Risedronate

Risedronate

Risedronate (ไรซีโดรเนต) เป็นยารักษาโรคพาเจท (Paget’s Disease) หรือโรคกระดูกผิดรูป ป้องกันโรคกระดูกพรุนในผู้ใหญ่ สตรีวัยหมดประจำเดือน หรือผู้ที่รับประทานยาสเตียรอยด์อย่างยาเพรดนิโซโลนเป็นระยะเวลานาน โดยยานี้จะออกฤทธิ์ชะลอการสูญเสียมวลกระดูก ช่วยรักษากระดูกให้แข็งแรงและลดความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักด้วย

Risedronate

เกี่ยวกับยา Risedronate

กลุ่มยา ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคพาเจทและป้องกันโรคกระดูกพรุน
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิด
ความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์
หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์
ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

คำเตือนในการใช้ยา Risedronate

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยา ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต หรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยเคยมีประวัติทางการแพทย์ เช่น โรคหัวใจ ปัญหาเกี่ยวกับหลอดอาหาร ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ โรคไต โรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารหรือลำไส้ มีปัญหาในการกลืน ไม่สามารถนั่งหรือยืนได้นานกว่า 30 นาที เป็นต้น 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง เช่น ยาไซเมทิดีน ยาอีโซเมพราโซล ยาฟาโมทิดีน ยาแลนโซพราโซล ยาโอเมพราโซล ยาแอสไพริน ยาเสริมธาตุเหล็ก ยาลดกรด ยาระบาย ยาแก้อักเสบในกลุ่มเอ็นเสด เป็นต้น
  • ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจเลือดหรือตรวจความหนาแน่นของกระดูกตามคำสั่งแพทย์ในระหว่างการใช้ยา
  • ผู้ป่วยควรตรวจสุขภาพช่องปากก่อนการใช้ยา เนื่องจากยาไรซีโดรเนตอาจส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระดูกขากรรไกรอย่างรุนแรง หากต้องเข้ารับการรักษาทางทันตกรรมขณะที่ใช้ยานี้ หรือมีอาการปวดขากรรไกรเกิดขึ้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอ ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรตรวจสุขภาพและรักษาช่องปากอยู่เป็นประจำ เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับกระดูกขากรรไกร
  • ยานี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับหลอดอาหาร เช่น เกิดการระคายเคือง อาการบวม เป็นแผล หรือมีเลือดออกภายในหลอดอาหาร เป็นต้น จึงควรปรึกษาแพทย์ในการใช้ยานี้อย่างปลอดภัย
  • ผู้ป่วยโรคหืดควรปรึกษาแพทย์ในขณะที่ใช้ยานี้ เพราะตัวยาอาจส่งผลให้อาการแย่ลงได้
  • ไม่ควรสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยานี้ 
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลดีผลเสีย และความเสี่ยงต่อทารกก่อนการใช้ยานี้ เนื่องจากตัวยาอาจตกค้างอยู่ภายในร่างกายได้นานหลายปี จึงอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
  • ผู้ป่วยที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงต่อทารกก่อนการใช้ยานี้ 

ปริมาณการใช้ยา Risedronate

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

รักษาโรคกระดูกพรุน

ตัวอย่างการใช้ยา Risedronate เพื่อรักษาโรคกระดูกพรุน

สตรีวัยหมดประจำเดือน 

อาจเลือกใช้ยาประเภท Immediate Release รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งต่อไปนี้

  • รับประทานยาปริมาณ 5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
  • รับประทานยาปริมาณ 35 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง/อาทิตย์  
  • รับประทานยาปริมาณ 75 มิลลิกรัม วันละ 2 เม็ด ติดต่อกัน 2 วัน/เดือน 
  • รับประทานยาปริมาณ 150 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง/เดือน

หรือเลือกใช้ยาประเภท Delayed Release โดยรับประทานยาปริมาณ 35 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง/อาทิตย์

การเพิ่มมวลกระดูกในผู้ป่วยชาย

ให้รับประทานยาประเภท Immediate Release ปริมาณ 35 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง/อาทิตย์

ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนจากยาคอร์ติโคสเตียรอยด์

ให้รับประทานยาประเภท Immediate Release ปริมาณ 5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง

ป้องกันโรคกระดูกพรุน

ตัวอย่างการใช้ยา Risedronate เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน

สตรีวัยหมดประจำเดือนและผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนจากยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ 

ให้ใช้ยาในปริมาณเดียวกับการรักษาโรคกระดูกพรุนดังข้อมูลเบื้องต้น 

รักษาโรคพาเจท

ตัวอย่างการใช้ยา Risedronate เพื่อรักษาโรคพาเจท

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 30 มิลลิกรัม/วัน วันละ 1 ครั้ง เป็นระยะเวลา 2 เดือน 

การใช้ยา Risedronate

คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับการใช้ยาอย่างปลอดภัย มีดังนี้

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • รับประทานยานี้พร้อมน้ำเปล่าเท่านั้น ห้ามรับประทานยาพร้อมน้ำแร่ธรรมชาติ นม หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ และควรกลืนยาทั้งเม็ด ไม่เคี้ยว หัก หรือบดยา
  • ควรใช้ยาเป็นประจำทุกวัน เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด
  • ควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามคำสั่งของแพทย์แม้ว่าจะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • ควรรับประทานยาไรซีโดรเนตอย่างน้อย 30 นาที ก่อนยาชนิดอื่น อาหารหรือเครื่องดื่มบางประเภทในมื้อแรกของวัน เพื่อให้ร่างกายดูดซึมยาได้เป็นปกติ
  • ไม่ควรนอนหรือเอนตัวลงทันทีหลังจากรับประทานยาและอาหารมื้อแรก แต่ควรรอประมาณ 30 นาที จึงค่อยอยู่ในอิริยาบถดังกล่าว
  • ห้ามรับประทานยาในเวลาเข้านอนหรือขณะที่อยู่ในท่าเอนหลัง
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้เลื่อนไปรับประทานยาในวันถัดไป จากนั้นรับประทานยาตามเวลาปกติอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ภายในหนึ่งวัน 
  • หากผู้ป่วยสงสัยว่าตนเองรับประทานยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมถึงปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกร

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Risedronate

โดยปกติยาไรซีโดรเนอาจส่งผลให้ผู้ป่วยท้องเสีย ซึ่งหากอาการไม่หายไปหรือมีอาการแย่ลง ควรไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ หากเกิดอาการที่รุนแรง เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ข้อต่อ กระดูกอย่างรุนแรงหรือปวดมากขึ้น ปวดบริเวณขาหนีบ ต้นขา สะโพกแบบผิดปกติ มีปัญหาเกี่ยวกับสายตาและกระดูกขากรรไกร เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยายังอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง แต่มักพบได้น้อย ดังนี้

  • มีสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน ลมพิษ อาการบวมแดงบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง ผิวหนังพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ก็ได้ หายใจมีเสียงหวีด แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจลำบาก มีปัญหาในการหายใจ การกลืนและการพูดคุย เสียงแหบผิดปกติ เป็นต้น
  • เกิดการระคายเคืองและแผลในกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหาร ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการ เช่น แสบร้อนกลางอกอย่างรุนแรงหรือมีอาการแย่ลง เจ็บหน้าอก เจ็บขณะกลืนหรือกลืนได้ลำบาก ปวดท้องอย่างรุนแรง อุจจาระเป็นสีดำคล้ายยางมะตอย อาเจียนออกมาเป็นสีคล้ายกากกาแฟ เป็นต้น
  • มีสัญญาณของระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ เช่น ปวดเกร็งหน้าท้องหรือเป็นตะคริว รู้สึกชาและเหมือนมีของแหลมทิ่ม ชัก เป็นต้น
  • มีสัญญาณของภาวะความดันโลหิตสูง เช่น ปวดศีรษะหรือเวียนศีรษะอย่างรุนแรง หมดสติ มีปัญหาในด้านสายตา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม บางรายอาจพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบทันที