ไหลตาย ภัยเงียบที่อันตรายถึงชีวิต กับสาเหตุและวิธีป้องกันเบื้องต้น

ไหลตาย (Sudden Unexplained Nocturnal Death Syndrome: SUNDS) หรือ กลุ่มอาการบรูกาดา (Brugada Syndrome) เป็นปัญหาการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ ไหลตายคือภัยเงียบที่มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งแม้จะยังไม่มีวิธีป้องกันเฉพาะ แต่อาจลดความเสี่ยงของภาวะนี้ได้หากทราบสาเหตุและหมั่นดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี

ภาวะไหลตายสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่มักพบมากในผู้ชายที่มีอายุประมาณ 25–55 ปี โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือ และหากคนในครอบครัวมีประวัติการป่วยเป็นไหลตายก็จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราควรให้ความสำคัญกับภาวะนี้และเข้ารับการประเมินความเสี่ยงตั้งแต่เนิ่น ๆ   

ไหลตายคืออะไร และป้องกันได้อย่างไรบ้าง

ไหลตายคืออะไร?

ไหลตายเป็นภาวะที่ส่งผลต่อการเต้นของหัวใจในระหว่างนอนหลับ พักผ่อน หรือบางครั้งเกิดในขณะที่ตื่นอยู่ โดยหัวใจของผู้ป่วยอาจเต้นผิดปกติ เต้นผิดจังหวะ หรือเต้นเร็วจนเกินไป อันเนื่องมาจากเซลล์พิเศษในหัวใจที่สร้างคลื่นไฟฟ้าควบคุมการเต้นของหัวใจนั้นทำงานผิดปกติ 

ด้วยเหตุนี้ หัวใจจึงไม่อาจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ตามปกติ โดยเฉพาะบริเวณสมอง แม้เพียงแค่เวลาสั้น ๆ หรือประมาณ 30 วินาที ก็อาจทำให้เวียนศีรษะ หายใจไม่สะดวก ชัก เป็นลม หมดสติ และหากการเต้นของหัวใจยังคงผิดปกติอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 6–7 นาทีก็จะเสียชีวิตได้

สาเหตุของไหลตายมักเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม นอกจากนี้ยังอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อาทิ การใช้ยารักษาความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า ยานอนหลับ การติดสารเสพติด รวมถึงปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับโครงสร้างหัวใจ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาการไข้ ภาวะขาดน้ำ ความไม่สมดุลของเกลือแร่ โพแทสเซียมต่ำเกินไป การขาดวิตามินบี ไปจนถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

ทั้งนี้ ภาวะนี้วินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกายร่วมกับวิธีต่าง ๆ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology: EP) หรือ อาจทำเอ็กโคหัวใจ (Echocardiogram) ซึ่งแพทย์จะเป็นฝ่ายพิจารณาการวินิจฉัยและวางแผนการดูแล รักษา และให้คำแนะนำอย่างเหมาะสม

วิธีป้องกันไหลตายในเบื้องต้น

ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถป้องกันการเกิดไหลตายได้อย่างเต็มที่ แต่ผู้ที่มีคนในครอบครัวเกิดภาวะนี้ สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงของภาวะไหลตายด้วยการตรวจทางพันธุกรรมได้ และแพทย์จะเป็นผู้แนะนำวิธีการป้องกันที่เหมาะสม นอกจากนี้ ผู้มีความเสี่ยงต่อไหลตายอาจป้องกันหัวใจเต้นผิดปกติได้ด้วยการดูแลตัวเองผ่านวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • หากเป็นไข้หรืออุณหภูมิร่างกายสูงควรรับประทานยาแก้ไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล ตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากอาการไข้อาจไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นผิดปกติได้ 
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี เช่น ไข่ นม หรือตับ อาหารบำรุงหัวใจ เช่น แซลมอน ปวยเล้ง หรือกระเทียม และควรงดรับประทานอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตสูง
  • ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหาสุขภาพที่ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ อย่างท้องเสียหรือเป็นไข้ 
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และควรผ่อนคลายตัวเองหรือลดความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบ เช่น ฟังเพลง วาดรูป อ่านหนังสือ  
  • ผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะไหลตายอาจต้องหลีกเลี่ยงยาที่อาจส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ เช่น ยาต้านเศร้า ยารักษาโรคหัวใจ ยกเว้นผู้ที่ใช้ยาภายใต้คำแนะนำและการดูแลของแพทย์ หากต้องการรับประทานยาหรืออาหารเสริมเพิ่มเติม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการดื่มในปริมาณมากในช่วงเวลาสั้น ๆ 
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย การแข่งขันกีฬา หรือการทำงานที่หนักเกินไป เพราะอาจส่งผลให้หัวใจเต้นผิดปกติอย่างรุนแรง 

แม้ไหลตายจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับการเต้นของหัวใจที่พบได้ยาก แต่หากเกิดขึ้นอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต อีกทั้งอาการของไหลตายอาจคล้ายคลึงกับปัญหาหัวใจและการเต้นของหัวใจชนิดอื่น ๆ ดังนั้นหากพบอาการเป็นลมหรือหมดสติที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจหรือการเต้นของหัวใจ จึงควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง และรับการรักษาหรือดูแลตนเองที่ตรงจุด