ไวรัส RSV เป็นไวรัสที่พบได้ในเด็กทุกช่วงวัย โดยเชื้อไวรัสนี้จะแพร่กระจายผ่านทางวิธีต่าง ๆ เช่น การอยู่ใกล้ชิดและการสัมผัสสิ่งของที่มีไวรัสปนเปื้อนก่อนจะใช้มือจับบริเวณใบหน้า เป็นต้น และแม้ว่าส่วนใหญ่เด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV จะมีอาการที่ไม่รุนแรง แต่บางครั้งก็อาจนำไปสู่การติดเชื้อขั้นรุนแรงได้เช่นกัน
จากข้อมูลพบว่าเด็กส่วนใหญ่จะติดเชื้อไวรัส RSV ก่อนมีอายุครบ 2 ปี และการแพร่กระจายของเชื้อจะเกิดขึ้นได้ง่ายในเด็กเนื่องจากการทำกิจกรรมที่ใกล้ชิดหรือใช้ของเล่นร่วมกับเด็กคนอื่น ๆ ที่อาจมีเชื้อไวรัส ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพของลูกน้อย พ่อแม่ควรทราบถึงข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับไวรัส RSV ไม่ว่าจะเป็นอาการ การรักษา รวมถึงการป้องกันการติดเชื้อไวรัสนี้ด้วย
อาการของเด็กเมื่อติดเชื้อไวรัส RSV
เด็กที่ติดไวรัส RSV จะแสดงอาการผิดปกติภายใน 4‒6 วันหลังได้รับเชื้อ เด็กจะมีไข้ คัดจมูก มีน้ำมูกไหล เบื่ออาหาร เจ็บคอ ไอ จาม หายใจเป็นเสียงหวีด ปวดหัวไม่รุนแรงหรืออาจมีอาการป่วยทั่วไปแบบอื่น ๆ โดยเมื่อผู้ป่วยติดเชื้อ ไวรัสดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของปอด หัวใจและระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และอาจนำไปสู่การเกิดโรคปอดอักเสบหรือภาวะหลอดลมอักเสบได้
ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบแพทย์เมื่อสังเกตเห็นได้ว่าหน้าอกยุบเข้าไปทุกครั้งที่เด็กหายใจ หายใจลำบาก หายใจเข้าออกเป็นเสียงหวีดสูง ไอมีเสมหะเป็นสีเหลือง เขียวหรือเทาออกมา ไม่กินนม ง่วงซึม หงุดหงิด รวมถึงอาจมีอาการคล้ายภาวะขาดน้ำ เช่น ร้องไห้แบบไม่มีน้ำตา ขับปัสสาวะน้อยหรือไม่ขับปัสสาวะเลยภายในเวลา 6 ชั่วโมง ตัวเย็นและผิวแห้ง
ไวรัส RSV ติดเชื้อแล้วรักษาได้
การดูแลและรักษาเมื่อเด็กติดไวรัส RSV นั้นจะเน้นไปยังการรักษาตามอาการที่เกิดจากการติดเชื้อและอาการที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากในปัจจุบัน ยังไม่มียาที่ใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อไวรัส RSV โดยเฉพาะ แต่ผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กที่บ้านด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
- อาบน้ำให้เด็กด้วยน้ำอุ่นเป็นเวลาประมาณ 15 นาที แต่หากเด็กเริ่มหนาวสั่นควรหยุดการอาบน้ำ
- ให้เด็กสวมใส่เสื้อผ้าบางเบาหรือห่มผ้าที่ไม่หนาจนเกินไป
- ให้เด็กจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- เปิดเครื่องเพิ่มความชื้นเพื่อช่วยให้เด็กหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่ควรทำความสะอาดทุกวันโดยใช้น้ำยาซักผ้าขาวเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราและแบคทีเรีย
- ทำความสะอาดจมูกด้วยน้ำเกลือและลูกยางแดง
แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาที่สามารถซื้อได้ตามร้านขายทั่วไปอย่างยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ และแพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะหากเด็กมีภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรอ่านฉลากข้างขวดยาเพื่อใช้ยาตามคำแนะนำได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม และไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปีกินยาแก้ไอ รวมถึงไม่ควรให้เด็กกินยาแอสไพรินเพราะอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการไรย์ (Reye's Syndrome) ที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
ส่วนเด็กทารกที่มีอาการจากการไวรัส RSV อย่างรุนแรง เช่น อ่อนเพลีย หายใจเร็วผิดปกติ ปากหรือเล็บเป็นสีม่วง หรืออาการอื่น ๆ ผู้ปกครองควรนำตัวเด็กส่งโรงพยาบาลเนื่องจากเด็กอาจต้องรับการรักษาด้วยการให้ออกซิเจน การให้น้ำเกลือหรือการให้ยาเพื่อเปิดทางเดินหายใจ
การป้องกันไวรัส RSV
การป้องกันไวรัส RSV สามารถทำได้ด้วยการแยกอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องใช้และของเล่นให้กับเด็กแต่ละคนเพื่อไม่ให้กินหรือใช้ของร่วมกัน ดูแลให้เด็กได้ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ ล้างมือของตนเองและบุตรหลานให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า จมูกหรือปาก ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้เป็นประจำ ไม่สูบบุหรี่เมื่ออยู่ใกล้เด็ก ปิดปากและจมูกเมื่อจามหรือไอ และควรแยกเด็กที่มีอาการป่วยออกจากสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวจนกว่าอาการป่วยจะหายไป
แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ได้ แต่แพทย์อาจฉีดยาป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (Palivizumab) ให้แก่เด็กทารกและเด็กที่อายุต่ำกว่าสองปีที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไวรัส RSV ขั้นรุนแรง เช่น เด็กที่คลอดก่อนกำหนด ป่วยด้วยโรคปอดเรื้อรัง ป่วยด้วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางชนิด หรือมีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น ซึ่งหากเด็กได้รับการวินิจฉัยว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว แพทย์จะฉีดยาป้องกันในช่วงที่มีการระบาดของไวรัส RSV เดือนละ 1 ครั้ง
ทั้งนี้พ่อ แม่และผู้ปกครองทุกท่านควรทราบว่าเด็กสุขภาพดีสามารถติดเชื้อไวรัส RSV ได้มากกว่า 1 ครั้ง และแม้ว่าอาการของเด็กเมื่อมีการติดเชื้อซ้ำจะรุนแรงน้อยกว่าการติดเชื้อไวรัสในครั้งแรก แต่การดูแลความสะอาดทั้งของตนเองและบุตรหลานในระหว่างที่มีอาการป่วยถือเป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้ รวมทั้งควรสังเกตอาการผิดปกติเพื่อให้เด็กได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก่อนที่อาการจะรุนแรงจนเป็นอันตราย