ความหมาย โรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ผิวหนังอย่างรวดเร็วโดยการกระตุ้นของสารเคมีจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า ลิมโฟไซต์ (Lymphocytes) ชนิดเซลล์ที (T-cell) ทำให้เกิดการอักเสบจนเกิดเป็นผื่นหนาขนาดใหญ่สีเงินและสีแดงที่ผิวหนังได้ทั่วร่างกาย
โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด มีลักษณะเป็นวงจร เมื่อหายสักระยะหนึ่งอาจกลับมาเป็นใหม่ บางคนอาจมีอาการคันและเจ็บ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการนอนหลับและการใช้ชีวิตประจำวัน การรักษาจะช่วยบรรเทาอาการและทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ดีขึ้น
อาการของโรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงินมีหลายชนิด ทำให้เกิดอาการที่แตกต่างกันออกไป โดยชนิดที่พบได้บ่อยมีดังนี้
- โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาหรือปื้นหนา (Plaque Psoriasis, Psoriasis Vulgaris) เป็นชนิดที่พบได้มากถึง 80% บริเวณผิวหนังจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงหนาคลุมด้วยสีเงิน ส่วนใหญ่จะเกิดกับผิวบริเวณข้อศอก หัวเข่า และหนังศีรษะ
- โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นขนาดเล็ก (Guttate Psoriasis) เป็นชนิดที่เกิดกับเด็กและวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ โดยพบได้ประมาณ 10% ลักษณะผิวหนังจะเป็นจุดสีชมพูขนาดเล็ก และอาจกลายเป็นผื่นหนาสีแดงได้เหมือนกับชนิดผื่นหนา มักเกิดได้บ่อยที่แขน ขา หรือตามลำตัว
- โรคสะเก็ดเงินชนิดที่มีตุ่มหนอง (Pustular Psoriasis) เป็นชนิดที่เกิดได้มากในวัยผู้ใหญ่ บริเวณผิวหนังมีตุ่มหนองสีขาวกระจายเป็นวงกว้าง และเกิดการอักเสบจนแดง มักพบมากตามแขนขา และอาจเกิดการแพร่กระจายไปทั่วลำตัวได้ บางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ขึ้น รู้สึกคันตามผิวหนัง ไม่อยากอาหาร
- โรคสะเก็ดเงินชนิดเกิดตามข้อพับ (Inverse Psoriasis, Intertriginous Psoriasis) ผิวหนังจะเป็นผื่นแดง มีความเรียบและเงา มักเกิดขึ้นตามข้อพับและซอกตามร่างกาย เช่น หน้าอก รักแร้ ขาหนีบ หรือรอบอวัยวะเพศ
- โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นแดงลอกทั่วตัว (Erythrodermic Psoriasis) เป็นชนิดที่รุนแรงและพบได้น้อย โดยเกิดขึ้นได้ประมาณ 3% ผิวหนังจะเกิดผื่นแดงขนาดใหญ่และลอกอย่างรุนแรง ทำให้คันและเจ็บ
อาการของโรคสะเก็ดเงินทั่วไปที่พบได้บ่อย เช่น ผิวหนังมีลักษณะแดง ตกสะเก็ดเป็นขุยสีขาว เป็นผื่นแดงนูน เกิดการอักเสบของผิว ผิวแห้งมากจนแตกและมีเลือดออก หนังศีรษะลอกเป็นขุย เล็บมือและเท้าหนาขึ้น มีรอยบุ๋ม ผิดรูปทรง ปวดข้อต่อ บวมตามข้อต่อ มีอาการเจ็บ คัน หรือรู้สึกแสบร้อนบริเวณผิวหนัง
อาการอาจคงอยู่นานหลายวันไปจนถึงหลายสัปดาห์ แล้วค่อย ๆ บรรเทาลง แต่เมื่อมีสิ่งมากระตุ้นก็อาจทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม ในรายที่อาการไม่กำเริบอาจอยู่ในระยะสงบของโรค ทำให้ผู้ป่วยไม่พบอาการผิดปกติที่แสดงออกมา
สาเหตุการเกิดโรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงินยังไม่พบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่คาดการณ์ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคขึ้นได้อาจมาจากเซลล์เม็ดเลือดขาวในระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดปกติ จึงได้ทำลายเซลล์ผิวหนังแทนสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย และอีกปัจจัยมาจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ของคนในครอบครัวที่เป็นโรคสะเก็ดเงินและโรคผิวหนังอื่น ๆ
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายนอกที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดโรค เช่น การบาดเจ็บบริเวณผิวหนัง การติดเชื้อเอชไอวี การใช้ยารักษาโรคหัวใจและความดันสูง หรือความเครียด ซึ่งปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นเหล่านี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
การวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงิน
แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัว รวมไปถึงสภาวะอื่น ๆ ของผู้ป่วย ก่อนมีการตรวจร่างกายและบริเวณผิวหนังที่เกิดความผิดปกติ เพื่อช่วยวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงินหรือโรคผิวหนังชนิดอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกัน
บางรายที่อาการไม่ชัดเจน แพทย์อาจมีการสั่งตรวจเพิ่มเติมโดยการเก็บตัวอย่างจากผิวหนังไปตรวจวิเคราะห์ด้วยกล้องจุลทรรศน์ในห้องปฏิบัติการ ส่วนในรายที่พบว่าเป็นโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic Arthritis) ที่มีอาการปวดข้อร่วมด้วยอาจต้องมีการตรวจเลือดหรือเอกซเรย์ เพื่อหาชนิดของโรคไขข้อกระดูกอื่นเพิ่มเติม
การรักษาโรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงินไม่สามารถรักษาได้หายขาด การรักษาทำได้เพียงบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น ลดการอักเสบและผิวหนังที่ตกสะเก็ด ชะลอการเติบโตของเซลล์ผิวหนัง และขจัดผิวหนังที่เป็นแผ่นแข็ง
การรักษาอาจใช้หลายวิธีควบคู่กันหรือเพียงวิธีเดียว เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางอาจรักษาด้วยการใช้ยาทาภายนอก ในรายที่มีอาการปานกลางไปจนถึงรุนแรง แพทย์อาจรักษาด้วยการใช้ยารับประทาน ยาฉีดเข้าเส้น หรือการฉายแสงด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต
นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรดูแลเรื่องการรับประทานอาหาร ระมัดระวังการรับประทานวิตามินเสริม หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ รวมไปถึงลดน้ำหนักลงให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้โรคกำเริบขึ้นมาได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงินสามารถเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือการติดเชื้อ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่พบส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ป่วยที่มีอาการของโรคระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง
นอกจากนี้ โรคสะเก็ดเงินอาจส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจ เช่น แยกตัวออกจากสังคม รู้สึกหดหู่ หมดความมั่นใจ เกิดความลำบากในการใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่าง ๆ เนื่องจากสภาพร่างกายภายนอกที่เกิดจากโรค
การป้องกันโรคสะเก็ดเงิน
ทางที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค คือพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นของการเกิดโรค เช่น พยายามหลีกเลี่ยงความเครียดในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด และปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการของโรค เช่น ยาลิเทียม ยาต่อต้านมาลาเรีย ยาลดความดันโลหิต ยาในกลุ่มลดการอักเสบ
นอกจากนี้ ควรดูแลผิวหนังไม่ให้บาดเจ็บจากสิ่งแวดล้อมภายนอก หากเกิดอาการผิดปกติบริเวณผิวหนังควรมีการพบแพทย์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมในแต่ละวัน