โสม เป็นพืชสมุนไพรที่มีต้นกำเนิดมาจากแถบประเทศจีนและเกาหลี มีหลากหลายชนิดและแต่ละชนิดก็ให้คุณประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป หากแบ่งตามขั้นตอนและวิธีการเก็บรักษา
โสมอาจแบ่งได้ 3 ชนิด คือ โสมสด มักจะเก็บเกี่ยวโสมที่มีอายุไม่เกิน 4 ปี โสมขาวคือโสมที่มีอายุตั้งแต่ 4–6 ปี ปอกเปลือกแล้วนำไปอบแห้ง โสมแดงคือโสมที่มีอายุ 6 ปี นำไปนึ่งด้วยไอน้ำแล้วนำไปทำให้แห้ง โสมถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างยาวนานกว่า 2,000 ปี ซึ่งโสมเอเชียหรือโสมเกาหลี (Panax Ginseng) และโสมอเมริกา (Panax Quinquefolius) เป็น 2 สายพันธุ์หลักมีนำมาใช้อย่างแพร่หลาย
รากโสมเอเชียหรือโสมเกาหลีประกอบไปด้วยสารออกฤทธิ์สำคัญหลายชนิด เช่น จินเซนโนไซต์ (Ginsenosides) หรือพาแน็กโซไซด์ (Panaxosides) ที่มีการนำมารับประทานโดยเชื่อว่ามีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย ลดระดับน้ำตาลหรือความดันในเลือด บำรุงสมอง ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ ส่งผลต่อสมาธิและอารมณ์ ใช้รักษามะเร็ง โรคหัวใจ อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ไวรัสตับอักเสบซี อาการวัยทอง ซึ่งหลักฐานทางการแพทย์มีมากน้อยเพียงใดที่จะช่วยยืนยันสรรพคุณ ประโยชน์ และความปลอดภัยของการรับประทานโสมที่มีบทบาทหรือส่วนช่วยในการรักษาโรคเหล่านี้
ประโยชน์ของโสมที่อาจมีต่อสุขภาพ
ข้อมูลปัจจุบันพบว่าโสมอาจส่งผลดีต่อสุขภาพในด้านต่อไปนี้
บรรเทาอาการที่เกี่ยวกับโรคมะเร็ง
สารออกฤทธิ์ต่าง ๆ ของโสมมีหลายชนิด เช่น จินเซนโนไซด์ เปปไทด์ พอลิแซ็กคาไรด์ เป็นต้น ล้วนเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและเชื่อว่าอาจมีคุณสมบัติต้านมะเร็ง ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการต้านมะเร็งของจินเซนโนไซต์ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ที่พบได้ในโสมแดง รวมถึงในโสมเอเชีย
โดยมีกลไกการต้านมะเร็งที่สำคัญ ได้แก่ หยุดวงจรชีวิตของเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่เพื่อไปหล่อเลี้ยงเซลล์มะเร็ง หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งโดยเฉพาะในระยะส่งเสริม (Promotion Phase) และระยะก้าวหน้า (Progression Phase) เป็นต้น
นอกจากนี้ในโสมยังมีสารซาโปนินที่อาจช่วยลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งและเพิ่มการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด อีกทั้งยังมีการรายงานเกี่ยวกับพอลิแซ็กคาไรด์ซึ่งเป็นสารประกอบหนึ่งของโสมว่ามีคุณสมบัติต้านมะเร็ง รวมถึงส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันและต้านอนุมูลอิสระ
และในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของโสมในการป้องกันและบรรเทาอาการที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ดีและประสิทธิภาพของโสมในการบรรเทาอาการอ่อนเพลียที่มีสาเหตุมาจากมะเร็งและเป็นผลข้างเคียงจากการรักษาที่อาจทำได้อย่างเหมาะสมภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอกวิทยา
อย่างไรก็ตามการศึกษาทางคลินิกในปัจจุบันอาจยังไม่เพียงพอที่จะสรุปประสิทธิภาพของโสมได้ ดังนั้นการศึกษาในอนาคตอาจมุ่งเน้นที่ประโยชน์ของโสมที่มีต่อโรคมะเร็ง หรือประโยชน์ของโสมแดงในฐานะยาต้านมะเร็งต่อไป
บรรเทาอาการเกี่ยวกับโรคทางระบบประสาท
โสมเป็นพืชสมุนไพรที่นำมาใช้เป็นยารักษาโรคมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย ที่เชื่อว่าอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคทางระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง อัลไซเมอร์ หรือความผิดปกติของระบบประสาทชนิดเฉียบพลันหรือชนิดเรื้อรังอื่น ๆ
โดยที่โสมอาจช่วยบรรเทาภาวะเครียดจากออกซิเดชัน (Oxidative Stress) หรืออาจช่วยป้องกันและบรรเทาความเสียหายของเซลล์ประสาทที่เป็นผลมาจากโรคหลอดเลือดสมอง จึงอาจเป็นไปได้ว่าโสมมีประโยชน์ในการบรรเทาอาการเกี่ยวกับโรคทางระบบประสาทต่าง ๆ
จากการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 9 ชิ้น พบว่าโสมอาจมีประโยชน์ต่อความคิด พฤติกรรม และคุณภาพชีวิต แต่ในปัจจุบันหลักฐานที่มีคุณภาพหรือที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังมีไม่เพียงพอที่จะรับรองว่าโสมช่วยในการปรับปรุงหรือพัฒนากระบวนการคิด ทั้งในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงปกติทั่วไปหรือผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมได้จริง จึงยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันคุณประโยชน์ของโสมต่อโรคทางระบบประสาทให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศนับว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อผู้ชายตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไปประมาณ 30–50 เปอร์เซ็นต์ ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาได้หลายวิธี เช่น การรับประทานยา การฉีดยา หรือการผ่าตัด รวมถึงการใช้สมุนไพรก็เป็นการรักษาทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
ซึ่งโสมแดงเป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่เชื่อว่าอาจช่วยรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ โดยโสมที่มีจินเซนโนไซด์เป็นสารประกอบสำคัญ จากการศึกษาโดยการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจำนวน 7 ชิ้นได้ชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของโสมแดงโดยให้ผู้ชายอายุตั้งแต่ 24–70 ปี จำนวน 393 คน รับประทานโสมแดงวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 4–12 สัปดาห์ พบว่าโสมแดงมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับยาหลอก
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับประสิทธิภาพของโสมแดงโดยให้ผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยากร่วมกับโรคหลอดเลือดดำอัณฑะขอดจำนวน 80 คน รับประทานโสมแดงขนาด 1.5 กรัมวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ โดยทำการวิเคราะห์อสุจิและระดับฮอร์โมนในร่างกายหลังการทดลอง พบว่ายังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการสร้างอสุจิของโสมแดง แต่อาจมีประโยชน์ต่อการรักษาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปเพื่อยืนยันคุณประโยชน์ของโสมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
รักษาภาวะสูญเสียการได้ยินเฉียบพลัน
สารจินเซนโนไซด์ที่พบในโสมแดงหรือโสมเอเชียอาจออกฤทธิ์ในฐานะสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยต่อระบบการได้ยิน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยโรคหูตึงเฉียพลันหรือหูดับ รับประทานยาเมทิลเพรดนิโซโลน ขนาด 48 มิลลิกรัมเป็นเวลา 10 วัน จากนั้นรับประทานสารสกัดจากโสมแดงขนาด 3 กรัมร่วมกับยาเมทิลเพรดนิโซโลนเป็นเวลา 20 วัน พบว่าโสมแดงอาจไม่ส่งผลต่อการฟื้นฟูการได้ยินมากเท่าที่ควร แต่ก็อาจเป็นประโยชน์หากใช้ร่วมกับการรักษาทางการแพทย์
รักษาเบาหวาน
ถึงแม้ว่าการศึกษาทดลองในสัตว์และในหลอดทดลองจะแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของสารจินเซนโนไซด์ต่อการเผาผลาญน้ำตาลและไขมัน แต่ผลการทดลองทางคลินิกหรือการศึกษาวิจัยที่ทำการทดลองโดยมนุษย์ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการทดลอง เช่น การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว ยาที่ใช้รักษาเบาหวาน การทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้น และยังไม่แน่ชัดว่าสารเคมีตัวใดของโสมที่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด จึงควรมีการทดลองในมนุษย์ และทำการวิจัยมากกว่านี้ในอนาคตเพื่อยืนยันถึงคุณสมบัติของโสมต่อการรักษาเบาหวาน
ความปลอดภัยในการรับประทานโสม
การรับประทานโสมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น นอนไม่หลับ หรือหากรับประทานโสมเป็นเวลานานเกินกว่า 6 เดือนขึ้นไปหรือรับประทานในปริมาณมากอาจไม่ปลอดภัยและทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงหรือต่ำผิดปกติ วิงเวียน ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ท้องเสีย ผื่นคันตามผิวหนัง อารมณ์แปรปรวน เลือดออกทางช่องคลอด เป็นต้น รวมถึงมีข้อควรระวังในการรับประทานโสมโดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มดังต่อไปนี้
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร การรับประทานโสมอาจไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการรับประทานโสมในช่วงให้นมบุตรจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อมารดาหรือทารกหรือไม่
- ทารกและเด็กเล็ก ไม่ควรให้ทารกและเด็กเล็กรับประทานโสม เพราะค่อนข้างไม่ปลอดภัย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต รวมถึงยังไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยหากให้เด็กโตรับประทานโสม
- ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิต้านทานตนเอง เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคเอสแอลอี โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น เพราะการรับประทานโสมอาจส่งผลต่อระบบภูมิต้านทานร่างกาย และอาจทำให้อาการต่าง ๆ แย่ลง
- ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เพราะการรับประทานโสมอาจทำให้เลือดหยุดไหลช้าลง
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ การรับประทานโสมอาจส่งผลต่อการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตได้เล็กน้อย ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือผู้ป่วยโรคหัวใจควรรับประทานโสมด้วยความระมัดระวัง
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน การรับประทานโสมร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากเกินไป ดังนั้นจึงควรรับประทานโสมด้วยความระมัดระวังและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ การรับประทานโสมในปริมาณมากอาจส่งผลให้นอนไม่หลับหรือนอนหลับยากขึ้น ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับควรรับประทานโสมด้วยความระมัดระวัง
- ผู้ที่รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ไม่ควรรับประทานโสม เพราะโสมอาจกระตุ้นให้ระบบภูมิต้านทานร่างกายทำงานมากขึ้น และแทรกแซงประสิทธิภาพและการทำงานของยาที่ได้รับหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ
- ผู้ที่รับประทานยารักษาโรค เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ หากรับประทานโสมร่วมกับการใช้ยาดังต่อไปนี้
- ยารักษาเบาหวาน การรับประทานโสมร่วมกับยารักษาเบาหวานหรืออินซูลินอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากเกินไป
- ยาที่เปลี่ยนแปลงเอนไซม์ที่ตับ เพราะอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของยาและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง
- ยารักษาอาการซึมเศร้า การรับประทานโสมร่วมกับยารักษาอาการซึมเศร้าอาจไปกระตุ้นร่างกายมากเกินไป และทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น วิตกกังวล กระวนกระวาย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ เป็นต้น
- ยากดภูมิคุ้มกัน การรับประทานโสมอาจไปกระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกัน และลดประสิทธิภาพและการทำงานของยา
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด การรับประทานโสมร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดอาจทำให้เกิดแผลฟกช้ำหรือเลือดออกได้ง่าย