กอดกัน ดีอย่างไร ?

การกอดเป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงความรักและความห่วงใยที่มีอานุภาพ ไม่ว่าจะกอดเพื่อน คนในครอบครัว คนรัก หรือคนที่มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจต่อกัน เพราะนอกจากจะรู้สึกอบอุ่นและรู้สึกดีแล้ว มีงานวิจัยที่พบว่าการกอดยังมีประโยชน์ต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตอีกด้วย

1617 กอด Resized

กอด มีประโยชน์อย่างไร ?

ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าการกอดนั้นจำเป็นต่อทารกและเด็กเล็ก ซึ่งมีหลักฐานชี้ว่าผู้ที่โตมาโดยถูกกอดหรือได้รับการแสดงความรักในช่วงวัยเด็กเล็กบ่อย ๆ จะมีอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากความเครียดน้อย เมื่อเทียบกับผู้ที่ถูกกอดน้อยกว่า และแม้แต่การกอดหรือการสัมผัสเพียงช่วงสั้น ๆ จากผู้อื่นก็ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลในขณะนั้นได้

นอกจากนี้ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทดลองให้เด็กผู้หญิงอายุ 7-12 ปีเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียดโดยไม่ได้ตั้งตัว เช่น ให้พูดหรือทำโจทย์คณิตศาสตร์โดยไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนต่อหน้าคนที่ไม่รู้จัก เป็นต้น ผลพบว่าเด็กที่ได้กอดหรือคุยโทรศัพท์กับแม่ก่อนหน้าสถานการณ์ดังกล่าวมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่จะถูกปล่อยออกมาเมื่อมีความเครียดน้อยกว่าเด็กคนอื่น ๆ

เพิ่มความผูกพัน

การกอดหรือการสัมผัสนั้นกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอ็อกซีท็อกซินมากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนนี้ช่วยเพิ่มความใกล้ชิดผูกพันและความเชื่อใจต่อกัน โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการกอดหรือการสัมผัสกับคนรักบ่อย ๆ จะช่วยให้เกิดความรู้สึกดีและผูกพันกันมากขึ้น อีกทั้งการกอดยังแสดงถึงการให้กำลังใจและการสนับสนุน จึงช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวไปด้วยในตัว

ลดความดันโลหิต

ฮอร์โมนอ็อกซีท็อกซินที่ถูกหลั่งออกมาเมื่อกอดกันไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความผูกพันเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้ดียิ่งขึ้นโดยช่วยลดระดับความดันโลหิต ดังงานวิจัยขนาดเล็กชิ้นหนึ่งที่ทดลองในกลุ่มหญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนจำนวน 59 คน ผลลัพธ์พบว่าการกอดกับคู่รักบ่อย ๆ ช่วยให้ระดับฮอร์โมนอ็อกซีท็อกซินเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลงไปด้วย

ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ผู้ที่มีความเครียดนั้นมีโอกาสติดเชื้อและป่วยได้มากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากความเครียดอาจเป็นเหตุให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงได้ มีงานวิจัยชี้ว่าผู้ที่มีความเครียดจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อหวัดน้อยลงหากได้รับกำลังใจและการสนับสนุนอย่างเพียงพอ รวมถึงมีการกอดกับผู้อื่นบ่อยครั้งขึ้น จึงเป็นไปได้ว่าการกอดมีส่วนช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

รู้อย่างนี้แล้ว หลายคนอาจเลือกที่จะแสดงความรักและความห่วงใยด้วยการกอดกันมากขึ้น หากยังเขินอายก็ควรฝึกกอดบ่อย ๆ ให้เคยชิน เพื่อสานสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดให้แนบแน่นกว่าเดิม ทั้งยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพกายและใจไปในตัวด้วย

กอดอย่างไรให้ถูกกาลเทศะ ?

การกอดเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ แต่ในบางสถานการณ์หรือกับบางคนที่ยังไม่สนิทสนมกันดีพอ อาจต้องคำนึงถึงความเหมาะสมก่อนกอดด้วย อีกทั้งในสังคมไทยนั้นไม่มีค่านิยมการกอดหรือการสัมผัสตัวกันมากนัก หากกอดไม่ถูกกาลเทศะ แทนที่จะเป็นการมอบความรักความห่วงใย อาจกลับกลายเป็นสร้างความอึดอัดหรือถูกเข้าใจผิดว่าล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่นได้

โดยก่อนจะกอดกันหรือกอดใคร อาจประเมินความเหมาะสมตามสถานการณ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • สังเกตท่าทางของอีกฝ่าย ควรพิจารณาภาษากายของบุคคลนั้น ๆ ว่ามีแนวโน้มยินยอมและเต็มใจให้กอดหรือไม่ หากอีกฝ่ายยืนตัวตรงโดยไม่มีทีท่าว่าจะเอียงตัวเข้าหา อาจเลือกแสดงความห่วงใยด้วยวิธีอื่นแทน เช่น แตะหลังหรือสัมผัสต้นแขนเบา ๆ เป็นต้น
  • พิจารณาอายุและเพศของฝ่ายตรงข้าม งานวิจัยพบว่าหญิงที่มีรสนิยมทางเพศไม่ชอบผู้ชายอาจมีแนวโน้มไม่ชอบถูกผู้ชายกอด ในขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งชี้ว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะตอบรับการกอดมากกว่าคนวัยอื่น โดยเฉพาะเมื่อเป็นการกอดอย่างช้า ๆ และนุ่มนวล
  • เลือกเวลาและโอกาสที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการกอดในขณะที่อีกฝ่ายกำลังยุ่งหรือทำกิจกรรมอื่นอยู่ นอกจากนี้ การกอดอาจดูเป็นการล่วงเกินได้หากไม่สนิทกันหรือเป็นแค่เพื่อนร่วมงานทั่วไป
  • กอดเพื่อปลอบใจผู้อื่น ในความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างสนิทสนมกันอย่างครอบครัว เพื่อนสนิท หรือคนรัก การกอดเมื่ออีกฝ่ายเสียใจหรือร้องไห้เป็นการแสดงถึงความเข้าใจและความห่วงใยได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม บางคนก็ไม่ชอบการสัมผัสตัวหรือการกอด แต่การบอกปัดตรง ๆ อาจทำให้ดูไม่เป็นมิตรได้ ทางที่ดีจึงควรเลี่ยงอย่างรักษาน้ำใจ เช่น เมื่ออีกฝ่ายทำท่าจะกอด ให้หันลำตัวด้านข้างให้และยื่นมือไปจับหรือแตะต้นแขนแสดงการทักทายและความเป็นมิตรแทน เป็นต้น หรือหากเลี่ยงไม่ได้ก็อาจบอกไปตรง ๆ อย่างนุ่มนวลว่าตนเองไม่ชอบการกอดหรือการสัมผัสตัวผู้อื่น เพราะอาจดูจริงใจมากกว่าการพยายามหลีกเลี่ยงครั้งแล้วครั้งเล่า