โรคเท้าเป็นรู เกิดจากอะไร จัดการอย่างไรดี

โรคเท้าเป็นรู (Pitted Keratolysis) หรือโรคเท้าเหม็นเป็นรู เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่ส่งผลให้บริเวณฝ่าเท้าของผู้ป่วยเกิดรอยในลักษณะเป็นรูเล็ก ๆ กระจุกตัวกัน โดยเฉพาะบริเวณที่ใช้รับน้ำหนัก ร่วมกับมีอาการเท้าเหม็น 

โรคเท้าเป็นรูมักไม่ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการรุนแรงใด ๆ ทางร่างกาย รวมถึงเป็นโรคที่ไม่ติดต่อ และสามารถรักษาให้หายได้โดยการใช้ยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างเท่านั้น

โรคเท้าเป็นรู เกิดจากอะไร จัดการอย่างไรดี

แม้โรคเท้าเป็นรูมักไม่ส่งผลให้เกิดอาการรุนแรงทางร่างกาย แต่ลักษณะอาการของโรคอาจส่งผลให้ผู้ป่วยบางคนเกิดความรู้สึกวิตกกังวลหรือไม่มั่นใจเมื่อต้องถอดรองเท้าได้ ในบทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโรคเท้าเป็นรูที่ควรรู้ ทั้งสาเหตุ อาการ และวิธีรับมือมาให้ได้ทำความเข้าใจและนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติตัวกัน

โรคเท้าเป็นรูเกิดจากอะไร

โรคเท้าเป็นรูมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น Corynebacteria, Kytococcus sedentarius, Dermatophilus congolensis, Actinomyces หรือ Streptomyces โดยเชื้อเหล่านี้จะเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะอับชื้น โรคนี้จึงมักพบได้มากในผู้ที่มักสวมถุงเท้ารัดแน่น ผู้ที่มักสวมรองเท้าที่ไม่มีการระบายอากาศเป็นเวลานาน หรือผู้ที่มีภาวะเหงื่อออกมาก (Hyperhidrosis)

โดยเมื่อฝ่าเท้าเกิดการติดเชื้อ เชื้อแบคทีเรียจะผลิตเอนไซม์ออกมาย่อยสลายผิวหนังชั้นบนของฝ่าเท้าจนเกิดเป็นรอยรูเล็ก ๆ เป็นกระจุก และในขณะเดียวกันเชื้อแบคทีเรียก็จะสร้างสารประกอบซัลเฟอร์ออกมา ซึ่งเป็นสาเหตุให้เท้าของผู้ป่วยส่งกลิ่นเหม็นตามมา

ทั้งนี้ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคเท้าเป็นรูได้มากขึ้น เช่น

  • อายุที่เพิ่มขึ้น
  • โรคหรือภาวะผิดปกติบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน ภาวะน้ำหนักเกิน หรือภาวะฝ่าเท้าหนา
  • ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • การไม่รักษาความสะอาด

อาการของโรคเท้าเป็นรู

ผู้ที่เป็นโรคเท้าเป็นรูมักพบรอยรูเล็ก ๆ บริเวณฝ่าเท้าในลักษณะกระจุกตัวกัน โดยเฉพาะบริเวณที่มีการรับน้ำหนักบ่อย ๆ และจะยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อฝ่าเท้าเปียก ร่วมกับมีอาการเท้าเหม็น โดยรอยรูจะไม่ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บ ปวด หรือรู้สึกคัน

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีผู้ป่วยโรคเท้าเป็นรูยังอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • รู้สึกเจ็บหรือคันฝ่าเท้าบริเวณที่เกิดรอยรูขณะเดิน
  • ฝ่าเท้ามีเหงื่อออกมากผิดปกติ
  • ผิวหนังบริเวณฝ่าเท้าเปื่อย
  • ผิวหนังบริเวณที่เกิดรอยรูมีอาการแดง

ผู้ป่วยโรคเท้าเป็นรูควรทำอย่างไร

แม้โรคเท้าเป็นรูจะไม่ส่งผลให้เกิดอาการรุนแรงใด ๆ ทางร่างกาย แต่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้ รอยรูอาจรวมตัวกันจนมีขนาดใหญ่ หรือฝ่าเท้าอาจส่งกลิ่นเหม็นมากขึ้น และที่สำคัญผู้ป่วยไม่ควรหายามาใช้เอง เนื่องจากยาบางชนิดอาจมีส่วนผสมของสารระงับเหงื่อ สารต้านเชื้อรา หรือสารต่าง ๆ ที่อาจส่งผลให้อาการแย่ลงได้

ในการรักษาโรคเท้าเป็นรู แพทย์จะสั่งยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) หรือยาฆ่าเชื้อ (Antiseptics) ชนิดทาให้ผู้ป่วย โดยชนิดของยาอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ 

นอกจากนี้ ในระหว่างทำการรักษา แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างร่วมด้วยเพื่อช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการสวมใส่ถุงเท้าและรองเท้าที่รัดแน่นจนเกินไป
  • เลือกสวมใส่ถุงเท้าที่ช่วยซับเหงื่อได้ดี
  • สลับใช้รองเท้าหลาย ๆ คู่ และนำรองเท้าที่ใช้แล้วไปตากแดดบ่อย ๆ
  • หลีกเลี่ยงการใช้รองเท้าและผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น
  • ล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้งหลังอาบน้ำ และเช็ดเท้าให้แห้งสนิททุกครั้ง

โดยปกติ หลังจากได้รับการรักษาที่เหมาะสมโดยแพทย์ อาการของผู้ป่วยโรคเท้าเป็นรูจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปหลังจากใช้ยาเป็นระยะเวลา 1–8 สัปดาห์ 

ทั้งนี้ โรคเท้าเป็นรูอาจกลับมาเกิดซ้ำได้หากผู้ป่วยปล่อยให้เท้าเกิดความชื้นบ่อย ๆ ดังนั้น ภายหลังจากการรักษา ผู้ป่วยควรรักษาเท้าให้แห้งและสะอาดเสมอ โดยการสวมถุงเท้าที่ช่วยดูดซับความชื้นได้ดี อย่างถุงเท้าที่ทำมาจากผ้าฝ้าย ผ้าโพลีเอสเตอร์ หรือเส้นใยไนลอน รวมถึงควรนำรองเท้าไปตากแดดบ่อย ๆ และหากเป็นไปได้ ให้เลือกสวมรองเท้าแตะหรือรองเท้าที่ระบายอากาศได้ดีเสมอ