ไตวายเรื้อรัง เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการที่ไตได้รับความเสียหายจนไม่สามารถกรองของเสียออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการทำงานของไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจะค่อย ๆ แย่ลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งไตอาจหยุดทำงานโดยสิ้นเชิง
ไตวายเรื้อรังอาจเป็นผลจากโรคหรือปัญหาสุขภาพที่กระทบต่อการทำงานของไต ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตสูง ไตอักเสบ (Glomerulonephritis) โรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 โรคถุงน้ำในไต (Polycystic Kidney Disease) นอกจากนี้ ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ เช่น สมาชิกในครอบครัวมีประวัติการป่วยด้วยโรคไต การมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน การสูบบุหรี่ หรือการใช้ยาที่ส่งผลเสียต่อไตต่อเนื่องเป็นเวลานาน
เพื่อให้รับมือกับโรคไตวายเรื้อรังที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดได้อย่างเหมาะสม มาดูกันว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งของตัวเราและครอบครัว
ไตวายเรื้อรังและอาการของแต่ละระยะ
อาการของไตวายเรื้อรังจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ไตทำงานได้ตามปกติ ระยะนี้มักไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ แต่อาจตรวจพบความผิดปกติในปัสสาวะได้จากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น มีโปรตีนหรือเลือดในปัสสาวะ
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ไตยังคงทำงานได้ดีและมักไม่แสดงอาการใด ๆ หรือยังไม่มีอาการใดที่บ่งบอกถึงตัวโรค แต่บางรายอาจเริ่มมีปัญหาสุขภาพเล็กน้อย เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เข้าห้องน้ำบ่อยผิดปกติ หรือมีปัญหาด้านการนอนหลับ
- ระยะที่ 3 เป็นระยะที่ไตทำงานได้น้อยลง ผู้ป่วยบางรายอาจยังไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แต่บางรายอาจเริ่มแสดงอาการของโรค เช่น อ่อนเพลีย ปวดหลัง เบื่ออาหาร มือและเท้าบวม ปัสสาวะผิดปกติ มีปัญหาด้านการนอนหลับ และอาจเริ่มเกิดภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) หรือภาวะโลหิตจางได้แต่ผู้ป่วยอาจยังไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ โดยความเสี่ยงในการเกิดภาวะโลหิตจางจะสูงขึ้นอีกหากป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือมีอายุมากกว่า 60 ปี
- ระยะที่ 4 เป็นระยะที่ไตเสียหายค่อนข้างรุนแรง แต่อาจยังไม่แสดงอาการของโรคที่เห็นได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการของโรคไตวายร่วมกับอาการอื่น ๆ ในระยะที่ 3 เช่น การคิดและการตัดสินใจแย่ลง คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เกิดตะคริวหรือกล้ามเนื้อกระตุก และอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย หากผู้ป่วยป่วยด้วยภาวะกระดูกพรุนหรือภาวะโลหิตจาง อาการของโรคจะรุนแรงขึ้นในช่วงระยะที่ 4 ของโรคไตวายเรื้อรัง
- ระยะที่ 5 เป็นระยะสุดท้าย และเป็นระยะที่ไตทำงานได้น้อยจนอาจหยุดทำงาน หากร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ ผู้ป่วยอาจมีปัญหาด้านการหายใจ การคิดและการตัดสินใจแย่ลงมาก เจ็บหน้าอก ปวดศีรษะ ปวดหลัง ความดันโลหิตเพิ่มสูง ปากขมหรือลิ้นไม่รู้รส เบื่ออาหาร ผู้ป่วยบางคนมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก มือ เข่า และเท้าบวม อ่อนเพลียอย่างรุนแรง มีปัญหาด้านการนอนหลับ และหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอาการอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากไตหยุดทำงานจนทำให้เกิดการสะสมของสารพิษและของเสียในร่างกาย
ไตวายเรื้อรังกับวิธีดูแลตัวเองที่ควรรู้
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นไตวายเรื้อรังเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยผู้ป่วยที่เป็นไตวายควรดูแลตนเองควบคู่กับไปการพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยแพทย์ ซึ่งวิธีดูแลตนเองที่ผู้ป่วยควรรู้มีดังนี้
รับประทานอาหารอย่างระมัดระวัง
ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง อย่างอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง หรืออาหารกระป๋อง โดยปริมาณโซเดียมที่ผู้ป่วยได้รับไม่ควรเกิน 2–3 กรัมต่อวัน ฉะนั้น ก่อนรับประทานผลิตภัณฑ์ใด ๆ ควรอ่านฉลากสินค้าทุกครั้ง ลดการปรุงแต่งรสชาติอาหารด้วยเกลือหรือผงปรุงรส หรืออาจใช้เครื่องเทศเพิ่มรสชาติแทนหากทำอาหารรับประทานเอง
นอกจากนี้ ควรรับประทานโปรตีนชนิดดีในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อไม่ให้ไตทำงานหนักเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงและน้ำตาลอยู่มาก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการสะสมของไขมันในหลอดเลือด หัวใจ และไต เลือกกินเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา รวมถึงนมไขมันต่ำและถั่ว ในผู้ป่วยที่ไม่ต้องจำกัดการรับประทานอาหารที่มีฟอสเฟตสูง
ดื่มน้ำให้เพียงพอ
ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจำเป็นจะต้องดื่มน้ำให้เพียงพออย่างสม่ำเสมอ เพราะเมื่อเกิดภาวะขาดน้ำอาจส่งผลต่อการทำงานของไตได้ แต่เมื่อถึงระยะที่ไตของผู้ป่วยทำงานน้อยลง ผู้ป่วยอาจจำเป็นจะต้องลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการทำงานของไต โดยผู้ป่วยอาจปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญถึงปริมาณการดื่มเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ที่ปลอดภัยต่อไต
จำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินเกณฑ์มาตรฐานจะส่งผลให้ไตทำงานหนักมากขึ้น และการวิจัยพบว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากอาจทำให้อาการไตวายเรื้อรังรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจึงควรจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท
ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
หากผู้ป่วยมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เพื่อป้องกันไม่ให้ไตทำงานหนักจนเกินไป และยังอาจป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคไตวายเรื้อรัง อย่างภาวะหัวใจล้มเหลวหรือโรคหลอดเลือดสมองได้ หากผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวในเกณฑ์มาตรฐานแล้ว ก็ควรรักษาน้ำหนักให้คงที่ด้วยการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานเพียงพอกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาทีจะช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับกระดูก หัวใจและสุขภาพร่างกายโดยรวม ลดระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด บรรเทาความเครียดหรือภาวะซึมเศร้า ช่วยลดปัญหาการนอนหลับได้ ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับระยะหรืออาการของไตวายเรื้อรังที่อาจเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย
พักผ่อนให้เพียงพอ
ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังควรนอนหลับเป็นเวลาอย่างน้อย 7–8 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากการนอนหลับอย่างเพียงพอจะช่วยให้ความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับที่ปลอดภัย อีกทั้งการศึกษายังพบว่าหากนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอหรือนอนหลับไม่ลึก อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อาการของโรคไตวายเรื้อรังรุนแรงขึ้นกว่าเดิม
จัดการกับความเครียด
ผู้ที่ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังอาจมีปัญหาด้านสุขภาพจิตร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ภาวะซึมเศร้า หรือภาวะความรู้คิดบกพร่อง (Cognitive Impairment) ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตอาจทำให้ระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนอาจเป็นอันตรายต่อไตได้
ผู้ป่วยจึงควรดูแลสุขภาพจิตของตนเองด้วยการทำกิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เช่น การฟังเพลง การนั่งสมาธิ หรือการพูดคุยระบายความรู้สึก หากผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้าหรือปัญหาสุขภาพจิตใด ๆ ควรปรึกษาจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาและบำบัด
รับวัคซีนอย่างครบถ้วน
ผู้ป่วยควรฉีดวัคซีนเนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากกว่าผู้ป่วยทั่วไป จึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไวรัสตับอักเสบ วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ หรือวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังควรควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ให้สูงจนเกินไป หากสูบบุหรี่ควรเลิกอย่างเด็ดขาด ระมัดระวังในการใช้ยาทุกชนิด โดยควรรับประทานยาและอาหารตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้อยู่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชเพื่อความปลอดภัย และหากผู้ป่วยป่วยด้วยโรคเบาหวานก็ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติให้มากที่สุด รวมทั้งควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ
การรักษาไตวายเรื้อรังโดยแพทย์
การรักษาไตวายเรื้อรังอาจมุ่งไปค้นหาและรักษาที่ต้นเหตุของภาวะไตวายเรื้อรังในกรณีที่หาสาเหตุได้ รวมถึงบรรเทาอาการของโรคที่อาจเกิดขึ้น ช่วยชะลอความเสื่อมของไต และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยจากการศึกษาพบว่า หากผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น จะมีโอกาสชะลอและป้องกันความรุนแรงของโรคที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังได้มากขึ้น
ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะที่ 4–5 หรือผู้ป่วยที่มีอาการโรคไตวายเรื้อรังอย่างรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ ผู้ป่วยจึงต้องพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิธีที่แพทย์ใช้รักษาโรคไตวายเรื้อรัง ได้แก่
การใช้ยา
แพทย์จะใช้ยารักษาโรคหรืออาการแทรกซ้อนจากไตวายเรื้อรังเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น ตัวอย่างยาที่ใช้ เช่น
- ยาในกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitor) หรือยาปิดกั้นการทำงานของแองจิโอเทนซิน รีเซฟเตอร์ (Angiotensin Receptor Blockers: ARBs) เพื่อลดระดับความดันโลหิตสำหรับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง
- ยากลุ่มสแตติน (Statins) เพื่อลดระดับไขมันในเลือดและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
- ยาช่วยกระตุ้นการผลิตเม็ดเลือดแดง อย่างยาในกลุ่มฮอร์โมนอีริโทรโพอิติน (Erythropoietin) เพื่อให้ร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงได้อย่างเพียงพอและป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจาง
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs) เพื่อลดอาการบวมน้ำบริเวณขาและช่วยควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายให้อยู่ในระดับที่สมดุล
- วิตามินดีและแคลเซียมในรูปแบบอาหารเสริม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูก
การฟอกไต
การฟอกไต เฉพาะในกรณีที่ไตของผู้ป่วยหยุดทำงานแล้ว สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบหลัก คือ
- การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) เป็นการนำเลือดจากร่างกายด้วยการใช้เข็มเจาะทางหลอดเลือดบริเวณแขน โดยเข็มจะต่อกับท่อที่ส่งเลือดออกมาฟอกในเครื่องไตเทียมเพื่อกำจัดของเหลวส่วนเกินและสารพิษออกจากเลือดก่อนจะคืนเลือดสะอาดเข้าสู่ร่างกาย แต่หลังการฟอกไตด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยอาจอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ คลื่นไส้ได้
- การล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis) แพทย์จะต่อปลายท่อข้างหนึ่งไปที่เยื่อบุช่องท้องเพื่อนำเลือดมาฟอกน้ำเกลือ น้ำ หรือของเสียอื่น ๆ ออกผ่านไตเทียม และใช้ปลายท่ออีกข้างระบายของเสียที่กรองได้จากไตเทียมออก
การปลูกถ่ายไต (Kidney Transplant)
เป็นการผ่าตัดใหญ่เพื่อปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง หลังปลูกถ่ายผู้ป่วยจำเป็นจะต้องรับประทานยากดภูมิค้มกันตลอดชีวิตเพื่อไม่ให้ร่างกายต่อต้านอวัยวะที่ปลูกถ่ายใหม่นี้ อีกทั้งการปลูกถ่ายไตยังอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ภาวะเลือดออก ไตหยุดทำงานในช่วงแรก หรือหลอดเลือดในอวัยวะใหม่อุดตัน
ทั้งนี้ ไตวายเรื้อรังสามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดการบริโภคเกลือและอาหารไขมันสูง ดูแลระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ใช้ยาตามฉลากอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะยาแก้ปวด และหากตนเองมีความเสี่ยงหรือสงสัยว่าตนเองมีอาการของภาวะไตวาย ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจและวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพราะการดูแลตนเองตั้งแต่ระยะแรก ๆ จะช่วยชะลอความรุนแรงของไตวายเรื้อรังได้