ไอแล้วเจ็บท้อง อาการสำคัญที่ต้องรู้

ไอแล้วเจ็บท้อง เป็นอาการเจ็บท้องหลังจากไอ หรือบางคนอาจเกิดอาการจากการจาม หรือหัวเราะร่วมด้วย ส่วนใหญ่อาการนี้มักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ผู้ที่มีอาการนี้ก็ยังไม่ควรนิ่งนอนใจและหมั่นสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอ เนื่องจากในบางครั้งที่อาการเกิดขึ้นแบบเรื้อรัง อาการเจ็บท้องจากการไอก็อาจกำลังบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างในร่างกายได้

อาการไอ เป็นกลไกการกำจัดสารก่อการระคายเคืองในลำคอตามธรรมชาติของร่างกาย โดยในบางครั้ง อาการไอ หรือบางครั้งอาจจะเป็นการจามหรือการหัวเราะ ที่รุนแรงอาจจะส่งผลให้ผู้ไอเกิดอาการเจ็บหน้าอกหรือบริเวณท้องได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ในบางครั้ง อาการเจ็บท้องหลังไอก็อาจเกิดจากโรคบางชนิดได้เช่นกัน

ไอแล้วเจ็บท้อง

ตัวอย่างสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ของอาการไอแล้วเจ็บท้อง

ในบางครั้ง อาการไอแล้วเจ็บท้องอาจเกิดได้จากโรคหรือภาวะผิดปกติทางร่างกายบางชนิด โดยตัวอย่างสาเหตุได้อาจเป็นไปได้ก็เช่น

1. การฉีกขาดของกล้ามเนื้อ

ในบางครั้ง อาการไอหรืออาการจามที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและเรื้อรังอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องได้รับแรงดึงอย่างซ้ำ ๆ จนเกิดรอยฉีกขาดตามมาได้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่เกิดภาวะนี้เกิดอาการปวดหรือเจ็บท้องขณะไอ จาม หัวเราะ ใช้แรงมาก ๆ หรือการเปลี่ยนท่าจากท่านั่งหรือนอนอย่างฉับพลัน ในบางครั้ง ยังอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็ง เกิดรอยช้ำ และบวม

2. ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)

ไส้ติ่งคืออวัยวะส่วนหนึ่งที่แยกออกมาจากลำไส้ใหญ่บริเวณด้านล่างขวาของช่วงท้อง มีลักษณะเป็นท่อตัน โดยภาวะไส้ติ่งอักเสบจะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อภายในไส้ติ่งเกิดการอุดตันและติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อแบคทีเรียเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วจนเกิดการอักเสบ บวม และมีหนองสะสมอยู่ในไส้ติ่ง

เมื่อผู้ป่วยเกิดไส้ติ่งอักเสบ มักจะเจ็บท้องอย่างรุนแรง และยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อไอ จาม หรือออกแรง โดยอาการปวดท้องส่วนใหญ่มักเริ่มที่บริเวณสะดือ ก่อนจะค่อย ๆ ลุกลามไปยังบริเวณด้านล่างขวาของช่วงท้อง และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ขึ้น ท้องผูก ท้องเสีย ท้องอืด 

ทั้งนี้ ภาวะไส้ติ่งอักเสบเป็นภาวะรุนแรงที่ควรได้รับการดูแลและรักษาจากแพทย์อย่างทันที หากปล่อยทิ้งไว้ ไส้ติ่งที่มีการอักเสบอยู่อาจเกิดการแตกออกและส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงตามมาได้ เมื่อมีอาการในลักษณะที่เข้าข่ายไส้ติ่งอักเสบ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างเหมาะสมทันที

3. ไส้เลื่อน

ไส้เลื่อน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อลำไส้เคลื่อนตัวลอดผ่านกล้ามเนื้อหรือเนื่อเยื่อที่หุ้มลำไส้อยู่ออกมา โดยอาจจะเกิดได้จากทั้งการที่กล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อที่หุ้มลำไส้อยู่เกิดการอ่อนแรง หรือการเกิดรูโหว่ ซึ่งสาเหตุหรือปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ก็เช่น การออกแรงหนักซ้ำ ๆ การไอหรือจามซ้ำ ๆ อาการท้องผูกเรื้อรัง การผ่าตัดบริเวณช่องท้อง การมีน้ำหนักตัวเยอะ และการตั้งครรภ์ 

ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักจะพบก้อนเนื้อบริเวณหน้าท้อง หรือขาหนีบยื่นออกมา ร่วมกับอาการเจ็บปวดขณะมีอาการไอ จาม และยกของหนัก ซึ่งก้อนเนื้อดังกล่าวจะหดหายกลับไปเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้ ก็มีในบางครั้งเช่นกันที่ลำไส้ที่ยื่นออกมาเกิดการติดและหดกลับไปไม่ได้

ในกรณีที่ลำไส้หดกลับไปไม่ได้จะเป็นกรณีที่ค่อนข้างมีความรุนแรง เนื่องจากลำไส้ส่วนที่ยื่นออกมาและไม่สามารถหดกลับเข้าไปได้อาจเกิดการขาดเลือดตามมาได้ ดังนั้น ผู้ที่พบอาการเข้าข่ายภาวะไส้เลื่อนควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจทันที โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ได้แก่ อาการปวดแบบรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และอุจจาระไม่ออก

4. นิ่วในไต (Kidney Stones)

โดยปกติ ในน้ำปัสสาวะจะมีแร่ธาตุ กรด และสารต่าง ๆ อยู่ เช่น แคลเซียม โซเดียม ออกซาเลต และกรดยูริก โดยนิ่วในไต หรือก้อนนิ่วจะเกิดขึ้นเมื่อปัสสาวะมีสารเหล่านี้ในปริมาณที่มากเกินไป ร่วมกับการมีของเหลวที่น้อยเกินไป จนสารดังกล่าวเกิดการจับตัวกันเป็นก้อน โดยสาเหตุของการเกิดนิ่วก็เช่น การดื่มน้ำน้อย การได้รับโปรตีนที่มากเกินไป และการบริโภคน้ำตาลหรือเกลือมาก

ผู้ที่มีนิ่วในไตจะมักพบอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่าง หน้าท้อง และช่วงเอว ซึ่งอาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่น ๆ ด้วยในลักษณะดังต่อไปนี้ เช่น ปัสสาวะมีสีขุ่น ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ ปัสสาวะมีเลือดปน รู้สึกเจ็บแสบขณะปัสสาวะ รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยผิดปกติ มีไข้ขึ้น รู้สึกหนาวสั่น คลื่นไส้ และอาเจียน

5. นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones)

นิ่วในถุงน้ำดีเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อสารส่วนประกอบของน้ำดี อย่างสารบิลิรูบิน (Bilirubin) และคอเลสเตอรอล เกิดการจับตัวเป็นก้อนนิ่วในถุงน้ำดี ผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดีมักจะพบอาการ เช่น ปวดท้องส่วนบน คลื่นไส้ ท้องอืด ปวดบริเวณหลังส่วนบนหรือบริเวณหัวไหล่ มีไข้ขึ้น รู้สึกหนาวสั่น ผิวมีสีออกเหลือง ดวงตามีสีออกเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้มผิดปกติ และอุจจาระมีสีซีดผิดปกติ

นิ่วในถุงน้ำดีส่วนมากไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงและไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่ในบางกรณีก้อนนิ่วอาจเคลื่อนตัวไปมาในทางเดินน้ำดีและไปก่อให้เกิดการอุดกั้นในบางจุดได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ ดังนั้น หากผู้ป่วยเกิดอาการปวดท้องส่วนบนขวาหรือปวดหัวไหล่ มีไข้ หนาวสั่น และมีเหงื่อออก ผู้ป่วยก็ควรไปพบแพทย์ทันที

6. กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) 

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นภาวะที่มักเกิดจากการที่กระเพาะปัสสาวะติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยคือ เชื้ออีโคไล (Escherichia coli) อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีภาวะนี้อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ เช่น การใช้ยารักษาโรคบางชนิด การได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย หรือกระบวนการรักษาโรคบางชนิด

ผู้ป่วยกระเพาะปัสสาวะอักเสบมักมีอาการ เช่น รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยผิดปกติ รู้สึกแสบร้อนขณะปัสสาวะ มีน้ำปัสสาวะออกมาน้อยผิดปกติ ปัสสาวะมีสีขุ่นหรือมีสีเข้มผิดปกติ ปัสสาวะส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง ปัสสาวะมีเลือดปน รู้สึกแน่นหรือคล้ายกับได้รับแรงกดทับที่หน้าท้องบริเวณใต้ช่วงสะดือ และมีไข้ขึ้น

ในกรณีที่ไม่รุนแรง อาการต่าง ๆ มักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เองในไม่กี่วัน แต่หากการอักเสบมีการรุนแรง ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ก็ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยอาการที่เป็นสัญญาณว่าควรไปพบแพทย์ ได้แก่ อาการปวดหลังหรือปวดบริเวณเอวด้านข้างลำตัว มีไข้ขึ้น รู้สึกหนาวสั่น คลื่นไส้ และอาเจียน

7. ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)

ตับอ่อนอักเสบ เป็นภาวะที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลัก ๆ ที่พบได้บ่อยก็คือ การเกิดนิ่วในถุงน้ำดี และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณเป็นประจำ

ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักพบอาการที่ค่อนข้างหลากหลายและแตกต่างกันไป แต่อาการแรก ๆ ที่มักพบได้ก็คือ อาการปวดท้อง ซึ่งจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดตามมาก็เช่น อาการปวดท้องที่ลุกลามไปยังบริเวณหลังส่วนล่าง ท้องบวม อุจจาระมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ และน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ 

แม้ในบางกรณีภาวะตับอ่อนอักเสบอาจค่อย ๆ ดีขึ้นได้เอง แต่ผู้ที่มีอาการเข้าข่ายภาวะนี้ก็ยังควรไปรับการตรวจที่เหมาะสมจากแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่อาการปวดท้องมีความรุนแรง ใจสั่น รู้สึกหายใจไม่สะดวก ผิวมีสีออกเหลือง ดวงตามีสีออกเหลือง มีไข้ขึ้น คลื่นไส้ และอาเจียน เนื่องจากผู้ที่ป่วยด้วยภาวะนี้บางคนอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้

8. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อโพรงมดลูกไปเจริญเติบโตที่ส่วนอื่นของร่างกาย ซึ่งเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกของผู้หญิงจะมีหน้าที่หลุดลอกออกมากับเลือดบางส่วนในทุก ๆ รอบเดือนของผู้หญิง หรือที่เรียกกันว่า ประจำเดือน 

ดังนั้น เมื่อเนื้อเยื่อนี้ไปเจริญเติบโตที่ส่วนอื่นของร่างกาย เนื้อเยื่อส่วนนี้ก็จะยังคงจับตัวกันหนาและหลุดลอกออกมาพร้อมกับเลือดในช่วงที่ผู้หญิงมีประจำเดือนเช่นเคย แต่จะไม่ได้หลุดออกไปจากร่างกายและขังอยู่ที่บริเวณนั้น ๆ 

ในด้านอาการ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมักพบอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง ปวดบริเวณกระดูกเชิงกราน ปวดท้อง อ่อนเพลีย ท้องเสีย ท้องอืด และคลื่นไส้ โดยผู้ป่วยภาวะนี้ที่ไม่ได้รับการรักษา อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะมีบุตรยากได้ ดังนั้น ผู้หญิงที่มีอาการเข้าข่ายภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ควรจะไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม

ข้อควรปฏิบัติเมื่อมีอาการไอแล้วเจ็บท้อง

แม้อาการไอแล้วเจ็บท้องจะเป็นอาการที่ดูไม่ค่อยรุนแรง แต่อาการนี้ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติทางร่างกายที่มีความรุนแรงได้มากมายอย่างที่ได้ยกตัวอย่างไปในข้างต้น

ดังนั้น ผู้ที่มีอาการไอแล้วเจ็บท้องที่พบว่า อาการไม่ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป หรืออาการเจ็บท้องมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ก็ควรจะไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการอื่นร่วมด้วยในลักษณะที่ยกตัวอย่างไปในหัวข้อสาเหตุ เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้