ไทรอยด์เป็นพิษและภาวะขาดไทรอยด์เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยได้เหมือนกัน เพียงแต่ภาวะไทรอยด์เป็นพิษทำให้มีฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป ส่วนอีกภาวะขาดไทรอยด์ทำให้มีฮอร์โมนไทรอยด์น้อยเกินไป แต่หลายคนอาจยังสับสนว่าทั้ง 2 ภาวะนี้แตกต่างกันอย่างไร มีวิธีรักษาและป้องกันเหมือนกันหรือไม่ ซึ่งศึกษาได้จากข้อมูลต่อไปนี้
ไทรอยด์เป็นพิษต่างจากภาวะขาดไทรอยด์อย่างไร ?
ไทรอยด์เป็นพิษและภาวะขาดไทรอยด์เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ซึ่งต่อมนี้มีหน้าที่ควบคุมระบบเผาผลาญอาหาร โดยภาวะขาดไทรอยด์หรือไฮโปไทรอยด์นั้นเกิดจากต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติและระบบเผาผลาญทำงานลดลง ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการเหนื่อยง่าย เชื่องช้า ท้องผูก และน้ำหนักขึ้น
ในขณะที่ภาวะไทรอยด์เป็นพิษหรือไฮเปอร์ไทรอยด์เกิดจากต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติและผลิตฮอร์โมนออกมามากเกินความต้องการของร่างกาย ทำให้ระบบต่าง ๆ ทำงานผิดปกติและระบบเผาผลาญทำงานมากขึ้น ผู้ป่วยจึงมีน้ำหนักลดแม้จะกินจุมากขึ้น รวมทั้งมีอาการวิตกกังวล กระสับกระส่าย หัวใจเต้นเร็ว คอพอก และบางรายอาจมีอาการตาโปนร่วมด้วย
ไทรอยด์เป็นพิษและภาวะขาดไทรอยด์ มีวิธีรักษาต่างกันอย่างไร ?
แม้จะเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์เหมือนกัน แต่การรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษและภาวะขาดไทรอยด์กลับแตกต่างกัน ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดไทรอยด์จะต้องรับประทานฮอร์โมนสังเคราะห์ เพื่อให้ร่างกายมีปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์อย่างเพียงพอ เพื่อทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายกลับมาทำงานตามปกติ
สำหรับผู้ป่วยภาวะไทรอยด์เป็นพิษ การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนน้อยลง ซึ่งวิธีที่นิยมใช้ คือ การรับประทานยาเพื่อลดการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงอาจต้องรักษาด้วยการรับประทานรังสีไอโอดีนหรือผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออก
ไทรอยด์เป็นพิษและภาวะขาดไทรอยด์ ป้องกันได้หรือไม่ อย่างไร ?
ไทรอยด์เป็นพิษและภาวะขาดไทรอยด์นั้นเป็นการเจ็บป่วยที่ไม่อาจป้องกันได้ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคอย่างการงดสูบบุหรี่ รวมทั้งควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น หากสงสัยว่าตนเองอาจเข้าข่ายผู้ป่วยขาดไทรอย์ด์หรือไทรอยด์เป็นพิษ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
อาการแบบไหนควรไปพบแพทย์ ?
ไทรอยด์เป็นพิษและภาวะขาดไทรอยด์เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะระบบต่าง ๆ ในร่างกายอาจทำงานผิดปกติจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด หากพบอาการดังต่อไปนี้
อาการที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะขาดไทรอยด์
- อ่อนเพลีย
- หนาวง่าย
- มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ
- มีภาวะซึมเศร้า
- ไม่มีสมาธิ
- ผิวแห้ง
- ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือมีปริมาณผิดปกติ
- ท้องผูก
ส่วนอาการต่อไปนี้ เป็นสัญญาณของภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- รู้สึกหงุดหงิดมากผิดปกติ กระสับกระส่าย
- ความดันโลหิตแปรปรวนผิดปกติ
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หรือเจ็บหน้าอก
- หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม
- เหนื่อยหรืออ่อนเพลียมากผิดปกติ
- คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย
ทั้งนี้ หากมีอาการดังข้างต้นในระหว่างตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยใช้ยาในปริมาณที่ปลอดภัยต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์