ไอจนอ้วก 7 สาเหตุที่เป็นไปได้และวิธีการรับมือ

ไอจนอ้วก คืออาการเมื่อผู้ป่วยไอมากจนอาเจียน สามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากการไออย่างหนักอาจไปกระตุ้นกล้ามเนื้อเดียวกันที่ร่างกายใช้ในการอาเจียน โดยการไอจนอ้วกสามารถบรรเทาให้ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การไอจนอ้วกอาจเป็นอาการของโรคบางอย่าง ผู้ที่มีอาการไอจนอ้วกจึงควรสังเกตอาการของตนเอง และพบแพทย์เมื่อจำเป็นเพื่อการรักษาที่เหมาะสม

การไอคือกระบวนการของร่างกายในการขจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินหายใจ การไอที่นำไปสู่การอาเจียนได้นั้นอาจเป็นการไอเฉียบพลันซึ่งมีการเกิดไอขึ้นน้อยกว่า 3 สัปดาห์ หรือการไอเรื้อรังซึ่งมีอาการไอต่อเนื่อง 8 สัปดาห์ขึ้นไปก็ได้ การไอจนอ้วกในบางกรณีอาจเป็นอาการของโรคที่เกิดขึ้นทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก เช่น ไข้หวัด ปอดบวม หลอดลมอักเสบ และกรดไหลย้อน 

Cough until Vomit

สาเหตุที่เป็นไปได้ของอาการไอจนอ้วก

สาเหตุที่ทำให้เกิดการไออย่างรุนแรงจนอาเจียน เช่น

1. ไข้หวัด

ไข้หวัด คือการติดเชื้อของไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้เกิดอาการไอแห้ง หรือไอแบบมีเสมหะ บางกรณีอาการไออาจรุนแรงมากจนกระตุ้นให้เกิดการอาเจียนได้ ผู้ที่เป็นไข้หวัดและมีอาการไอจนอ้วกสามารถรักษาได้ด้วยการพักผ่อนเยอะ ๆ และรับประทานยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ไอ ยาขับเสมหะ และยาแก้ปวดพาราเซตามอล

อาการไอจนอาเจียนเนื่องจากไข้หวัดส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในเด็ก เนื่องจากเสมหะจำนวนมากในช่องท้องทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ส่วนใหญ่อาการมักดีขึ้นในเวลาอันสั้น แต่หากไม่ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์ ควรพาไปพบแพทย์

2. หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน

หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสจนเกิดการอักเสบที่บริเวณหลอดลม มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการไออย่างต่อเนื่อง โดยอาจมีหรือไม่มีเสมหะก็ได้ บางกรณีอาจทำให้ไอจนอ้วกหรืออาเจียนได้ ผู้ป่วยควรดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้ว และพักผ่อนให้เพียงพอ โดยอาจรับประทานยาแก้ปวด หรือยาแก้ไอเพื่อบรรเทาอาการด้วย 

ผู้ป่วยเด็กมักจะมีแนวโน้มที่จะอาเจียนมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากการกลืนเสมหะจำนวนมากโดยกะทันหันอาจทำให้สำลักและอาเจียนได้ ซึ่งอาจรักษาตามอาการ ใช้ยาพ่นจมูก และสูดไอน้ำร้อนร่วมด้วย และควรพบแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้นใน 10 วัน หรือไม่หายดีในเวลา 2–3 สัปดาห์ 

3. โรคภูมิแพ้ 

ภูมิแพ้มักจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการน้ำมูกไหล หรือน้ำตาไหล จาม และแน่นจมูก บางกรณีอาจมีสิ่งที่ระคายเคืองลำคอจนส่งผลให้ไอจนอ้วกได้ อาจไอแห้งและเรื้อรัง อาจบรรเทาได้ด้วยรับประทานยาแก้แพ้ ยาขับเสมหะ ยาแก้คัดจมูก หรือดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ และอาจล้างจมูกด้วยน้ำเกลือด้วย เพื่อทำความสะอาดและบรรเทาการติดเชื้อในโพรงจมูก

หากผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีอาการหายใจสั้น เป็นลมมีผื่นขึ้น หัวใจเต้นเร็ว มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ลำคอ หลังคอ หรือมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงแรงและเฉียบพลัน ควรพบแพทย์ทันที

4. ปอดบวม

ปอดบวมคือการอักเสบที่ทำให้มีของเหลวหรือเสมหะในปอด เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก เป็นไข้และไอพร้อมเสมหะสีเหลือง เขียวหรือเสมหะเป็นเลือด ปอดบวมอาจทำให้มีอาการไอจนอ้วกได้เนื่องจากการไออย่างรุนแรงเพื่อขับเสมหะออกจากปอด

แม้ในบางกรณีอาการโรคปอดบวมสามารถหายได้เอง อย่างไรก็ตาม แนวทางการรักษาที่ดีที่สุดคือการพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ตรงจุด

5. โรคกรดไหลย้อน

กรดไหลย้อนในบางกรณีสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ คลื่นไส้ และอาเจียนได้ ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนควรรับประทานยา หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น อาหารรสเปรี้ยว เผ็ด หรืออาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการรับประทานอาหารในปริมาณน้อยและบ่อยครั้งมากขึ้น นั่งหรือยืนเป็นเวลา 2–3 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหาร หากอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

6. วัณโรค

วัณโรคคือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างรุนแรง โดยส่วนใหญ่มักส่งผลต่อปอดและระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการไอ คลื่นไส้ อาเจียนได้ จึงมีความเป็นไปได้ที่อาการไอจนอ้วกเกิดจากการป่วยเป็นวัณโรค และหากผู้ป่วยมีอากาอ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น มีเหงื่อออกตอนกลางคืน เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดลง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

7. การรับประทานยาลดความดันโลหิตบางชนิด

ในบางกรณี ผู้ที่รับประทานยาลดความดันโลหิต เอซีอี อินฮิบิเตอร์ อาจมีอาการไอจนอ้วกได้ เนื่องจากการไอเรื้อรังเป็นผลข้างเคียงจากการทำงานของตัวยาหลังรับประทานในระยะแรก สามารถกระตุ้นให้เกิดการอาเจียนได้ ผู้ที่รับประทานยาควรสังเกตอาการของตนอย่างสม่ำเสมอ และหากอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

วิธีการรับมือเมื่อเกิดอาการไอจนอ้วก

ผู้ที่มีอาการไอจนอ้วก ควรสังเกตอาการและประเมินสาเหตุที่เป็นไปได้ เพื่อการดูแลรักษาตนเองอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ควรพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเอง และดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน หากอาการไอจนอ้วกแย่ลงหรือไม่ดีขึ้นหลังผ่านไป 2–3 วัน ควรปรึกษาแพทย์

หากผู้ที่มีไอจนอ้วกมีอาการไอเป็นเลือด หายใจลำบาก หายใจถี่ ปาก ใบหน้า หรือลิ้นปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน หรือมีอาการของภาวะขาดน้ำร่วมด้วย ควรพบแพทย์ทันที เพื่อรักษาบรรเทาอาการให้ดีขึ้นโดยเร็ว และเลี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน