ความหมาย โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) คือ โรคทางจิตเวชที่มีความรุนแรงกว่าความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลอาจมีความกังวล เครียด และกลัวอย่างรุนแรงต่อสิ่งของ ผู้คน หรือสถานการณ์บางอย่าง จนอาจเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันได้ เช่น การทำงาน การเรียน และการรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
โรควิตกกังวลสามารถแบ่งออกได้หลายประเภท เช่น โรคแพนิค (Panic Disorder) โรคกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder: GAD) โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder) หรือโรคกลัวแบบจำเพาะ (Specific Phobias) หากมีอาการของโรควิตกกังวลเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยผู้ที่มีโรควิตกกังวลมักมีอาการดีขึ้นและสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้
สาเหตุของโรควิตกกังวล
โรควิตกกังวลอาจมีสาเหตุคล้ายกับโรคทางจิตเวชชนิดอื่น ๆ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่
- สารเคมีในสมองขาดสมดุล ผู้ที่มีความเครียดเรื้อรังหรือมีความเครียดสูงอาจส่งผลให้ความสมดุลของสารเคมีในสมองที่ควบคุมเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกเกิดการเปลี่ยนแปลง และอาจทำให้เกิดโรควิตกกังวลได้
- การประสบกับเหตุการณ์ความรุนแรง เหตุการณ์ที่มีความตึงเครียดสูง เหตุการณ์ฝังใจต่าง ๆ หรือปมในวัยเด็กที่ยังคงติดค้างอยู่ในใจ อาจทำให้เกิดโรควิตกกังวลได้
- กรรมพันธุ์ โรควิตกกังวลเกิดได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่สู่ลูกทำนองเดียวกันกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของโรคมะเร็งและโรคหัวใจ
นอกจากนี้ โรควิตกกังวลยังอาจเกิดจากความกังวลเกี่ยวกับอาการป่วยจากโรคหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น
- โรคหัวใจ
- โรคเบาหวาน
- ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
- ความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และโรคหืด
- อาการถอนยา (Drug withdrawal) หรืออาการถอนพิษสุรา (Alcohol withdrawal)
อาการของโรควิตกกังวล
อาการของโรควิตกกังวลอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของโรควิตกกังวล ซึ่งอาการโดยทั่วไปของโรควิตกกังวล อาจมีดังนี้
- ตื่นตระหนก กลัว และไม่สบายใจ
- กระสับกระส่าย กระวนกระวาย หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ
- นึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงหรือเหตุการณ์ฝังใจตลอดเวลา
- นอนไม่หลับ มีฝันร้าย
- มือและเท้าเย็น หรือเหงื่อแตก
- หายใจถี่
- ใจสั่น
- เจ็บหน้าอก
- ปากแห้ง
- เหน็บชาที่มือและเท้า
- คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
- กล้ามเนื้อตึงเกร็ง
- อ่อนล้า เหนื่อยง่าย
- มีอาการสั่น
อาการของโรควิตกกังวลที่ควรไปพบแพทย์
ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อขอคำปรึกษา หากมีอาการของโรควิตกกังวลหรือมีอาการต่าง ๆ ร่วมกับโรควิตกกังวล เช่น
- รู้สึกวิตกกังวลมากเกินไปจนอาจกระทบต่อการใช้ชีวิต
- รู้สึกกลัว ซึมเศร้า กังวล จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
- สงสัยว่าโรควิตกกังวลอาจเกี่ยวข้องหรือเกิดจากปัญหาสุขภาพบางอย่าง
- มีความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย
การวินิจฉัยโรควิตกกังวล
แพทย์จะเริ่มจากการถามประวัติทางการแพทย์ที่จำเป็น เช่น อาการที่เกิดขึ้นและโรคประจำตัว หลังจากนั้นจะตรวจร่างกายและอาจตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจปัสสาวะ เพื่อแยกโรคอื่น ๆ ที่มีอาจเป็นสาเหตุของโรควิตกกังวล เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคหืด ที่ทำให้เกิดอาการโรควิตกกังวล
แต่หากไม่พบโรคทางกายใด ๆ แพทย์จะส่งตัวไปให้จิตแพทย์วินิจฉัยโดยการสัมภาษณ์ หรือใช้เครื่องมือช่วยในการประเมินโรคทางจิตเวช เช่น คู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM-5) เพื่อวินิจฉัยโรควิตกกังวลและวางแผนการรักษาต่อไป
การรักษาโรควิตกกังวล
การรักษาโรควิตกกังวลขึ้นอยู่กับประเภทของโรค ซึ่งวิธีที่ใช้ในการรักษาโดยทั่วไป มีดังนี้
- จิตบำบัด (Psychotherapy) เป็นการรักษาด้วยการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีรับมือกับปัญหาของโรควิตกกังวลได้ในที่สุด
- การรักษาด้วยการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive-Behavioral Therapy) เป็นวิธีการรักษาทางจิตที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้การปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมที่อาจช่วยให้อาการวิตกกังวลดีขึ้น
- การฝึกจัดการกับความเครียด เป็นวิธีที่จะช่วยให้ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลมีอารมณ์ที่สงบลงและยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดวิธีอื่นได้ด้วย โดยวิธีฝึกการจัดการกับความเครียดมีหลายวิธี เช่น การทำสมาธิ การฝึกหายใจ (Breathing techniques)
- การรักษาด้วยยา แพทย์อาจใช้ยาต่าง ๆ ในการรักษาและลดอาการของโรควิตกกังวล เช่น ยารักษาอาการซึมเศร้า ยาคลายกังวล ยาเบต้า บล็อกเกอร์ โดยการใช้ยาเหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำและดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
นอกจากการรักษาจากแพทย์ ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลยังสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากนี้ การได้รับการสนับสนุนและกำลังใจจากคนในครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรควิตกกังวลฟื้นฟูสู่สภาพปกติได้ดี
ภาวะแทรกซ้อนโรควิตกกังวล
โรควิตกกังวลเป็นภาวะที่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน เรียนหนังสือ หรือการรักษาความสัมพันธ์ให้ดี นอกจากนี้ หากปล่อยโรควิตกกังวลไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่รุนแรงจนถึงขั้นเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น
- ภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวลมักจะเกิดขึ้นพร้อมกับภาวะซึมเศร้า ซึ่งมีอาการคล้ายกัน เช่น ไม่มีสมาธิ กระสับกระส่าย หงุดหงิด นอนไม่หลับ และรู้สึกกังวล
- การฆ่าตัวตาย โรควิตกกังวลมักเป็นหนึ่งในสาเหตุของการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ โรคกลัวการเข้าสังคม หรือเป็นโรควิตกกังวลพร้อมกับมีภาวะซึมเศร้า อาจมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูง หากมีความคิดในการฆ่าตัวตาย ควรรีบขอรับความช่วยเหลือจากแพทย์โดยทันที
- การใช้สารเสพติด ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลมีแนวโน้มที่จะติดสิ่งเสพติดที่ให้โทษ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือยาเสพติด โดยผู้ป่วยมักใช้สิ่งเสพติดเพื่อบรรเทาอาการวิตกกังวลที่เกิดขึ้น
- ความเจ็บป่วยทางกาย โรควิตกกังวลอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคทางกายได้ เช่น ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลและมีความเครียดเรื้อรังอาจทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลง ซึ่งส่งผลให้ร่างกายเจ็บป่วยหรือติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย
การป้องกันโรควิตกกังวล
ถึงแม้ว่าโรควิตกกังวลจะไม่สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม มีวิธีที่จะช่วยควบคุมหรือบรรเทาอาการไม่ให้รุนแรงขึ้นได้ เช่น
- หลีกเลี่ยงหรืองดการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม ช็อกโกแลต หรือเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่อาจกระตุ้นให้อาการของโรควิตกกังวลแย่ลงได้
- ฝึกทำจิตใจให้ผ่อนคลายและรู้จักปล่อยวางด้วยการฝึกทำสมาธิ ซึ่งจะช่วยจิตใจสงบยิ่งขึ้น
- ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนซื้อยารักษาโรคหรือสมุนไพรต่าง ๆ เพราะยาหรือสมุนไพรบางชนิดอาจมีส่วนประกอบที่อาจกระตุ้นอาการวิตกกังวลได้
หากมีอาการของโรควิตกกังวลหรือสงสัยว่าตนเองอาจเป็นโรควิตกกังวล ควรรีบไปพบจิตแพทย์ทันที เพราะอาจช่วยให้ได้รับการรักษารวดเร็วขึ้นและป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น