PTSD หรือ Post-Traumatic Stress Disorder คือ เป็นความผิดปกติทางจิตรูปแบบหนึ่งที่ผู้ป่วยเกิดความเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์ไม่คาดฝัน โดยเหตุการณ์รุนแรงเหล่านั้นอาจส่งผลกระทบต่อทั้งความคิดและสุขภาพของผู้ป่วย หากอาการมีความรุนแรงก็อาจทำให้ผู้ที่ประสบปัญหาคิดสั้นได้ ดังนั้น ทั้งตัวผู้ป่วยและบุคคลใกล้ชิดควรศึกษาข้อมูลของโรคนี้ให้ดี เพื่อให้พร้อมรับมืออาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และช่วยให้ผู้ป่วยหลุดพ้นจากการเจ็บป่วยนี้ได้ในเร็ววัน
PTSD เป็นอย่างไร ?
PTSD เกิดขึ้นจากความผิดปกติทางจิตใจหลังจากผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตมา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองโดยตรงหรือตนเป็นเพียงผู้เห็นเหตุการณ์ก็ตาม ส่วนสถานการณ์ที่มักเป็นสาเหตุของโรคนี้ คือ เกิดอุบัติเหตุ ถูกจี้ปล้น ถูกข่มขู่โดยใช้กำลังหรืออาวุธ หรือถูกใช้ความรุนแรงทางร่างกายหรือทางเพศ จนอาจทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นกับผู้ที่เคยเผชิญเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น รู้สึกโดดเดี่ยว หวนคิดถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่ผ่านมาทั้งที่ไม่อยากนึกถึงคล้ายกับว่าเกิดเหตุการณ์นั้นอีกครั้ง มองตนเองหรือผู้อื่นในแง่ลบ หรือคิดฆ่าตัวตาย เป็นต้น โดยอาการของโรคมักเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนแรกหลังจากผ่านเหตุการณ์ดังกล่าว แต่บางครั้งอาจเพิ่งเกิดอาการหลังผ่านเหตุการณ์เลวร้ายไปแล้วหลายเดือนหรือเป็นปี
อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถรักษาได้หลายวิธี อย่างการทำจิตบำบัด เข้ากลุ่มบำบัด หรืออาจใช้ยาต้านเศร้ารักษาร่วมด้วย โดยยาต้านเศร้ามีหลายชนิด เช่น เซอร์ทราลีน พาร็อกซีทีน เป็นต้น ซึ่งสามารถใช้ยานี้รักษาอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวล และยังอาจช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับหรือการใช้สมาธิได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยาต้านวิตกกังวลก็อาจถูกนำมาใช้รักษาอาการของโรค PTSD ได้เช่นเดียวกัน แต่มักใช้เพียงระยะสั้นเท่านั้น
รับมือกับโรค PTSD อย่างไรดี ?
หากความเครียดหรือปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากเหตุการณ์เลวร้ายในอดีตกระทบต่อชีวิตในปัจจุบัน ควรไปพบแพทย์หรือจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำต่าง ๆ ต่อไปนี้ควบคู่ไปด้วย
- ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค PTSD ให้มากขึ้นว่ามีสาเหตุมาจากอะไร อาจทำให้เกิดอาการอย่างไรได้บ้าง และมีวิธีการรักษาอย่างไร
- ปฏิบัติตามแผนการรักษาที่แพทย์กำหนดให้ และไปพบแพทย์ทุกครั้งตามนัดหมาย เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากที่สุด
- เข้าร่วมกลุ่มบำบัด โดยสอบถามข้อมูลจากบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งอาจเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยให้อาการดีขึ้น
- เมื่อมีอาการหรือมีความวิตกกังวลเกิดขึ้น ให้ลองทำกิจกรรมอื่น ๆ อย่างการเดินเร็วหรือทำงานอดิเรกที่ตนเองชอบ เพื่อเรียกสมาธิกลับมา
- ใช้เวลาร่วมกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง เพราะอาจช่วยให้รู้สึกอบอุ่นและเยียวยาอาการต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้
- พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีนและการสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้เกิดความวิตกกังวลมากขึ้นได้
- ไม่พึ่งพาสุราหรือยาเสพติด เพราะอาจทำให้มีปัญหาเพิ่มขึ้น หรืออาจส่งผลกระทบต่อการรักษาได้
คนรอบข้างช่วยดูแลผู้ป่วย PTSD ได้อย่างไร ?
หากคนในครอบครัวหรือคนที่ตนรักเป็นโรค PTSD อยู่ อาจใช้วิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อช่วยดูแลให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาร้ายแรงตามมา
1. ทำความเข้าใจโรค PTSD
หาข้อมูลเกี่ยวกับโรค PTSD เพื่อให้เข้าใจปัญหาและความรู้สึกที่ผู้ป่วยต้องเผชิญอยู่ รวมถึงเข้าใจว่าโรคนี้มีสาเหตุมาจากอะไร ผู้ป่วยอาจมีอาการอย่างไร หรือมีหน่วยงานใดให้ความช่วยเหลือได้บ้าง เพื่อเตรียมตัวรับมือกับอาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดได้ดีขึ้น
2. พูดคุยกับผู้ป่วยโดยเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม
เมื่อทั้งตัวผู้ป่วยและผู้ดูแลพร้อมจะพูดคุยกัน ควรเลือกช่วงเวลาและสถานที่ที่สามารถพูดคุยกับผู้ป่วยได้โดยไม่ถูกรบกวนหรือถูกขัดจังหวะจากสิ่งรอบข้าง แล้วรับฟังอย่างตั้งใจ พร้อมบอกให้ผู้ป่วยรับรู้ว่าเข้าใจความรู้สึกของเขา หลีกเลี่ยงบทสนทนาที่อาจทำให้ผู้ป่วยนึกถึงเหตุการณ์เลวร้ายในอดีต นอกจากนี้ หากเริ่มรู้สึกว่าบทสนทนาสะเทือนจิตใจผู้ป่วย อาจเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้หยุดพักแล้วค่อยกลับมาคุยกันอีกครั้งในภายหลัง
3. ยินดีรับฟังปัญหาของผู้ป่วย
แสดงให้ผู้ป่วยเห็นว่ามีคนคอยอยู่เคียงข้าง และยินดีรับฟังความรู้สึกรวมถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หากผู้ป่วยไม่พร้อมที่จะพูดหรือปฏิเสธการช่วยเหลือ ไม่ควรกดดันหรือบังคับให้พูดออกมา แต่ควรรอจนผู้ป่วยพร้อมจะพูดหรือยินยอมรับความช่วยเหลือเอง
4. ให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ
เพราะการได้ใช้เวลากับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นได้ จึงควรชวนผู้ที่เป็นโรค PTSD ออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างการเดินเล่น ฉลองวันเกิด หรือไปร่วมงานรื่นเริงอื่น ๆ
5. ขอคำแนะนำจากแพทย์
หากเกิดปัญหาในการดูแลหรือการรับมือกับผู้ที่ป่วยเป็นโรค PTSD ให้ลองขอคำแนะนำจากแพทย์เพื่อหาวิธีแก้ปัญหา โดยแพทย์อาจแนะนำให้ไปพบกับนักจิตบำบัดที่ช่วยให้ผู้ป่วยจัดการกับความเครียดได้ดีขึ้น
6. ขอความช่วยเหลือในกรณีที่ผู้ป่วยอาจคิดสั้น
หากผู้ป่วยพูดหรือมีพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้เห็นว่ามีความเสี่ยงในการทำร้ายตนเอง หรือกระทั่งฆ่าตัวตาย ควรนำสิ่งของที่อาจใช้ทำร้ายตัวเองออกไปให้ห่างจากตัวผู้ป่วย และไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่คนเดียว จากนั้นให้รีบขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ หน่วยฉุกเฉิน หรือตำรวจโดยเร็ว
สุดท้ายนี้ แม้ปัจจัยบางอย่างที่เป็นสาเหตุของโรค PTSD จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถป้องกันหรือคาดการณ์ล่วงหน้าได้ อย่างการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ แต่เราอาจป้องกันความเครียดที่ตามมาหลังเหตุการณ์รุนแรงได้ เช่น พูดคุยกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนที่พร้อมให้ความอบอุ่นและการรับฟัง ไปพบแพทย์หรือจิตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการบำบัดความเครียด เป็นต้น โดยวิธีการดังกล่าวอาจช่วยไม่ให้ผู้ที่เผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจหันไปพึ่งพาแอลกอฮอล์หรือใช้ยาเสพติดจนทำให้ปัญหาร้ายแรงขึ้นได้อีกด้วย