โรคภูมิแพ้ผิวหนัง รู้ทันสาเหตุและวิธีดูแลผิวก่อนอาการลุกลาม

หลายคนที่เคยเกิดผื่นแดงคันตามผิวหนังคงคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้ทันสังเกตหรือระวังอะไร แต่หากอาการเป็น ๆ หาย ๆ ร่วมกับมีอาการผิวแห้ง อักเสบ แดง คัน อาจเป็นอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังหรือโรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) ซึ่งอาการอาจลุกลามจนกระทบต่อการใช้ชีวิตหากไม่ได้รับการดูแลรักษา

โรคภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคที่เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันผิวหนังตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นบางอย่างผิดปกติ เช่น สภาพอากาศร้อนหรือแห้ง ไรฝุ่น สารบางชนิดในสบู่หรือผงซักฟอก ควันบุหรี่ เสื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์หรือใยสังเคราะห์ หรืออาหารบางชนิด อย่างไข่ นม ถั่วเหลือง หรือข้าวสาลี 

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง รู้ทันสาเหตุและวิธีดูแลผิวก่อนอาการลุกลาม

ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันผิวหนังของผู้ป่วยเกิดความผิดปกติ แต่พบความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ส่วนใหญ่จะพบมากในเด็กเล็ก คนที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้ โรคไข้ละอองฟางหรือโรคหืด

 ลักษณะอาการจากโรคภูมิแพ้ผิวหนัง

โดยทั่วไป อาการทางผิวหนังจากโรคภูมิแพ้ผิวหนังในผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่หลัก ๆ แล้ว ผู้ป่วยมักจะพบอาการคัน โดยเฉพาะช่วงกลางคืน ผิวแห้ง ผิวลอกเป็นขุย เกิดรอยผื่นแดง ผิวหนังหนา เกิดรอยตุ่มนูน หรือเกิดตุ่มน้ำใส โดยอาการจะเกิดในลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ อย่างเรื้อรังหลายปี และจะเริ่มดีขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ บริเวณตำแหน่งของผื่นจากโรคภูมิแพ้ผิวหนังยังแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย โดยทารกที่อายุต่ำกว่า 1 ปีจะมักพบอาการที่บริเวณแก้ม หน้าผาก หนังศีรษะ ซอกคอ และด้านนอกของแขนและขา

ส่วนเด็กที่โตขึ้นมาและผู้ใหญ่จะมักพบตามข้อพับต่าง ๆ คอ ข้อมือ ข้อเท้า และผิวจะยิ่งแห้ง เป็นขุย หนาขึ้น หรืออาจมีรอยคล้ำบริเวณที่เกิดผื่นร่วมด้วย

วิธีรับมือกับโรคภูมิแพ้ผิวหนัง

คนที่มีอาการทางผิวหนังจากโรคภูมิแพ้ผิวหนังอาจบรรเทาอาการด้วยวิธีต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนหรือเย็นจัด โดยให้อาบน้ำด้วยน้ำอุ่นหรืออุณหภูมิห้องแทน และไม่ควรอาบน้ำนานเกินไป
  • ทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิววันละ 2 ครั้งหลังอาบน้ำ หรือใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับทาเฉพาะจุดในบริเวณที่เกิดอาการบ่อย ๆ โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีสารช่วยบรรเทาการอักเสบ เช่น สเป็นเกรนแว็กซ์ (Spent Grain Wax) เชียบัตเตอร์ (Shea Butter) และน้ำมันอาร์แกน (Argan Oil) รวมถึงสารที่ให้ความชุ่มชื้น เช่น แซคคาไรด์ ไอโซเมอเรทจากข้าวสาลี (Saccharide Isomerate) ยูเรีย (Urea) AHA สารสกัดจากว่านหางจระเข้ (Aloe Vera) น้ำมันโรสฮิป (Rosehip Oil) และอัลลานโทอิน (Allantoin) นอกจากนี้ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว ไม่ผสมสารแต่งสี และไม่มีสารแต่งกลิ่น
  • เลือกใช้สบู่ที่อ่อนโยน ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมหรือสารกำจัดแบคทีเรีย รวมถึงควรล้างสบู่ออกให้หมดและเช็ดตัวให้แห้งหลังอาบน้ำทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้น เช่น การอยู่ในสถานที่ที่อากาศร้อนหรือเย็นจัด ไรฝุ่น ควันบุหรี่ ขนสัตว์ เชื้อรา ละอองเกสร อาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ การสวมเสื้อผ้าที่ทำมาจากขนสัตว์หรือใยสังเคราะห์
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ร่างกาย
  • ใช้เครื่องทำความชื้น เพื่อเพิ่มระดับความชื้นในอากาศ
  • หลีกเลี่ยงการเกาผื่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

หากลองทำตามวิธีในข้างต้นแล้วอาการจากโรคภูมิแพ้ผิวหนังยังไม่ดีขึ้น หรืออาการแย่ลงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและการนอนหลับ ให้หาเวลาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะหากพบสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีหนอง พบสะเก็ดสีเหลือง หรือมีไข้ เป็นต้น

เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัพเดทล่าสุด 21 กรกฎาคม 2565
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ณัฏฐ์พัชร์ ฐิติปุญญา

เอกสารอ้างอิง

  • Kidshealth, Nemours (2019). For Parents. Eczema (Atopic Dermatitis).
  • Mahidol University (2020). Faculty of Medicine Siriraj Hospital. โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (ATOPIC DERMATITIS).
  • Kulthanan, K. Tuchinda, P. Chularojanamontri, L. Ungaksornpairote, C. Mahidol University (2015). Faculty of Medicine Siriraj Hospital. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis).
  • Wongpiyabovorn, J. Chulalongkorn University. Faculty of Medicine Chulalongkorn University. โรคภูมิแพ้ชนิด Atopic Dermatitis.
  • Cleveland Clinic (2020). Eczema.
  • Mayo Clinic (2020). Diseases and Conditions. Atopic dermatitis (eczema).
  • Baird, M. Yetman, D. Healthline (2021). What is atopic dermatitis?.
  • WebMD (2020). Atopic Dermatitis.