ไขข้อสงสัยทำไมผู้ชายถึงควรฉีดวัคซีน HPV

หลายคนอาจคิดว่า วัคซีน HPV มีไว้สำหรับผู้หญิงเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว ผู้ชายก็สามารถฉีดวัคซีน HPV ได้ และควรฉีดเช่นเดียวกับผู้หญิง เนื่องจากการติดเชื้อ HPV เกิดได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม 

เชื้อ HPV (Human Papillomavirus) มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ บางสายพันธุ์ทำให้เกิดหูดที่ร่างกายหรืออวัยวะเพศ บางสายพันธุ์อาจนำไปสู่โรคมะเร็งในผู้ชาย เช่น มะเร็งทวารหนัก มะเร็งองคชาติ มะเร็งศีรษะและลำคอ ผู้ติดเชื้อ HPV ส่วนมากมักไม่มีอาการแสดงออกมา และร่างกายจะกำจัดเชื้อออกมาได้เองในกรณีที่อาการไม่รุนแรง ทว่าหากการติดเชื้อยังคงอยู่ก็อาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพดังกล่าวได้ 

Why men should get HPV Vaccine

โดยเชื้อ HPV สามารถติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือทางปาก การใช้เซ็กซ์ทอยหรืออุปกรณ์ช่วยสนองความต้องการทางเพศร่วมกัน และการสัมผัสทางผิวหนังขณะมีเพศสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด ยิ่งไปกว่านั้นแม้ผู้ที่ติดเชื้อ HPV จะไม่แสดงอาการออกมาก็สามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ด้วย 

ทำไมผู้ชายควรฉีดวัคซีน HPV

อย่างที่เกริ่นไปว่าผู้ชายก็สามารถติดเชื้อ HPV และมีโอกาสเป็นหูดที่อวัยวะเพศ มะเร็งองคชาติและทวารหนักได้แม้จะพบไม่บ่อยนัก ดังนั้น ผู้ชายโดยเฉพาะคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแออย่างผู้ป่วยติดเชื้อ HIV และผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักอย่างกลุ่มชายรักชาย ควรเข้ารับการฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อ HPV ตั้งแต่เนิ่น ๆ 

อย่างไรก็ตาม วัคซีน HPV จะช่วยป้องกันเฉพาะการติดเชื้อ HPV เท่านั้น ไม่อาจป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม ไวรัสตับอักเสบ เริม ซิฟิลิส หรือการติดเชื้อ HIV จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องสวมถุงยางอนามัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ HPV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกทาง 

ผู้ชายควรฉีดวัคซีน HPV ตอนไหน 

เนื่องจากวัคซีน HPV จะมีประสิทธิภาพสูงในผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือเคยติดเชื้อ HPV มาก่อน กระทรวงสาธารณสุขจึงแนะนำให้ผู้หญิงและผู้ชายฉีดวัคซีนตั้งแต่อายุ 9–26 ปี โดยจะเน้นฉีด 3 เข็ม ในเด็กที่มีอายุ 11–12 ปี 

แม้เราจะเคยติดเชื้อ HPV มาก่อนก็ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเช่นกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำหรือการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์อื่น สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 26 ปีแล้วสนใจจะฉีดวัคซีน ควรขอคำแนะนำหรือปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์ ประสิทธิภาพ และความเสี่ยงของวัคซีนก่อนเสมอ

ในปัจจุบันวัคซีน HPV แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่

  • วัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ ครอบคลุมสายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก  
  • วัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ ครอบคลุมสายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18 โดยสองสายพันธุ์ที่เพิ่มเข้ามานั้นเป็นต้นเหตุของหูดหงอนไก่  
  • วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ครอบคลุมสายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58  

วัคซีนแต่ละชนิดจะช่วยป้องกันโรคมะเร็งและหูดที่อวัยวะเพศจากเชื้อ HPV ตามสายพันธุ์ข้างต้นได้นานเป็นสิบปี และยังไม่มีข้อมูลชี้ว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเวลาผ่านไปอีกด้วย

ผลข้างเคียงจากวัคซีน HPV

วัคซีน HPV มักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง แต่บางรายอาจมีไข้ อ่อนเพลีย คัน เจ็บ หรือบวมแดงบริเวณผิวหนังที่ฉีดวัคซีน ปวดแขน ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หรือปวดศีรษะ ซึ่งอาการมักดีขึ้นเองโดยไม่จำเป็นต้องรักษาเพิ่มเติม  

ในบางกรณี วัคซีน HPV อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง แต่มักพบได้น้อย เช่น อาการแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ลิ่มเลือด ชัก กลุ่มโรคกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre Syndrome) โรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง หรือการเสียชีวิต 

หากพิจารณาประโยชน์กับความเสี่ยงที่ได้หลังฉีดวัคซีนแล้ว การตัดสินใจฉีดวัคซีน HPV ยังถือเป็นทางเลือกที่ส่งผลดีต่อสุขภาพในอนาคตกว่าการเลือกไม่ฉีด โดยเฉพาะกับเด็กหรือผู้ชายที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือติดเชื้อ HPV มาก่อน