เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากไอบ่อย ๆ แน่นอน เพราะนอกจากทำให้รู้สึกไม่สบายกาย ทำให้เสียบุคลิกภาพ และยังรบกวนผู้อื่นด้วย หากมีอาการไอบ่อย ๆ ระหว่างวันอาจรบกวนการนอนหลับ การทำงาน และการดำเนินชีวิตประจำวัน วิธีแก้อาการไอให้หายขาดนั้นต้องอาศัยการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี ควบคู่กับการใช้ยารักษาให้ถูกอาการ เพียงเท่านี้สุขภาพที่ดีก็จะกลับคืนมาอีกครั้ง
ไอเป็นการตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งที่ก่อการระคายเคืองภายในลำคอหรือทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่น ควัน สารก่อภูมิแพ้ หรือเชื้อโรค เรียกได้ว่าเป็นกลไกธรรมชาติที่ช่วยปกป้องและกำจัดสิ่งแปลกปลอมให้ออกจากร่างกาย โดยอาการไออาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ไอแห้งและไอแบบมีเสมหะ ซึ่งมักจะหายไปได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์
หากมีอาการไอร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ น้ำมูกไหล ผู้ป่วยควรลดพฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าว และรับประทานยาบรรเทาตามอาการ โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อประเมินยารักษาโรคที่เหมาะสม
สาเหตุของการไอมีอะไรบ้าง ?
อาการไอมีหลายสาเหตุแตกต่างกันในแต่ละบุคคล บางรายเป็นอาการไอเฉียบพลัน โดยจะมีอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์ ขณะที่อาการไอแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการติดต่อกันนานกว่า 8 สัปดาห์ สำหรับสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอาการไอ ได้แก่
โรคภูมิแพ้อากาศ
ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อากาศมักจะมีอาการไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล น้ำตาไหล รวมถึงคันบริเวณตา ซึ่งอาการเหล่านี้ถูกกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ อาทิเช่น ฝุ่น ควันบุหรี่ ละอองเกสร ขนสัตว์ หรือสารเคมีบางชนิด โดยความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละบุคคล โรคภูมิแพ้อากาศในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถป้องกันโดยหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และใช้ยาบรรเทาอาการ
ไข้หวัด
การติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจส่วนบนมักเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของไข้หวัด ส่งผลให้มีน้ำมูกไหล มีไข้ หรือไอ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เองใน 1–2 สัปดาห์ แต่บางรายอาจมีอาการไอแห้งติดต่อกันหลายสัปดาห์ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังทำงานตอบสนองไวกว่าปกติหลังจากการติดเชื้อ
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดอาการไอร่วมกับอาการอื่น ๆ ของโรคได้ เช่น
- โรคหืด ผู้ป่วยจะหายใจผิดปกติ หายใจมีเสียงวี้ด หายใจไม่อิ่ม มีอาการไอ เจ็บหน้าอกพร้อมกับอาการเหนื่อยหอบ
- กรดไหลย้อน ผู้ป่วยมักมีอาการแสบร้อนกลางอกหลังรับประทานอาหาร เจ็บหน้าอก กลืนอาหารลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก หรือไอเรื้อรัง
- หลอดลมอักเสบ ส่งผลให้มีอาการไอ มีเสมหะ หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด เจ็บคอ หรือเจ็บหน้าอกด้วย
- คออักเสบ ผู้ป่วยมักจะมีอาการเจ็บคอ คันคอ กลืนลำบาก ต่อมทอนซิลบวม มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หรืออาเจียนได้
แก้ไออย่างไรให้หายขาด
โดยทั่วไป การไอที่ไม่รุนแรงและอาการอื่น ๆ อาจหายได้เร็วขึ้นหากผู้ป่วยหันมาใส่ใจและดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นเพื่อลดเสมหะในลำคอ กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ ใช้ยาอมแก้เจ็บคอ ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ สวมหน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อโรค หรือหลีกเลี่ยงควันบุหรี่และฝุ่น
ในขณะเดียวกัน การรับประทานยาร่วมด้วยอาจช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ซึ่งผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อเลือกใช้ยาให้เหมาะตามแต่ละอาการ เช่น
-
ยาแก้ไอ
การเลือกประเภทของยาแก้ไอให้ตรงกับอาการของตนเองมากที่สุดเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น โดยยาแก้ไอนั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ยาระงับอาการไอ (Antitussives) สำหรับผู้ที่มีอาการไอแห้ง ตัวยาจะออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลให้ไอน้อยลง โดยตัวยาที่ใช้ส่วนใหญ่คือ ยาเด็กซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan)
ยากลุ่มถัดมาคือยาที่ใช้รักษาไอแบบมีเสมะ ได้แก่ ยาขับเสมหะ (Expectorants) ที่ออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มสารคัดหลั่งในทางเดินหายใจ ทำให้ไอเอาเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น และยาละลายเสมหะ (Mucolytics) ที่ช่วยลดความเหนียวข้นของเสมหะ
-
ยาแก้แพ้ (Antihistamines)
ยาแก้แพ้หรือที่เรียกกันว่า ยาต้านฮีสตามีน ออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งสารฮีสตามีน ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการแพ้ เช่น ยาดอกซีลามีน (Doxylamine) ยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) เป็นต้น โดยยาแก้แพ้กลุ่มนี้จะช่วยบรรเทาอาการแพ้ อาการคัดจมูก และไอจากโรคภูมิแพ้ แต่อาจทำให้มีอาการง่วงซึมได้
-
ยาลดไข้
ผู้ป่วยที่มีไข้สามารถบรรเทาได้ด้วยยาพาราเซตามอล แต่ควรระมัดระวังไม่ให้รับประทานยาเกินวันละ 4,000 มิลลิกรัม เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตับได้ รวมถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพตับหรือติดสุราควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ยาที่ผสมตัวยาหลายชนิดไว้ในเม็ดเดียวกัน เช่น ยาเด็กซ์โทรเมทอร์แฟน ยาดอกซีลามีน และยาพาราเซตามอล เพื่อช่วยบรรเทาอาการไอ ลดไข้ น้ำมูกไหล ซึ่งการใช้ยาในรูปแบบตัวยาผสม ผู้ป่วยจะไม่จำเป็นต้องรับประทานยาหลายเม็ด และมีจำหน่ายในท้องตลาดในรูปแบบที่ต่างกัน แต่ในรูปแบบยาแคปซูลชนิดนิ่มหรือซอฟท์เจลจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและออกฤทธิ์ได้เร็วกว่ายาเม็ด สำหรับผู้ป่วยเด็ก หญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
การเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับอาการเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ป่วยควรจะปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยาจากเภสัชกรอย่างเคร่งครัด เนื่องจากยาทุกชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่แพ้ยาบางชนิด เพื่อลดโอกาสในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา
หากผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นและรับประทานยาควบคู่ไปด้วยแล้วยังไม่หายไอ ไอรุนแรงมากขึ้น หรือไอร่วมกับมีเสมหะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือชมพู มีปัญหาในการหายใจ การกลืน และเจ็บหน้าอก ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม