ไฝแดง รู้จักสาเหตุและวีธีรักษาอย่างปลอดภัยและเหมาะสม

ไฝแดง คือจุดหรือตุ่มนูนสีแดงที่เกิดขึ้นบนผิวหนังตามร่างกายส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณหน้าอก ไหล่ หรือหลัง และมักไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ไฝแดงสามารถเรียกอีกชื่อได้ว่าเชอร์รีแองจิโอมา (Cherry angiomas) ซึ่งเป็นปัญหาบนผิวหนังที่พบได้ทุกวัย แต่มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ   

ไฝแดงหรือเชอร์รีแองจิโอมา คือเนื้องอกของหลอดเลือดฝอย ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตราย ไม่ใช่ก้อนเนื้อมะเร็ง และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จึงอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ ทั้งนี้ ไฝแดงอาจส่งผลต่อรูปลักษณ์ภายนอกได้ โดยผู้ที่มีไฝแดงสามารถเลือกใช้วิธีรักษาไฝแดงต่าง ๆ เพื่อกำจัดไฝแดงบนผิวหนังให้หมดไป

Red mole Cherry angiomas

สาเหตุที่ทำให้เกิดไฝแดง

ภายในร่างกายมีหลอดเลือดฝอยอยู่ทั่วทั้งร่างกายเพื่อลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โดยไฝแดงหรือเชอร์รีแองจิโอมาอาจเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดฝอยเกิดการขยายตัว จึงทำให้สังเกตเห็นตุ่มนูนแดงบนผิวหนัง

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดฝอยขยายตัวยังไม่ชัดเจน แต่อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น

  • พันธุกรรม ผู้ที่มีไฝแดงส่วนใหญ่มักมีครอบครัวที่มีประวัติเป็นไฝแดงมาก่อน
  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น ไฝแดงมักพบบ่อยในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และไฝแดงอาจมีจำนวนเยอะขึ้นเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น
  • กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ในช่วงนี้ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนบางชนิด ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไฝแดงได้
  • ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับตับ ไฝแดงมักพบบ่อยในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับตับ เช่น ไขมันพอกตับ
  • อากาศร้อน ผู้ที่อาศัยอยู่ในภูมิอากาศร้อนอาจมีโอกาสเกิดไฝแดงบนผิวหนังสูง

วิธีรักษาไฝแดงอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

ไฝแดงส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตรายและไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ แต่สำหรับผู้ที่ไฝแดงมีเลือดออก หรือต้องการกำจัดไฝแดงเพื่อความสวยงาม แพทย์อาจรักษาไฝแดงด้วยวิธีกำจัดไฝแดงการต่าง ๆ เข่น

  • การจี้ด้วยไฟฟ้า แพทย์อาจใช้ไฟฟ้าจี้เพื่อให้เกิดความร้อนบริเวณไฝแดง และทำให้ให้ไฝแดงหลุดออกจากผิวหนัง
  • การจี้เย็น (Cryosurgery) แพทย์อาจพ่นไอเย็นจากไนโตรเจนเหลวพื่อให้ไฝแดงแข็งตัวและค่อย ๆ หลุดออกไป
  • การทำเลเซอร์ แพทย์อาจใช้เลเซอร์เพื่อกำจัดไฝแดง โดยไฝแดงจะค่อยมีสีเข้มขึ้น ตกสะเก็ด และหลุดออกหลังจากผ่านการทำเลเซอร์นานประมาณ 2–3 สัปดาห์
  • การเฉือน แพทย์อาจใช้ใบมีดเพื่อเฉือนไฝแดงออก หลังจากนั้น แพทย์อาจใช้การจี้ด้วยไฟฟ้าเพื่อหยุดเลือด

หากไฝแดงมีอาการผิดปกติร่วมด้วย เช่น ไฝแดงมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ผิวหนังบริเวณไฝแดงแห้งและลอก ไฝแดงลักษณะนี้อาจเป็นอันตราย เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของมะเร็งผิวหนัง เช่น มะเร็งเบเซลเซลล์ (Basal cell carcinoma) มะเร็งสเควมัสเซลล์ (Squamous cell carcinoma) ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจหาสาเหตุ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีไฝแดงไม่ควรแกะ บีบ หรือกำจัดไฝแดงโดยการใช้ยาหรือสมุนไพรต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ หากไฝแดงมีเลือดออก ควรไปพบแพทย์ผิวหนังตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี