ความหมาย ไวรัส RSV (RSV Virus)
ไวรัส RSV (RSV Virus) หรือไวรัส Respiratory Syncytial Virus เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ และส่งผลให้ร่างกายผลิตสารคัดหลั่ง เช่น เสมหะ ออกมาเป็นจำนวนมาก เชื้อไวรัสชนิดนี้แพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านการไอหรือการจาม โดยผู้ที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะมีอาการเบื้องต้นคล้ายกับอาการของไข้หวัด เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูกไหล
การติดเชื้อไวรัส RSV สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่จะพบมากในเด็กทารกและเด็กเล็ก ซึ่งการติดเชื้อไวรัส RSV ในเด็กทารกและเด็กเล็กอาจทำให้มีอาการรุนแรงและทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ ดังนั้น หากเด็กทารกหรือเด็กเล็กมีอาการติดเชื้อไวรัสนี้เกิดขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์
อาการของการติดเชื้อไวรัส RSV
โดยปกติเมื่อติดเชื้อไวรัส RSV ผู้ป่วยจะแสดงอาการหลังจากสัมผัสเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4–6 วัน ซึ่งจะมีอาการคล้ายไข้หวัด ได้แก่ มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอแห้ง เจ็บคอ และอาจพัฒนาไปเป็นโรคที่ส่งผลให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น โรคปอดบวม โรคหลอดลมฝอยอักเสบ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือโรคปอดเรื้อรังอยู่แล้ว
นอกจากนี้ อาจปรากฎอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ไออย่างรุนแรง หายใจมีเสียงหวีด หายใจเร็ว หายใจลำบาก รวมถึงบริเวณปากหรือเล็บมีสีเขียวคล้ำจากการขาดออกซิเจน
โดยปกติ อาการของการติดเชื้อไวรัส RSV ในเด็กโตและผู้ใหญ่จะดีขึ้นหลังได้รับการรักษาเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่ในเด็กเล็กและทารกอาการมักจะดีขึ้นหลังสัมผัสกับเชื้อไวรัสในช่วง 2–8 วัน แต่เด็กเล็กและทารกมักมีอาการที่รุนแรงมากกว่า
การติดเชื้อไวรัส RSV ในเด็กทารกและเด็กเล็กมักมีอาการไอ จาม มีไข้ น้ำมูกไหล เบื่ออาหาร หายใจเร็วกว่าปกติ หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก หงุดหงิดง่าย หรือเซื่องซึม และหากมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่รุนแรงขึ้นควรพาไปพบแพทย์ เช่น
- มีน้ำมูกเหนียวทำให้หายใจลำบาก
- ไอและมีเสมหะเป็นสีเทา สีเขียว หรือสีเหลือง
- หายใจลำบาก หายใจเร็วกว่าปกติ หรือหอบเหนื่อย
- มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ตอนร้องไห้ไม่มีน้ำตาไหลออกมา
- ปลายนิ้วหรือริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำจากภาวะขาดออกซิเจน
- เด็กทารกมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส เซื่องซึม เบื่ออาหาร และมีผื่นขึ้น
สาเหตุของการติดเชื้อไวรัส RSV
การติดเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ โดยไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก หรือสัมผัสกับเชื้อโดยตรงจากการจับมือ ในประเทศไทยมักพบเชื้อไวรัส RSV ได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งเชื้อไวรัสจะมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายได้เป็นเวลาหลายชั่วโมงโดยอาศัยอยู่ตามวัตถุต่าง ๆ และสามารถแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการไอหรือการจามด้วย
กลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส RSV และมักมีอาการที่รุนแรง ได้แก่
- เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดและหัวใจ
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในแหล่งชุมชนแออัด
- ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
การวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัส RSV
แพทย์จะวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัส RSV โดยการตรวจร่างกายของผู้ป่วยในเบื้องก่อน จากนั้นจะใช้เครื่องช่วยฟัง (Stethoscope) เพื่อฟังเสียงหวีดในระบบทางเดินหายใจ เสียงการทำงานของปอด หรือเสียงผิดปกติจากส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย
นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้วิธีอื่น ๆ ในการวินิจฉัยร่วมด้วย เช่น การตรวจหาเชื้อไวรัสจากสารคัดหลั่งในจมูก การเอกซเรย์ (X-Ray) หน้าอกเพื่อตรวจหาโรคปอดบวม การตรวจจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวเพื่อหาเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ และการวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximetry) เพื่อตรวจสอบระดับออกซิเจน
การรักษาการติดเชื้อไวรัส RSV
การรักษาการติดเชื้อไวรัส RSV ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการและการรักษาแบบประคับประคองเพื่อให้การหายใจดีขึ้น แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาล
ในเบื้องต้น ผู้ป่วยสามารถดูแลและรักษาอาการด้วยตัวเองที่บ้าน ดังนี้
- นั่งหรือนอนในท่าที่ช่วยให้หายใจได้สะดวก เช่น นั่งตัวตรง ไม่ห่อตัว และหนุนหมอนที่ไม่นุ่มหรือแข็งเกินไป
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพราะน้ำจะช่วยทำให้สารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูกและเสมหะ ไม่เหนียวจนเกินไป และช่วยไม่ให้สารคัดหลั่งไปขัดขวางการทำงานของระบบทางเดินหายใจ
- ใช้ยาหยอดจมูกเพื่อช่วยลดอาการบวมของจมูก และอาจล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเพื่อช่วยให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น
- รับประทานยาในกลุ่มอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เพื่อช่วยในการลดไข้
ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก หรือมีอาการของการติดเชื้อไวรัสที่รุนแรง อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งการรักษาการติดเชื้อไวรัส RSV ทางการแพทย์มีดังนี้
- รับประทานยาปฏิชีวนะในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย เช่น อาการปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรีย
- ใช้ยาพ่นขยายหลอดลมเพื่อช่วยบรรเทาอาการหายใจมีเสียงหวีด และดูดเสมหะเมื่อมีเสมหะข้นเหนียวจำนวนมากเพื่อช่วยทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น
- ใช้ยาเอพิเนฟริน (Epinephrine) เพื่อช่วยขยายหลอดลมและลดอาการบวมของทางเดินหายใจ
- ใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจเพื่อให้ออกซิเจน หากพบว่ามีภาวะออกซิเจนต่ำหรือระบบหายใจล้มเหลว
ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อไวรัส RSV
ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไวรัส RSV มักเกิดขึ้นในเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เด็กเล็ก ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมถึงผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดและหัวใจ ซึ่งมักทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังนี้
- โรคหอบหืด โดยเชื้อไวรัสอาจส่งผลระยะยาวทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืดได้ในอนาคต
- โรคปอดบวมหรือโรคหลอดลมฝอยอักเสบ จนทำให้เกิดการอักเสบที่ปอดหรือทางเดินหายใจ
- การติดเชื้อในหูชั้นกลาง เกิดจากเชื้อไวรัสเข้าไปบริเวณหลังแก้วหูทำให้เกิดหูน้ำหนวก มักพบในผู้ป่วยที่เป็นเด็กทารกและเด็กเล็ก
- การติดเชื้อซ้ำ เพราะเมื่อมีการติดเชื้อแล้วครั้งหนึ่งจะสามารถกลับมาติดเชื้อซ้ำอีกครั้งได้ แต่อาการอาจไม่รุนแรงเท่าการติดเชื้อครั้งแรก มักพบในรูปแบบของอาการไข้หวัด แต่อาจมีอาการรุนแรงได้ในผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดและหัวใจ
การป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV
ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV แต่ทุกคนในครอบครัวสามารถปฏิบัติตามวิธีการเหล่านี้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อจนนำไปสู่การติดเชื้อได้ เช่น
- ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการรับประทานอาหารและการเข้าห้องน้ำ
- หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะและของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว
- หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กที่คลอดก่อนกำหนดและเด็กทารกในช่วงอายุ 1–2 เดือนแรกใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ เช่น ผู้ที่เป็นไข้หวัด
- ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ โดยเฉพาะทิชชูที่ใช้แล้ว ควรทิ้งลงถังขยะที่ปิดมิดชิด
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะการดูดดมควันบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส RSV ในเด็กทารก และอาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรงกว่าด้วย
ทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อพบว่าเด็กที่ป่วยหรือติดเชื้อไวรัส RSV ไดเล่นของเล่นชิ้นนั้น ๆ