โรคฝีดาษลิงติดต่อทางไหน รู้ทัน 4 ช่องทางแพร่เชื้อ และวิธีป้องกัน

โรคฝีดาษลิงติดต่อทางไหน เป็นคำถามที่หลายคนอยากทราบเมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคเอ็มพอกซ์หรือฝีดาษลิง (Mpox หรือ Monkeypox) โดยโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มออร์โทพอกซ์ (Orthopoxvirus) ที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษ (Smallpox) การทราบข้อมูลว่าโรคฝีดาษลิงติดต่อทางใดได้บ้าง อาจช่วยให้เราเตรียมการป้องกันและรับมือกับโรคนี้ได้ดียิ่งขึ้น

โรคฝีดาษลิงหรือเอ็มพอกซ์ เป็นโรคที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ทำให้มีไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ แต่ต่างกันตรงที่ฝีดาษลิงทำให้เกิดผื่นและตุ่มหนองทั่วร่างกาย ก่อนจะกลายเป็นสะเก็ดและลอกออกไป โดยฝีดาษลิงเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสในสัตว์แพร่มาสู่คน แต่เมื่อโรคเริ่มระบาดจากคนสู่คนด้วยกันการแพร่ระบาดก็กว้างไกลขึ้น และการเตรียมการป้องกันเป็นสิ่งสำคัญ

Transmission of Mpox

โรคฝีดาษลิงติดต่อทางไหน รู้เท่าทันการแพร่กระจายของโรคฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิงสามารถติดต่อกันได้จากการสัมผัสทางตรงหรือทางอ้อมกับเชื้อไวรัส และติดต่อผ่านการหายใจรับเอาสารคัดหลั่งจากคนที่ติดเชื้อ โดยโรคฝีดาษลิงติดต่อได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

1. การสัมผัสตัวคนอื่น

โรคฝีดาษลิงติดต่อทางการสัมผัสตัวผู้อื่น เช่น การจับมือ กอด หอมแก้ม หรือการมีเพศสัมพันธุ์ โดยเฉพาะผู้ที่มีผื่น หรือตุ่มหนองที่ยังไม่ตกสะเก็ด ทั้งยังรวมถึงการสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกาย เช่น น้ำมูกหรือเสมหะด้วย ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวหรือสารคัดหลั่งของผู้ที่มีอาการของฝีดาษลิง

2. การหายใจ

การพูดคุยต่อหน้าหรือการหายใจในระยะประชิดอาจทำให้ติดโรคได้แม้จะไม่มีการสัมผัสตัว เพราะเชื้อไวรัสโรคฝีดาษลิงสามารถติดต่อทางละอองฝอยในอากาศได้ การพูดคุยใกล้กันเป็นเวลานานกับผู้ที่มีอาการฝีดาษลิง เช่น มีตุ่มเล็ก ๆ ตามตัว มีผื่น และมีไข้ อาจทำเกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อฝีดาษลิง จึงควรหลีกเลี่ยงการพูดคุยหรืออยู่ใกล้ผู้มีอาการ

 3. การสัมผัสสิ่งของ

การสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ เช่น ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน เสื้อผ้า โทรศัพท์ ที่มีเชื้อฝีดาษลิงอยู่อาจทำให้ติดโรคได้ โดยเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผลบนมือ หรือจากการใช้มือที่สัมผัสเชื้อโรคมาสัมผัสส่วนต่าง ๆ บนใบหน้า ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของผู้อื่นโดยไม่จำเป็น และควรหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสตา จมูก ปาก ของตัวเองโดยที่ยังไม่ได้ล้างมือให้สะอาด

4. การสัมผัสสัตว์

ฝีดาษลิงติดต่อทางการสัมผัสตัว สัมผัสเลือด หรือสารคัดหลั่งของสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น ลิง หนู กระรอก หรือสัตว์ตระกูลฟันแทะอื่น ๆ การถูกกัดและข่วนโดยสัตว์ก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้ รวมไปถึงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุกและปนเปื้อนเชื้อโรคก็เสี่ยงต่อการติดโรคฝีดาษลิงเช่นกัน

นอกจากนี้ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์อยู่และเป็นโรคฝีดาษลิงก็สามารถส่งต่อเชื้อสู่ลูกในครรภ์ได้ หรือการแพร่เชื้อสู่ทารกในระหว่างคลอดหรือหลังจากคลอดได้ จึงควรระมัดระวังไม่ให้เกิดการติดเชื้อเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อสู่ลูก 

วิธีป้องกันการติดต่อของโรคฝีดาษลิง

ฝีดาษลิงเป็นโรคที่สามารถแพร่กระจายและติดต่อได้ง่าย จึงควรรู้วิธีรับมือการระบาดของโรคฝีดาษลิงด้วยตนเอง ซึ่งสามารถทำได้ด้วยขั้นตอนดังนี้

  • ใส่หน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกเวลาอยู่กับผู้อื่น หรืออยู่ในที่ที่คนพลุกพล่าน
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ที่มีอาการฝีดาษลิง เช่น ผื่นและตุ่มหนองที่ยังไม่ตกสะเก็ด รวมถึงผู้ที่สัมผัสกับเชื้อหรือเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด 
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่ป่วยหรือมีผื่นและตุ่มหนอง 
  • หมั่นล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ หรือใช้เจลล้างมือพกพาในการทำความสะอาดมือเพื่อป้องกันเชื้อโรค
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของจากผู้ที่ติดเชื้อ หากจับไปแล้วควรล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

ในกรณีของผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อฝีดาษลิง เช่น ผู้ที่สัมผัสหรือใกล้ชิดผู้เป็นโรคฝีดาษลิง สัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อ ผู้ที่เดินทางจากแอฟริกาใต้ หรือแอฟริกากลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคสูง ควรสังเกตอาการของฝีดาษลิง เช่น ผื่น ตุ่มหนอง มีไข้ ปวดหัวเป็นเวลา 21 วัน       

นอกจากนี้ ในประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษลิง โดยจะเน้นฉีดให้แก่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก่อน ทั้งนี้ ผู้รับวัคซีนต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ผู้มีความเสี่ยงสูงควรฉีดหลังยืนยันว่าสัมผัสเชื้อแล้วภายใน 4–14 วัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือป้องกันไม่ให้อาการป่วยรุนแรง การรับวัคซีนสามารถติดต่อและนัดหมายได้ที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย 

ส่วนผู้ที่ติดเชื้อและมีอาการของโรคฝีดาษลิง ควรรักษาและกักตัวเองอยู่ในบ้านเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อสู่ผู้อื่น โดยทั่วไปโรคฝีดาษลิงมักมีอาการไม่รุนแรง และสามารถหายได้เองใน 2–4 สัปดาห์ เมื่อแผลสะเก็ดตกและเริ่มมีผิวหนังใหม่แล้ว จึงหยุดการกักตัวได้ เพราะเป็นระยะที่เชื้อมักหยุดการแพร่กระจายแล้ว 

แม้ผู้ป่วยฝีดาษลิงส่วนใหญ่จะสามารถหายได้เอง แต่ผู้ที่มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ และเด็กอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงได้ 

ทั้งนี้ หากผู้ที่ติดเชื้อฝีดาษลิงมีอาการที่รุนแรง เช่น ตุ่มมีขนาดใหญ่และอักเสบมาก รวมถึงมีอาการแทรกซ้อนอื่น เช่น มีอาการปอดอักเสบ อาเจียนและท้องเสียอย่างรุนแรงจนเกิดอาการขาดน้ำ รู้สึกเจ็บปวดเมื่อกลืนอาหารหรือน้ำ มีการติดเชื้อที่ดวงตาจนสูญเสียการมองเห็น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม