โรคไม่ติดต่อ ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

หลายคนอาจคิดว่าโรคไม่ติดต่อเป็นโรคที่ไม่รุนแรง แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก โดยคิดเป็นอัตรากว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของสาเหตุการตายทั้งหมด ซึ่งโรคในกลุ่มนี้มีหลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง เป็นต้น

การใช้ชีวิตในปัจจุบันอาจทำให้หลายคนมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรคเหล่านี้มากขึ้น การเรียนรู้เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อ ตลอดจนศึกษาวิธีลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ในกลุ่มนี้จึงนับเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

NCDs

โรคไม่ติดต่อ เป็นอย่างไร ?

โรคไม่ติดต่อ คือ กลุ่มโรคเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ และไม่สามารถติดต่อหรือแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ โดยมีระยะการดำเนินโรคอย่างช้า ๆ จึงจัดเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นในระยะยาว และมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่สามารถก่อให้เกิดโรคเหล่านี้ได้ อีกทั้งบางโรคอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความบกพร่องในการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และอาจรุนแรงถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้

โรคไม่ติดต่อ มีอะไรบ้าง ?

โรคไม่ติดต่อนั้นมีหลายชนิด โดยอาจแบ่งเป็นชนิดหลัก ๆ ได้ดังนี้

  • โรคหัวใจ เป็นความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด มักเกิดขึ้นจากการสะสมของไขมันในเส้นเลือดจนทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง หรือเกิดลิ่มเลือดอุดตันจนทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจและสมองได้ไม่เพียงพอ โดยโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือดที่พบได้บ่อย คือ โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคมะเร็ง เกิดจากความผิดปกติของการแบ่งเซลล์ภายในร่างกาย ทำให้เซลล์แบ่งตัวไม่สิ้นสุดจนกระทั่งกลายเป็นเนื้องอก เมื่ออาการของโรคเข้าสู่ระยะที่รุนแรง เซลล์ที่ผิดปกติอาจแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น ๆ และสร้างความเสียหายต่อเนื้อเยื่อหรืออวัยวะอื่น ๆ ได้ด้วย โดยชนิดของมะเร็งนั้นแบ่งได้ตามอวัยวะหรือระบบร่างกายที่เกิดโรค เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
  • โรคในระบบทางเดินหายใจเรื้อรััง เป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังบริเวณทางเดินหายใจหรือส่วนต่าง ๆ ของปอด โดยโรคในกลุ่มนี้ที่พบได้บ่อย คือ โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง และโรคปอดอื่น ๆ เป็นต้น
  • โรคเบาหวาน เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติอย่างเรื้อรัง โดยมีสาเหตุมาจากร่างกายขาดอินซูลินหรืออินซูลินในร่างกายทำงานผิดปกติ ซึ่งอินซูลินนั้นเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงาน เมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตหรือนำอินซูลินมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและเกิดโรคเบาหวานขึ้นในที่สุด
  • โรคเกี่ยวกับระบบประสาทชนิดเรื้อรัง ประกอบด้วยโรคที่เกิดกับระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทส่วนปลาย ได้แก่ บริเวณสมอง เส้นประสาท ไขสันหลัง รากประสาท ระบบประสาทอัตโนมัติ และระบบประสาทกล้ามเนื้อ โรคในกลุ่มนี้ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง ไมเกรน อัลไซเมอร์ และภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น
  • โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูก เป็นความผิดปกติเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และบางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นพิการได้ หากมีอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อโรคในกลุ่มนี้สูงขึ้นด้วย โรคกล้ามเนื้อและกระดูกที่มักพบได้บ่อย ได้แก่ โรคข้ออักเสบ โรคกระดูกพรุน เป็นต้น

โรคไม่ติดต่อ เกิดจากอะไร ?

โรคไม่ติดต่อเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ปัจจัยหลัก ดังนี้

  • ปัจจัยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เป็นปัจจัยที่ติดตัวมาแต่กำเนิดหรือเป็นไปตามธรรมชาติ ได้แก่ อายุ เพศ เชื้อชาติ และพันธุกรรม โดยบุคคลบางช่วงอายุ บางเพศ บางเชื้อชาติ หรือบุคคลที่มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่ง อาจมีโอกาสเกิดโรคนั้น ๆ ได้มากกว่าคนทั่วไป
  • ปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อได้อย่างไร ?

การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อ ซึ่งทำได้ง่าย ๆ เพียงปรับเปลี่ยนรูปแบบและพฤติกรรมการใช้ชีวิตตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารอย่างหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ และเหมาะสมกับปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน เพื่อให้ได้รับคุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วนและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • จำกัดปริมาณการบริโภคเกลือให้ไม่เกินวันละ 6 กรัม เพราะการบริโภคเกลือมากเกินไปจะส่งผลให้มีระดับความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองตามมาได้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวหรือมีน้ำตาลสูง
  • เลิกดื่มหรือลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
  • เลิกสูบบุหรี่
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี
  • ควบคุมความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยควรเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30-60 นาที

นอกจากนี้ หากกังวลหรือสงสัยว่าตนเองอาจมีอาการของโรคไม่ติดต่อ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาตามวิธีที่เหมาะสม เพราะหากละเลยอาการต่าง ๆ ไป อาจส่งผลให้มีอาการป่วยที่แย่ลงหรือรักษาได้ยากยิ่งขึ้น