจากการขโมยของได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคชอบขโมยของ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคชอบขโมยของยังไม่ชัดเจน แต่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น
- ระดับเซโรโทนินผิดปกติ โดยเซโรโทนินเป็นสารเคมีที่ช่วยควบคุมอารมณ์และความรู้สึก หากร่างกายมีระดับเซโรโทนินต่ำเกินไป อาจส่งผลให้ขาดความยับยั้งชั่งใจที่จะขโมยของได้
- การเสพติดพฤติกรรมการขโมยของ การขโมยของอาจทำให้ร่างกายปล่อยโดปามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ทำให้รู้สึกดี จึงอาจส่งผลให้เกิดการขโมยของบ่อย ๆ ในผู้ที่เป็นโรคชอบขโมยของ
- การมีโรคทางจิตเวชอื่น ๆ โรคชอบขโมยของมักเกิดขึ้นร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่น ๆ เช่น โรควิตกกังวล โรคการกินผิดปกติ โรคซึมเศร้า
- อาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีบุคคลในครอบครัว เช่น พ่อแม่ พี่น้อง หรือญาติ เป็นโรคชอบขโมยของ โดยผู้ที่อาศัยอยู่ในครอบครัวดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคชอบขโมยของสูงกว่าปกติ
วิธีรักษาโรคชอบขโมยของอย่างเหมาะสม
โรคชอบขโมยของเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ ดังนั้น หากสังเกตเห็นอาการของโรคชอบขโมยของ ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและการรักษา โดยวิธีการรักษาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น
- การทำจิตบำบัด เช่น การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy: CBT) เพื่อช่วยให้เข้าใจในอาการของตนเอง รวมถึงปรับเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรมให้ดีขึ้น
- การใช้ยา เช่น ยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ (SSRIs) รวมถึงยาต้านเศร้าอื่น ๆ เพื่อช่วยรักษาอาการของโรคชอบขโมยของ
การรักษาโรคชอบขโมยของเป็นสิ่งสำคัญ เพราะอาจช่วยลดความเครียดหรือความกังวลที่เกิดจากการขโมยของโดยที่ไม่สามารถควบคุมตนเอง รวมถึงป้องกันปัญหาทางด้านกฎหมายที่อาจตามมาอีกด้วย โดยการรักษาจากจิตแพทย์อย่างต่อเนื่องอาจช่วยให้บรรเทาอาการให้ดีขึ้น และทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้