ไอมีเสมหะ สัญญาณบอกโรคและวิธีรักษา

อาการไอเป็นสิ่งอาการที่ทุกคนต้องเคยประสบพบเจอ และหลายครั้งที่การไอมีเสมหะปนออกมาด้วย เสมหะนั้นเป็นของเหลวเหนียวข้นที่อยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนล่างที่มีหน้าที่ดักจับสิ่งแปลกปลอมและสร้างความชุ่มชื้นภายในลำคอ โดยเสมหะที่ร่างกายผลิตออกมาอาจมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามภาวะของร่างกาย

การไอแบบมีเสมหะอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะสุขภาพที่ไม่ปกติ อย่างการติดเชื้อ โรคหืด โรคหวัด โรคภูมิแพ้ โรค COPD หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดบวม โรคไซนัสอักเสบ หรือโรครุนแรง เช่น โรคมะเร็งปอด ภาวะหัวใจล้มเหลว และวัณโรค อย่างไรก็ตาม การสูบบุหรี่และการระคายเคืองในลำคอจากสาเหตุต่าง ๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการไอมีเสมหะได้

Wet Cough

ไอมีเสมหะเป็นสัญญาณบอกโรค

เสมหะที่ร่างกายผลิตขึ้นอาจบอกได้ถึงโรคและความผิดปกติของร่างกาย โดยสีของเสมหะอาจนำมาใช้วินิจฉัยโรคในเบื้องต้น ดังนี้

  • เสมหะสีใส โรคภูมิแพ้ โรคปอดบวม และโรคหลอดลมอักเสบ
  • เสมหะสีขาว โรคหลอดลมอักเสบ โรคกรดไหลย้อน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และภาวะหัวใจล้มเหลว
  • เสมหะสีเขียวหรือเหลือง โรคปอดบวม โรคหลอดลมอักเสบ โรคไซนัสอักเสบ และโรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้สารคัดหลั่งในร่างกายเหนียวข้น
  • เสมหะสีแดง เป็นสัญญาณของภาวะเลือดออกภายในร่างกาย ซึ่งอาจเป็นอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว โรคมะเร็งปอด โรคฝีในปอด โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด และวัณโรค นอกจากนี้ หากมีเสมหะสีน้ำตาลนั่นอาจหมายถึงเลือดเก่าที่ค้างอยู่ภายในร่างกายและปะปนออกมาพร้อมกับเสมหะ โดยรูปแบบนี้อาจเป็นอาการที่เกิดจากโรคปอดบวม โรคหลอดลมอักเสบ โรคพยาธิในปอด โรคฝีในปอด และโรคฝุ่นจับปอด (Pneumoconiosis) ที่เกิดจากการหายใจนำเอาฝุ่นเข้าไปในปอดเป็นจำนวนมาก
  • เสมหะสีดำ โรคฝีในปอด โรคฝุ่นจับปอด โรคที่เกิดจากการติดเชื้อรา รวมถึงการสูบบุหรี่

นอกจากนี้ หากมีไอมีเสมหะที่รุนแรงกว่าปกติ มีเสมหะมากขึ้น หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างถูกต้อง

รักษาอาการไอมีเสมหะด้วยตนเองอย่างไรดี

วิธีการรักษาอาการไอมีเสมหะอาจทำได้ ดังนี้

1. กลั้วคอและปากด้วยน้ำเกลือ

ผสมน้ำอุ่นครึ่งแก้วกับเกลือ 3 ส่วน 4 ช้อนชา จากนั้นใช้กลั้วทั่วทั้งปากและคอ สรรพคุณของน้ำเกลือจะช่วยลดการระคายเคือง ลดความเหนียวข้นของเสมหะ และช่วยฆ่าเชื้อโรค

2. เครื่องทำความชื้น

อาจมีบางครั้งที่การไอมีเสมหะนั้นเกิดขึ้นจากการหายใจเอาอากาศที่มีความชื้นต่ำเข้าไปในปอดอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้ นอกจากนี้ ความชื้นยังช่วยให้เสมหะเหนียวข้นน้อยลงและขับออกมาง่ายขึ้นอีกด้วย

3. สูดไอน้ำ

การหายใจเอาไอน้ำร้อนเข้าไปอาจช่วยละลายเสมหะภายในลำคอและปอดได้ โดยไอน้ำร้อนเกิดขึ้นจากการต้มน้ำ หรือการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นที่จะทำให้เกิดไอน้ำภายในห้องน้ำ

4. ใช้น้ำผึ้ง

หลายคนเชื่อว่าน้ำผึ้งสามารถรักษาอาการไอมีเสมหะได้เป็นอย่างดี โดยรับประทานน้ำผึ้งประมาณ 1.5 ช้อนชาก่อนนอน 30 นาที นอกจากนี้ อาจนำส่วนผสมอื่น ๆ มาช่วยเพิ่มสรรพคุณให้กับน้ำผึ้งได้ อย่างยูคาลิปตัส น้ำมะนาว หรือสะระแหน่ เป็นต้น

5. ดื่มชาสมุนไพร

ชาสมุนไพรอุ่น ๆ จะช่วยลดความข้นเหนียวของเสมหะในลำคอได้ โดยสมุนไพรแต่ละชนิดก็มีสารอาหารที่อาจช่วยบรรเทาอาการระคายและการอักเสบในลำคอ อย่างชาขิง ชาสะระแหน่ ชากานพลู ชาชะเอม และชาเขียว

6. ดื่มน้ำให้เพียงพอ

การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือประมาณ 2.4 ลิตรต่อวัน ทั้งนี้ ปริมาณอาจขึ้นอยู่กับเพศและช่วงอายุด้วย

การรักษาอาการไอมีเสมหะด้วยยา

ยาที่ใช้ในการรักษาอาการไอมีเสมหะอาจแบ่งได้ 2 ชนิด คือ 

ยาขับเสมหะ (Expectorants)

ยาขับเสมหะจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารน้ำออกมาในทางเดินหายใจมากขึ้น ลดความข้นเหนียวของเสมหะ ทำให้เสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น อาการไอก็จะบรรเทาลง แต่ยากลุ่มนี้อาจระคายทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้อาเจียนหรือไม่สบายท้องได้

ยาละลายเสมหะ (Mucolytics)

โดยทั่วไป ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ลดความเหนียวข้นของเสมหะ ช่วยให้เสมหะขับออกมาง่ายขึ้น การทำงานของยาในกลุ่มนี้จะมีทั้งออกฤทธิ์ละลายเสมหะที่ข้นเหนียวและออกฤทธิ์ปรับการทำงานของต่อมผลิตเสมหะโดยตรง ใช้ได้ทั้งสภาวะที่เสมหะข้นหรือเหลวมากผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติพิเศษช่วยต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการอักเสบได้ด้วย ผลข้างเคียงจากการใช้ยาละลายเสมหะนั้นพบได้น้อย แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ 

ยาแก้อาการไอมีเสมหะมีหลายรูปแบบ เช่น

  • ยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อม

    ยาชนิดนี้มีส่วนประกอบหลักเป็นของเหลว มักมีการเติมรสชาติเพื่อให้เด็กรับประทานได้ง่ายขึ้น แต่ก็สามารถใช้ในผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ หรือผู้มีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนยาได้เช่นกัน นอกจากนี้ ตัวยามีส่วนประกอบเป็นน้ำอยู่แล้วจึงอาจช่วยให้ร่างกายดูดซึมยาไปใช้ได้รวดเร็วขึ้น

  • ยาแก้ไอชนิดเม็ด

    ยาเม็ดเป็นรูปแบบยาที่พบได้บ่อย มีขนาดแตกต่างกันออกไป มักมีรสขมตามชนิดของยา จึงอาจทำให้รับประทานได้ยาก โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการกลืน

  • ยาแก้ไอชนิดแคปซูล

    ตัวยาจะถูกหุ้มด้วยแคปซูลยาชนิดรับประทานได้ โดยยาแคปซูลบางชนิดสามารถผสมกับอาหารได้ แต่บางชนิดต้องรับประทานทั้งเม็ด จึงอาจทำให้เกิดปัญหาในการกลืนคล้ายยาเม็ดได้เช่นกัน นอกจากนี้ ร่างกายต้องใช้เวลาในการย่อยเปลือกแคปซูลที่หุ้มยาไว้ก่อนจึงค่อยออกฤทธิ์ภายในร่างกาย

  • ยาแก้ไอชนิดผงผสมน้ำ

    ยารูปแบบนี้มักมาในรูปแบบซอง โดยภายในซองจะบรรจุยาผงยาที่ใช้ละลายในน้ำอุณหภูมิห้องแล้วรับประทาน โดยลักษณะยาเมื่อละลายน้ำแล้วจะคล้ายยาชนิดน้ำเชื่อม เพียงแต่มีรสหวานและความเหนียวของตัวยาน้อยกว่า จึงอาจเหมาะสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่กลืนยาลำบาก หรือไม่ชอบรสชาติของยาชนิดน้ำเชื่อม

นอกจากนี้ ยาบางยี่ห้อยังมีตัวเลือกที่ช่วยให้ใช้ได้ง่ายขึ้น เช่น รสชาติที่ช่วยให้รับประทานได้ง่าย ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หรือมีปริมาณยาที่ออกฤทธิ์นาน ซึ่งช่วยลดความยุ่งยากในการรับประทานยาระหว่างวันและลดปัญหาการลืมใช้ยาได้ เป็นต้น 

สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ยาเพื่อรักษาอาการไอมีเสมหะ ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนการใช้เพื่อป้องกันผลข้างเคียง สุดท้ายนี้ วิธีการรักษาเหล่านี้เป็นเพียงตัวเลือกที่สามารถทำได้เองเมื่อไม่สะดวกไปพบแพทย์ แต่หากมีอาการรุนแรงหรือทราบว่าตนเองมีโรคประจำตัวควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างถูกต้อง ในกรณีที่ทารกหรือหญิงตั้งครรภ์มีเสมหะควรไปโรงพยาบาลเพื่อวินิจฉัยและหาวิธีรักษาที่เหมาะสม