โลหะหนักเป็นองค์ประกอบที่พบได้ตามธรรมชาติทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู เป็นต้น ซึ่งมักนำมาใช้ในด้านการเกษตร การผลิตยา และวงการอุตสาหกรรม
โดยปกติแล้ว ร่างกายมนุษย์ก็ประกอบไปด้วยสารโลหะหนักอย่างสังกะสี เหล็กและทองแดงเช่นกัน เนื่องจากสารดังกล่าวจำเป็นต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย แต่หากโลหะหนักเหล่านี้มีปริมาณมากเกินไปก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
โดยโลหะหนักสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ในหลายรูปแบบ ดังนี้
- การรับประทานอาหารโดยเฉพาะปลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีระดับสารปรอทสูง หรือยาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของโลหะหนัก รวมถึงการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษดังกล่าวด้วย
- การสูดดมผงฝุ่นที่มีส่วนผสมของโลหะหนักบางชนิดหรือควันจากบุหรี่
- การสัมผัสหรือดูดซึมผ่านผิวหนังจากการทำงานในโรงงานที่ใช้โลหะหนักเป็นวัตถุดิบหรือเครื่องสำอางค์บางประเภทที่มีส่วนผสมของโลหะหนัก
ทั้งนี้ เด็กเล็กมีความเสี่ยงในการรับพิษมากกว่าผู้ใหญ่โดยเฉพาะพิษของตะกั่ว เนื่องด้วยบ้านสมัยเก่าอาจใช้สีทาบ้านที่ผสมสารตะกั่ว การสัมผัสกับผนังจึงอาจทำให้มือเกิดการปนเปื้อน พิษของสารเคมีดังกล่าวจึงเข้าสู่ร่างกายได้หากเด็กนำมือเข้าปากหรือสัมผัสกับปากนั่นเอง
อันตรายจากโลหะหนัก
โลหะหนักที่สะสมอยู่ในร่างกายในปริมาณมากและสะสมอยู่เป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและเป็นประตูไปสู่โรคร้ายแรงได้ อาการโดยทั่วไปจากการได้รับโลหะหนัก ได้แก่ ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน หายใจไม่อิ่ม รู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มตามมือหรือเท้า สั่น และอ่อนแรง
อย่างไรก็ตาม โลหะหนักแต่ละชนิดอาจทำให้เกิดอาการป่วยที่แตกต่างกันออกไปด้วย โดยตัวอย่างอาการอันเกิดจากสารพิษที่พบได้บ่อยมีดังนี้
พิษของปรอท
- อวัยวะในร่างกายขาดการประสานงานกันของกล้ามเนื้อและการทรงตัว
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- พูดไม่ชัด การได้ยินผิดปกติ
- เส้นประสาทบริเวณมือและใบหน้าถูกทำลาย
- การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป
- มีปัญหาในการเดิน
พิษของตะกั่ว
- ท้องผูก
- มีพฤติกรรมก้าวร้าว
- มีปัญหาในการนอนหลับ
- หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย
- ความดันโลหิตสูง
- เบื่ออาหาร
- โลหิตจาง
- ปวดศีรษะ
- อ่อนเพลีย
- สูญเสียความทรงจำ
- เด็กมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ถดถอย
พิษของสารหนู
- คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย
- ผิวหนังบวมแดง เกิดความผิดปกติบนผิวหนังอย่างรอยโรคหรือหูด
- หัวใจเต้นผิดปกติ
- กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง
- ตาแดง ตาอักเสบ
- หลอดลมอักเสบ
- โลหิตจาง
- มีอาการเกี่ยวกับตับและไต
- เป็นพิษต่อระบบประสาทและสมอง
วิธีรักษาภาวะพิษจากโลหะหนัก
เบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจปัสสาวะหรือตรวจเลือด เพื่อทดสอบว่ามีภาวะพิษจากโลหะหนักหรือไม่ หากตรวจพบภาวะดังกล่าวก็จะเข้าสู่ขั้นตอนแรกของการรักษาอย่างการจำกัดการได้รับโลหะหนัก
นอกจากนี้ ยังมีวิธีรักษาอื่น ๆ ที่แพทย์นำมาใช้เพิ่มเติม เช่น การใช้สารคีเลชั่น (Chelating Agents) เพื่อจับกับโลหะและขับออกมาทางปัสสาวะ การดูดสิ่งต่าง ๆ ในกระเพาะอาหารออกเพื่อกำจัดโลหะที่ผู้ป่วยกลืนเข้าไป การใช้ยาขับปัสสาวะหรือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ การวัดความดันภายในกระโหลกศีรษะเพื่อตรวจการบวมของสมอง การฟอกเลือด การรักษาพิเศษในกรณีที่เกิดไตวายร่วมด้วย การรักษาแบบประคับประคองเพื่อตรวจสอบและรักษาผลที่ตามมาหลังอวัยวะต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ เป็นต้น
เคล็ดลับป้องกันโลหะหนักด้วยตนเอง
สุขภาพดีจะเกิดขึ้นมาได้เพียงเริ่มต้นจากวิธีง่าย ๆ อย่างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและปฏิบัติตนตามคำแนะนำ ซึ่งช่วยในการป้องกันภาวะพิษจากโลหะหนักและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
- สวมใส่หน้ากากและเสื้อผ้ากันสารพิษ หากต้องทำงานหรืออาศัยอยู่ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากโลหะหนัก
- ทำความสะอาดบ้านอยู่เป็นประจำ เนื่องจากโลหะหนักหลายชนิดอาจปะปนอยู่ในอากาศและสิ่งสกปรกได้
- ระมัดระวังและจำกัดการบริโภคปลาที่ปนเปื้อนสารปรอท อีกทั้งยังควรเลือกซื้ออาหาร อาหารเสริม ยาสมุนไพรและเครื่องปรุงจากร้านค้าหรือสถานที่ที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้
- ตรวจสอบสภาพที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะบ้านเรือนที่สร้างก่อนปี ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) เพราะอาจนำผลิตภัณฑ์สีประเภทต่าง ๆ ที่ผสมสารตะกั่วมาใช้
- อ่านฉลากของอุปกรณ์ใด ๆ ก่อนเลือกซื้อทุกครั้ง เพราะอุปกรณ์บางชนิดอาจมีส่วนประกอบของโลหะหนักที่ควรต้องระมัดระวังในระหว่างการใช้งาน
อย่างไรก็ตาม หากได้รับสารโลหะหนักเข้าไปในร่างกายทั้งจากการรับประทาน สัมผัส หรือสูดดมโดยไม่ได้ตั้งใจ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม รวมถึงป้องกันการเกิดอันตรายต่อสุขภาพและภาวะแทรกซ้อนจากการได้รับโลหะหนักให้ได้มากที่สุดด้วย