ไอจนเจ็บอก สาเหตุและการรับมืออย่างเหมาะสม

ไอจนเจ็บอก คืออาการเจ็บที่บริเวณอกจากการไออย่างต่อเนื่อง อาการเจ็บที่อกขณะไออาจมีลักษณะแตกต่างกันเช่น ปวดจี๊ด ๆ แน่นหน้าอก โดยอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพทั่วไปอย่างไข้หวัดหรือภูมิแพ้ ไปจนถึงโรคที่มีความรุนแรงซึ่งควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยแพทย์ 

การไอเป็นกลไกการป้องกันของระบบทางเดินหายใจที่จะช่วยขจัดสิ่งที่ขัดขวางหรือรบกวนการหายใจ เพื่อให้การหายใจเป็นไปได้โดยปกติ แม้ว่าอาการไอจะเป็นการตอบสนองปกติของร่างกาย แต่การไออย่างต่อเนื่องหรือเรื้อรังจนเกิดอาการเจ็บอกอาจเป็นสัญญาณของโรคบางอย่างได้ จึงควรต้องสังเกตุอาการอย่างสม่ำเสมอ 

Chest Hurts while Coughing.

สาเหตุของการไอจนเจ็บอก

อาการไอจนเจ็บอกส่วนใหญ่แล้วเป็นอาการเจ็บป่วยทั่วไปที่สามารถหายได้ด้วยการดูแลตัวเอง มีส่วนน้อยที่การไอจนเจ็บอกเป็นหนึ่งในสัญญาณของโรคปอดและโรคหัวใจ ผู้ที่มีอาการไอจนเจ็บที่หน้าอกจึงควรหมั่นสังเกตอาการร่วมอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับอาการไอจนเจ็บอกเพื่อระบุสาเหตุของอาการป่วยอย่างตรงจุดและเลือกวิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสม

สาเหตุของอาการไอจนเจ็บอกที่พบบ่อยมีดังต่อไปนี้

1. โรคหืด

โรคหืดหรือหอบหืดป็นโรคที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่นโรคภูมิแพ้ มลพิษทางอากาศ การสูบบุหรี่ และการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจในวัยเด็กหรือวัยทารก เนื่องจากมีเสมหะกั้นทางเดินหายใจทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังจนเจ็บอก อาจเป็นอาการปวดตื้อ เจ็บปวดฉับพลัน หรือรู้สึกคล้ายมีเข็มแทง 

อาการไอจนเจ็บอกมักเกิดขึ้นก่อนหรือระหว่างอาการหอบหืดกำเริบ รวมถึงมีอาการหายใจลำบากร่วมด้วย โดยมีสิ่งกระตุ้นอาการเช่น อาหารบางชนิด ความเครียด ควันบุหรี่ ขนหรือปีกของสัตว์ 

2. โรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองเกินควรต่อสิ่งที่ไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่นไรฝุ่น  หรืออาหารบางชนิด อาการทั่วไปของภูมิแพ้คือการไอ จาม คันตา ตาแฉะ จาม มีน้ำมูก มีผื่นขึ้น และท้องอืด หากรุนแรงจากปกติจะทำให้เกิดอาการเจ็บอก แน่นหน้าอกและหายใจลำบากร่วมด้วยได้ 

3. หลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน

หลอดลมอักเสบ ชนิดเฉียบพลัน เกิดจากการที่หลอดลมอักเสบและบวมจนเกิดอาการไอจนเจ็บอกได้ โดยอาจไม่มีเสมหะในระยะแรก และจึงมีเสมหะในเวลาต่อมา หลอดลมอักเสบยังสามารถทำให้เกิดอาการเจ็บแสบที่อก และมีอาการปวดหัวหรือปวดตามร่างกายร่วมด้วย โดยอาการเหล่านี้สามารถหายได้ภายใน 10 วัน ถึง 3 สัปดาห์

4. ไข้หวัด

ไข้หวัดเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงในระบบทางเดินหายใจหรือก็คือบริเวณจมูกและลำคอ หลังจากติดเชื้อแล้ว 23 วัน จะมีอาการจมูกตัน ไอ มีเสมหะสีใส สีเหลืองหรือเขียว ซึ่งอาการไอสามารถเกิดควบคู่กับอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอกในบางกรณี โดยอาการเหล่านี้เป็นต่อเนื่องได้ถึง 2 สัปดาห์ 

5. โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม 

โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อราที่ถุงลมในปอด เป็นสาเหตุให้มีของเหลวและหนองเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระตุ้นให้เกิดอาการไอจนเจ็บอกได้หากไอมาก โดยการไออาจมีเสมหะสีเขียว เหลือง หรือเสมหะเป็นเลือดก็ได้ นอกจากนั้นมักมีอาการหายใจสั้น หายใจไม่อิ่ม มีไข้ มีเหงื่อมาก และหนาวสั่นร่วมด้วย

6. วัณโรค 

วัณโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อปอด ทำให้เกิดอาการไอ ไอเป็นเลือดหรือเสมหะ ไอจนเจ็บอก เป็นไข้สูงสลับกับไข้อ่อน ๆ หายใจลำบาก น้ำหนักลดลง เบื่ออาหาร มีเหงื่อออกตอนกลางคืน เชื้อวัณโรคสามารถติดต่อได้ผ่านอากาศเมื่อผู้ติดเชื้อไอ จาม หรือพ่นน้ำลาย 

โดยผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการจะไม่สามารถแพร่เชื้อได้ และโรคดังกล่าวสามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ ในหลายประเทศมีการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ให้กับทารกและเด็ก

7. มะเร็งปอด 

มะเร็งปอดคือโรคที่เกิดจากการมีเนื้องอกในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมักจะส่งผลให้เกิดอาการไอเรื้อรังจนเจ็บที่อกได้ และอาจมีอาการหายใจไม่อิ่มและไอเป็นเลือดร่วมด้วย มะเร็งปอดมีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้ที่สูบบุหรี่มากกว่า

อย่างไรก็ตามก็มีความเป็นไปได้ว่าก้อนเนื้อที่พบในปอดอาจไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็งทุกกรณี แต่เป็นเพียงการเติบโตที่ผิดปกติ ซึ่งก้อนเนื้อที่ไม่ใช่มะเร็งนี้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการไอได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาการไอจนเจ็บอกอีกเช่น ภาวะเส้นเลือดอุดตันในปอด โรคปอดรั่ว เยื่อหุ้มปอดอักเสบ  เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคกรดไหลย้อน และหัวใจวาย ดังนั้น หากคุณมีอาการไอจนเจ็บอกและไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุใด วิธีที่ดีที่สุดคือการไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการอย่างตรงจุด

วิธีการรับมือกับอาการไอจนเจ็บอกด้วยตัวเอง

ส่วนใหญ่อาการไอจนเจ็บอกที่เกิดขึ้นมักหายไปเองได้เมื่อระยะเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตาม เราสามารถดูแลตัวเองเพิ่มเติมเพื่อให้อาการไอแล้วเจ็บอกหายเร็วขึ้นได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวันเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในคอ ซึ่งจะทำให้มีอาการคันคอน้อยลง รวมถึงช่วยละลายเสมหะด้วย
  • อมยาอมแก้ไอเพื่อช่วยลดอาการคันคอ
  • หลีกเลี่ยงมลพิษ งดการสูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดอาการไอมากขึ้น
  • รับประทานน้ำผึ้ง เนื่องจากน้ำผึ้งมีคุณสมบัติที่ช่วยลดอาการไอได้ โดยอาจผสมน้ำผึ้งลงในชาหรือน้ำขิงเพื่อดื่มเมื่อมีอาการไอ
  • ใช้เครื่องฟอกอากาศเพื่อช่วยขจัดฝุ่น แบคทีเรีย และสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไอ
  • วางหมอนรองร่างกายขณะนอนหลับเพื่อบรรเทาอาการแน่นหน้าอกและอาการไอ

การสังเกตอาการอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง หากอาการไอไม่ดีขึ้นภายในเวลา 3 สัปดาห์ มีอาการไอเป็นเลือด หายใจลำบาก หรือน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการและรับการรักษาที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาอาการไอจนเจ็บอกให้ดีขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ