การตัดมดลูกทิ้งถือเป็นการผ่าตัดอย่างหนึ่งที่อาจส่งผลกระทบของต่อสุขภาพได้หลายประการ ดังนั้น ผู้ที่จำเป็นต้องตัดมดลูกทิ้งจึงควรศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างละเอียด เพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม และลดความเสี่ยงในการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพอื่น ๆ ตามมา
การผ่าตัดมดลูกมีทั้งการตัดมดลูกออกบางส่วน การตัดมดลูกและปากมดลูกออกทั้งหมด ไปจนถึงการตัดมดลูกและอวัยวะหรือเนื้อเยื่อใกล้เคียงอื่น ๆ อย่างท่อนำไข่ รังไข่ และเนื้อเยื่อรอบข้างออกไปด้วย การตัดมดลูกทิ้งเป็นวิธีที่ใช้รักษาปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง เช่น ภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ภาวะเนื้องอกในมดลูก หรือโรคมะเร็งมดลูก
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการตัดมดลูกทิ้งอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพหลายประการ จึงเป็นวิธีที่แพทย์เลือกใช้เป็นลำดับท้าย ๆ เมื่อมีอาการรุนแรงและไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้
6 ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดมดลูกทิ้ง
การตัดมดลูกทิ้งอาจนำไปสู่การเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้หลายประการ ดังนี้
1. อาจเกิดความเสียหายต่ออวัยวะใกล้เคียง
การตัดมดลูกอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะใกล้เคียงได้ไม่ว่าจะเป็นลำไส้ ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ หลอดเลือด เส้นประสาท รวมถึงรังไข่ในบางกรณีด้วย โดยอาจเกิดการบาดเจ็บหรือเสียหายในระหว่างการผ่าตัด
ซึ่งหากเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นแพทย์จะทำการแก้ไขให้ในระหว่างการผ่าตัดมดลูก แต่อาจส่งผลกระทบต่อคนไข้ได้ เช่น คนไข้ต้องใส่สายสวนเพื่อระบายปัสสาวะหรือใส่ถุงอุจจาระ (Colostomy) ชั่วคราว
2. อาจเกิดการติดเชื้อหลังการผ่าตัด
การติดเชื้อเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปหลังจากการผ่าตัดทุกชนิดรวมถึงการผ่าตัดมดลูกทิ้งด้วย การติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากการผ่าตัดมดลูก เช่น การติดเชื้อที่แผลผ่าตัด หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ยิ่งไปกว่านั้น ทางการแพทย์ยังพบอีกว่าผู้ที่มีน้ำหนักมากหรือมีภาวะอ้วนอาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังการผ่าตัดมดลูกมากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์ปกติด้วย
3. ส่งผลกระทบต่อการมีประจำเดือนและการตั้งครรภ์
หากผู้ป่วยมีการผ่าตัดมดลูกในรูปแบบที่ต้องผ่าตัดนำรังไข่และท่อนำรังไข่ออกไปทั้งหมดด้วย จะทำให้ไม่มีประจำเดือนและไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีกต่อไป หากยังต้องการที่จะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ภาวะสุขภาพบางอย่างก็สามารถรักษาได้ด้วยการตัดมดลูกทิ้งเท่านั้น เช่น โรคมะเร็งมดลูก
หลังจากตัดมดลูกทิ้งแล้ว บางคนอาจรู้สึกท้องอืดและมีอาการคล้ายกับเมื่อมีประจำเดือนเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ รวมถึงในบางกรณีอาจมีเลือดออกจากช่องคลอดในปริมาณเล็กน้อย หรือมีตกขาวสีน้ำตาลเข้มเกิดขึ้นประมาณ 4–6 สัปดาห์หลังการผ่าตัดก็ได้เช่นกัน
4. ทำให้เข้าสู่วัยทองก่อนกำหนด (Early menopause)
โดยปกติเพศหญิงจะเริ่มเข้าสู่วัยทองในช่วงอายุประมาณ 45–55 ปี แต่หากมีการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกไปทั้งหมดก่อนช่วงอายุประมาณ 40 ปี จะทำให้ร่างกายไม่มีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน และส่งผลให้เข้าสู่วัยทองก่อนกำหนดได้
อาการวัยทองจะแสดงออกมาหลายอย่างและสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจได้ เช่น อารมณ์แปรปรวน รู้สึกร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน นอนไม่หลับ ช่องคลอดแห้ง ผู้ที่มีอาการวัยทองก่อนกำหนดอาจจำเป็นต้องรับประทานยาเพิ่มเติม เพื่อช่วยลดผลข้างเคียงที่เกิดจากอาการวัยทอง เช่น ยาฮอร์โมนทดแทน หรือยาป้องกันโรคกระดูกพรุน
5. อาจส่งผลกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์
หลังการผ่าตัดมดลูกจำเป็นต้องงดการมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 6 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงจะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติโดยไม่ส่งผลกระทบใด
แต่ในกรณีของผู้ที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกและมีภาวะวัยทองก่อนกำหนด อาจเกิดอาการช่องคลอดแห้งและมีความต้องการทางเพศลดลง จึงอาจส่งผลกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์ได้เช่นกัน สำหรับผู้มีอาการช่องคลอดแห้งอาจบรรเทาอาการด้วยวิธีต่างๆ เช่น ใช้สารหล่อหลื่น หรือใช้ยาฮอร์โมน ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม
6. อาจส่งผลกระทบทางด้านอารมณ์
การตัดมดลูกทิ้งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายได้หลายประการ และสามารถส่งผลกระทบทางด้านอารมณ์ตามมาได้เช่นกัน โดยผู้ที่เข้ารับการตัดมดลูกบางคนอาจรู้สึกว่าสูญเสียโอกาสในการตั้งครรภ์ไปและยังทำใจไม่ได้ ส่งผลเกิดความรู้สึกหดหู่หรือเสียใจตามมาได้
อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกเครียด วิตกกังวลใจ หรือมีอาการซึมเศร้าหลังจากการผ่าตัดมดลูก ควรปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อช่วยให้อาการกังวลใจต่าง ๆ คลายลง
นอกจากศึกษาผลกระทบของการตัดมดลูกทิ้งแล้ว ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดควรสังเกตตัวเองหลังผ่าตัดอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น
- มีเลือดสีแดงสดออกจากช่องคลอด
- มีไข้สูง
- คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง
- รู้สึกแสบขัดเวลาปัสสาวะหรือปัสสาวะบ่อย
- มีอาการเจ็บปวด บวม แดงบริเวณแผลผ่าตัด
ควรไปพบแพทย์เพราะอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดที่อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงอื่น ๆ ได้