โรสแมรี่ สมุนไพรสารพัดประโยชน์ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้

โรสแมรี่ (Rosemary) เป็นสมุนไพรฝรั่งที่ถูกนำมาปลูกในไทย มีใบเล็ก ให้กลิ่นหอม มักใช้ปรุงอาหารเพื่อเพิ่มกลิ่นและรสชาติ โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ดื่มเป็นชาสมุนไพร หรือสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย นอกจากกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว โรสแมรี่ยังมีสรรพคุณต่อสุขภาพในด้านอื่นอีกด้วย    

โรสแมรี่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น ไทอะมีน (Thiamine) ไรโบฟลาวิน (Riboflavin) ไนอะซิน (Niacin) โฟเลต (Folate) แมงกานีส รวมถึงมีสารพฤกษเคมี (Phytochemicals) อีกหลายตัวที่อาจช่วยต้านการอักเสบหรือการติดเชื้อ และอาจช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย

โรสแมรี่ สมุนไพรสารพัดประโยชน์ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้

ประโยชน์ของโรสแมรี่ต่อสุขภาพ 

แม้โรสแมรี่จะเป็นที่รู้จักในแง่ของกลิ่นหอมและการทำอาหาร แต่ยังมีการศึกษาถึงสรรพคุณของโรสแมรี่ในการดูแลรักษาสุขภาพไว้หลายประการ ดังนี้

ช่วยเสริมการทำงานของสมอง

โรสแมรี่อาจช่วยให้การทำงานของสมองในส่วนการคิดวิเคราะห์ โดยมีการศึกษาที่เชื่อว่าการสูดดมน้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรี่ช่วยป้องกันการสลายของสารแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารเคมีสำคัญในสมองที่ช่วยในการทำงานของระบบความคิด การจดจ่อ และความทรงจำ 

อีกทั้งการดื่มชาโรสแมรี่อาจช่วยปรับอารมณ์และช่วยให้ความจำดีขึ้นได้ โดยคาดว่าเป็นผลมาจากการสูดดมสารประกอบในโรสแมรี่ นอกจากนี้ การใช้น้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรี่ผสมกับน้ำมันหอมระเหยชนิดอื่นในการบำบัดแบบอโรมาเธอราพี (Aromatherapy) อาจช่วยการทำงานของสมองในผู้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อมหรือผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย

คลายความเครียดและเสริมคุณภาพการนอนหลับ

โรสแมรี่อาจมีประสิทธิภาพในการช่วยคลายความเครียดและความวิตกกังวล จากงานวิจัยขนาดเล็กที่ให้คนสุขภาพดีทดลองสูดดมน้ำมันหอมระเหยจากลาเวนเดอร์ผสมกับโรสแมรี่ประมาณ 5 นาที พบว่าระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ในน้ำลายลดลง เมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่ไม่ได้สูดน้ำมันหอมระเหย 

โดยระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกายจะมีความความสัมพันธ์กับอารมณ์และประสิทธิภาพการนอนหลับ หากฮอร์โมนคอร์ติซอลมีมากไปแสดงถึงภาวะเครียด และอาจไปกดระบบภูมิคุ้มกันจนก่อให้เกิดปัญหาด้านการนอนหลับ อารมณ์ที่แปรปรวน หรือระบบในร่างกายทำงานผิดปกติได้

นอกจากนี้ มีการทดลองให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยรับประทานอาหารเสริมจากโรสแมรี่ วันละ 1000 มิลลิกรัม เป็นเวลา 1 เดือน พบว่าอาจช่วยลดอาการวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า รวมถึงช่วยให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ 

ช่วยบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบ

การใช้น้ำมันโรสแมรี่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดในระดับไม่รุนแรงได้ โดยมีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง(Stroke) ที่ใช้น้ำมันโรสแมรี่ผสมกับน้ำมันหอมระเหยอื่น ๆ นวดกดจุดบริเวณหัวไหล่วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที นาน 2 สัปดาห์ มีอาการปวดหัวไหล่ลดลง 30% ขณะที่กลุ่มที่นวดกดจุดเพียงอย่างเดียวมีอาการปวดลดลงแค่ 15% 

แก้ปัญหาผมร่วงผมบาง

น้ำมันโรสแมรี่อาจช่วยบรรเทาอาการผมร่วงที่เกิดจากกรรมพันธุ์ (Androgenetic Alopecia) ได้โดยการช่วยยับยั้งเอมไซน์ที่ส่งผลให้รูขุมขนบริเวณหนังศีรษะเล็กลง ทำให้เส้นผมที่ขึ้นใหม่บางลงและสั้นลง ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการผมบางหรือผมร่วงได้ง่าย

จากการศึกษาพบว่าการใช้น้ำมันโรสแมรี่ชนิดเจือจางนวดลงบริเวณหนังศีรษะวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน พบว่าเส้นผมหนาขึ้นใกล้เคียงกับการรักษาด้วยยาไมนอกซิดิล (Minoxidil) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาอาการผมบางชนิดหนึ่ง

อีกทั้งน้ำมันโรสแมรี่อาจช่วยรักษาอาการผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) ได้ด้วย จากงานวิจัยขนาดเล็กระบุว่ากลุ่มตัวอย่างที่นวดหนังศีรษะด้วยน้ำหอมระเหยที่มีโรสแมรี่ผสมกับสมุนไพรอื่นทุกวันเป็นเวลา 7 เดือน มีอาการผมร่วงดีขึ้น 44% เมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างอีกกลุ่มที่ใช้น้ำมันโจโจบาหรือน้ำมันจากเมล็ดองุ่นที่อาการผมร่วงดีขึ้นเพียง 15%

อาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง

โรสแมรี่มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น กรดคาร์โนซิก (Carnosic Acid) และกรดโรสมารินิค (Rosmarinic Acid) ที่มีคุณสมบัติป้องกันสารอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์เกิดการอักเสบและเสียหายจนอาจนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 

มีการทดลองในหลอดทดลองพบว่าสารต้านอนุมูลอิสระในโรสแมรี่มีประสิทธิภาพในการชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก จึงคาดการณ์ว่าการรับประทานชาหรือสารสกัดจากโรสแมรี่ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ อาจช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งได้เช่นเดียวกัน 

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในข้างต้นเกี่ยวกับประโยชน์ของโรสแมรี่ยังเป็นเพียงการทดลองขั้นต้นเท่านั้น และบางส่วนเป็นการศึกษาจากสารสกัดเข้มข้นหรือรูปแบบน้ำมันหอมระเหยที่มีพืชชนิดอื่นอยู่ด้วย ไม่ใช่โรสแมรี่เพียงอย่างเดียว จึงจำเป็นที่ต้องมีข้อมูลสนับสนุนอีกมาก 

ข้อควรระวังในการใช้โรสแมรี่

การรับประทานโรสแมรี่ที่เป็นส่วนประกอบในอาหารหรือการใช้โรสแมรี่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ค่อนข้างปลอดภัยต่อร่างกาย แต่การใช้ในปริมาณมากและการใช้ในผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ 

โดยข้อควรระวังในการรับประทานหรือใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่มีส่วนผสมของโรสแมรี่มีดังนี้

  • ปริมาณที่แนะนำต่อวันสำหรับการรับประทานใบโรสแมรี่อยู่ที่ 4–6 กรัม และอาจรับประทานในรูปแบบของยาได้นานถึง 4 สัปดาห์ในคนส่วนใหญ่ ส่วนปริมาณการใช้น้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรี่ที่แนะนำต่อวันอยู่ที่ 0.1–1 มิลลิลิตร
  • การรับประทานใบโรสแมรี่หรือใช้น้ำมันโรสแมรี่ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม หากใช้ในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการอาเจียน ไวต่อแสงแดด และผิวหนังเกิดผื่นแดงได้ 
  • การรับประทานอาหารเสริมหรือสารสกัดจากโรสแมรี่อาจทำให้เกิดปฏิกิริยากับยาบางชนิด ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือกำลังใช้ยาชนิดอื่นอยู่ ควรหลีกเลี่ยงหรือปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ผู้ที่มีอาการชัก (Seizure Disorders) หรือมีภาวะเลือดออกผิดปกติ (Bleeding Disorders) ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานโรสแมรี่ เนื่องจากอาจทำให้อาการแย่ลง
  • โรสแมรี่มีสารเคมีที่คล้ายกับยาแอสไพริน (Aspirin) การรับประทานโรสแมรี่ร่วมกับการรับประทานยาแอสไพรินอาจเพิ่มผลข้างเคียงของตัวยา และผู้ที่มีประวัติแพ้ยาแอสไพรินควรหลีกเลี่ยงการรับประทานโรสแมรี่ เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นเดียวกัน
  • ผู้ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานโรสแมรี่ในรูปแบบของยาหรืออาหารเสริม เนื่องจากอาจทำให้เกิดการแท้งได้ และควรหลีกเลี่ยงการทาน้ำมันโรสแมรี่ลงบนผิวหนัง เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในขณะตั้งครรภ์
  • ผู้ที่ให้นมบุตรควรรับประทานโรสแมรี่อย่างระมัดระวัง เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันว่าสามารถรับประทานโรสแมรี่ในรูปแบบของยาได้อย่างปลอดภัยในขณะที่ให้นมบุตร
  • น้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรี่แบบบริสุทธิ์มีความเข้มข้นมาก สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ จึงควรใช้ในปริมาณน้อยหรือตามฉลากผลิตภัณฑ์เท่านั้น และควรใช้ในรูปแบบเจือจางโดยการผสมกับน้ำมันชนิดอื่นที่มีความเป็นกลาง อย่างน้ำมันโจโจบา
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรี่บริเวณใกล้ดวงตาหรือผิวหนังที่บอบบาง
  • ไม่ควรกลืนหรือรับประทานน้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรี่ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าสามารถกลืนหรือรับประทานได้อย่างปลอดภัย
  • การทาหรือสูดดมน้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรี่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางคน ถ้ามีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นหลังใช้ เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มีอาการลมพิษ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

แม้ว่าโรสแมรี่จะมีประโยชน์ในการดูแลรักษาสุขภาพหลายประการ แต่ก็มีข้อควรระวังในการใช้งานเช่นเดียวกัน ผู้ที่จะใช้ผลิตภัณฑ์จากโรสแมรี่ควรใช้ในปริมาณที่พอเหมาะและทำตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด รวมถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงควรหลีกเลี่ยงการใช้หรือปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย