โรคลมชักในเด็ก ปัญหาที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม

โรคลมชัก (Epilepsy) เป็นโรคทางประสาทที่พบบ่อยในเด็กไทย ซึ่งโรคนี้สามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก ทั้งด้านพัฒนาการของเด็ก การเรียน และการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งอาการชักที่มักเกิดอย่างฉับพลันอาจนำไปสู่อุบัติเหตุและการบาดเจ็บที่รุนแรง

วัยเด็กเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้และเติบโต อาการของโรคลมชักในเด็กอาจขัดขวางพัฒนาการตามช่วงวัยและตัดโอกาสที่สำคัญของเด็ก โดยข้อมูลจากกรมอนามัยในปี 2562 พบว่าโรคลมชักในเด็กนับเป็น 1 ส่วน 3 ของผู้ป่วยโรคลมชักทั่วประเทศ (500,000 คน) ซึ่งอาจหมายความว่ามีเด็กราว 1 แสน 7 หมื่นคนที่ต้องการรักษาและเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น

โรคลมชักในเด็กส่วนใหญ่ (ร้อยละ 60) มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ด้วยยากันชัก ขณะที่ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยเด็กมีอาการดื้อยาจึงต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หากไม่สามารถผ่าตัดได้ แพทย์อาจรักษาด้วยการกินอาหารแบบคีโตน (Ketogenic Diet) และการฝังเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อยับยั้งอาการชัก

โรคลมชักในเด็ก ปัญหาที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม

สาเหตุและอาการของโรคลมชักในเด็ก

สาเหตุของโรคลมชักในเด็กจะต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ความผิดปกติของสมองแต่กำเนิด ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ การบาดเจ็บบริเวณศีรษะ เนื้องอกในสมอง พันธุกรรม และโรคอื่น ๆ ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ไม่สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ยาก การรักษาโรคลมชักจึงมุ่งเน้นไปที่การรักษาอาการชัก

อาการของโรคลมชักไม่ได้หมายถึงลมบ้าหมูหรืออาการชักเกร็งทั้งร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอาการอื่น ๆ เช่น อาการกระตุกที่แขนและขา อาการเหม่อลอย สูญเสียสติ การรับรู้ และการตอบสนองไปชั่วขณะ เป็นต้น ซึ่งอาการอาจต่างกันไปตามช่วงอายุ สาเหตุ การตอบสนองต่อการรักษา และปัญหาสุขภาพด้านอื่น โดยอาการของโรคมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

โรคลมชักในเด็กสามารถพบได้ตั้งแต่แรกเกิด วัยทารก เด็กเล็กไปจนถึงวัยรุ่นหรือหลังจากนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดและสาเหตุของโรค เด็กที่เป็นโรคลมชักบางคนอาจไม่แสดงอาการที่แน่ชัด แต่จะพบความผิดปกติบางอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น ผวา สะดุ้ง ผงกหัว (Infantile Spasms) เป็นต้น จึงอาจทำให้สังเกตเห็นอาการได้ไม่ชัดเจน หากพ่อแม่พบอาการในข้างต้นหรืออาการที่สื่อถึงความผิดปกติด้านร่างกายและสมอง ควรพาเด็กไปปรึกษาแพทย์

ผลกระทบของโรคลมชักในเด็ก

โรคลมชักส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อได้รับการวินิจฉัยล่าช้า หรือได้รับการรักษาและคำแนะนำที่ไม่เหมาะสม โดยอาการของโรคลมชักอาจส่งผลกระทบต่อเด็กในด้านต่อไปนี้

  • อุบัติเหตุจากอาการชัก เช่น หกล้ม จมน้ำ รถชน หรืออุบัติเหตุอื่น ๆ ที่เกิดจากการสูญเสียการควบคุมร่างกาย และอาการเหม่อที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
  • ปัญหาด้านพัฒนาการและการเรียนรู้
  • ปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ อย่างความเครียด โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และการฆ่าตัวตาย เพราะอาการของโรคอาจทำให้เด็กรู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนวัยเดียวกัน

นอกจากนี้ โรคลมชักอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตเมื่อเด็กโตขึ้น เช่น การเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย การได้รับใบขับขี่ หรือมีผลต่ออาชีพ อย่างการถูกปฏิเสธเข้ารับทำงาน เพราะนายจ้างอาจมองว่าอาการของโรคลมชักส่งผลต่อการทำงานได้ ปัญหาในลักษณะนี้อาจทำให้หางานยากและทำให้เกิดปัญหาชีวิตด้านอื่นตามมา

แต่ในความเป็นจริง ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถทำงานได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป มีเพียงบางอาชีพเท่านั้นที่แพทย์ให้ความเห็นว่าผู้ป่วยโรคนี้ไม่ควรทำ เพราะอาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เช่น อาชีพที่ต้องขับขี่ยานพาหนะ อาชีพที่ทำงานกับเครื่องจักร และอาชีพอื่นที่ต้องจดจ่ออยู่กับงานตลอดเวลา เป็นต้น

โรคลมชักในเด็กส่วนใหญ่รักษาและควบคุมอาการได้

เพื่อลดผลกระทบจากโรคลมชัก การเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ ตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณของโรคจึงสำคัญและจำเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่มีโอกาสหายขาดจากโรคนี้ด้วยการใช้ยากันชัก (Antiseizure medication) ซึ่งถือเป็นการรักษาหลัก โดยต้องกินยากันชักต่อเนื่องจนไม่มีอาการชักเลยอย่างน้อย 2 ปี แพทย์จึงพิจารณาลดยากันชักจนหยุดใช้ยาได้

ยากันชักมีหลายชนิด โดยแพทย์จะวางแผนการรักษาและการใช้ยาอย่างปลอดภัยให้กับผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักควบคุมอาการชักได้ด้วยยากันชัก 1 ชนิด โดยแต่ละคนอาจตอบสนองต่อยาต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของอาการและสาเหตุ

ผู้ป่วยจึงควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาด และระหว่างใช้ยาผู้ป่วยจำเป็นต้องติดตามอาการ ผลข้างเคียง และผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพราะการใช้ยากันชักอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เวียนศีรษะ ผื่นแดง ปัญหาเกี่ยวกับการคิด และการพูด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วย 1 ใน 3 ที่ดื้อต่อยากันชักมากกว่า 2 ชนิด ซึ่งการรักษาด้วยการเพิ่มยากันชักชนิดที่ 3 หรือมากกว่ามักคุมอาการชักได้น้อยมาก แพทย์จึงต้องพิจารณาการรักษาอาจรักษาด้วยวิธีอื่น ได้แก่

1. การผ่าตัดโรคลมชัก

ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยากันชัก แพทย์จะประเมินว่าสามารถการผ่าตัดสมองเพื่อรักษาโรคลมชักได้หรือไม่ โดยจำเป็นต้องพิจารณาถึงความปลอดภัยในการผ่าตัดเป็นรายบุคคล เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูง จึงต้องใช้ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประสิทธิภาพการรักษาและการลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงหลังผ่าตัด

2. การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นประสาท VNS

เป็นการรักษาทางเลือกสำหรับโรคลมชักในเด็กที่ดื้อต่อยากันชักและแพทย์ประเมินแล้วว่าเด็กไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดสมองได้ โดยวิธีนี้แพทย์จะผ่าตัดเพื่อฝังเครื่องมือไว้ภายในผนังหน้าอก บางส่วนของอุปกรณ์จะเชื่อมไปยังศูนย์ควบคุมประสาทบริเวณคอ

เครื่องมือนี้จะกระตุ้นการทำงานของเส้นประสาทที่อยู่บริเวณคอเพื่อยับยั้งคลื่นสมองโดยอัตโนมัติ และเมื่อใช้ร่วมกับยากันชัก เครื่องมือนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการยับยั้งอาการชัก ลดขนาดและจำนวนยากันชัก ลดอัตราการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันจากโรคลมชัก และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

โรคลมชักในเด็ก ปัญหาที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม

3. การกินอาหารแบบคีโตน

ในผู้ป่วยเด็กที่ดื้อต่อยากันชักบางราย แพทย์อาจพิจารณาให้กินอาหารแบบคีโตน (Ketogenic Diet) ซึ่งเป็นการกินอาหารที่เน้นอาหารไขมันสูงและอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตต่ำ เนื่องจากพบว่าสารอาหารเหล่านี้ส่งผลต่อสารคีโตน (Ketones) ที่ช่วยปรับการทำงานของสมองและลดอาการชักได้

แต่การกินอาหารแบบคีโตนอาจไม่ได้เหมาะกับผู้ป่วยทุกคน เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะในประเทศไทยที่กินข้าวเป็นอาหารหลัก ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนกินและทำตามที่แพทย์แนะนำอย่างเหมาะสม รวมกับใช้ยาตามแพทย์สั่งควบคู่ไปด้วย

นอกจากขั้นตอนการรักษาเหล่านี้แล้ว อาจมีการรักษาอื่นที่แพทย์อาจพิจารณาใช้ร่วมกับการรักษาหลัก สำหรับพ่อแม่ที่ทราบว่าลูกเป็นโรคลมชัก ควรดูแลเด็กตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ทั้งการใช้ยา การควบคุมอาหาร และข้อควรระวังอื่น ๆ เพื่อลดปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการโรคลมชักในเด็ก

โรคลมชักในเด็กอาจปรากฏขึ้นช่วงอายุใดก็ได้ หากพ่อแม่เห็นสัญญาณของโรค อย่างอาการเหม่ออย่างฉับพลัน ยืนนิ่ง ไม่ตอบสนองต่อการเรียกชื่อ แขนหรือขาชักเกร็งกระตุก ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ เพราะการวินิจฉัยและเข้ารับรักษาเร็วอาจเพิ่มโอกาสในการรักษา ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ปกติ และลดความเสี่ยงของผลกระทบจากโรค

ในประเทศไทยมีหน่วยงานและองค์กรที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคลมชักในเด็กโดยเฉพาะ อย่างสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีหรือโรงพยาบาลเด็ก ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเกี่ยวกับโรคในเด็กที่สามารถช่วยแนะนำพ่อแม่เกี่ยวกับการรักษาและดูแลเด็กที่มีอาการโรคลมชักได้อย่างถูกต้อง