การรักษาเอดส์ เอดส์ (AIDS)
ในการรักษาเอดส์นั้น ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวิธีการรักษาใดที่จะกำจัดเชื้อเอชไอวีให้หมดไปได้ แต่มียาที่อาจช่วยชะลอการพัฒนาของโรคคือ ยาต้านเอชไอวี หรือยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretrovirals: ARVs) ซึ่งแพทย์จะให้ยาภายใต้การพิจารณาการตอบสนองต่อยาแต่ละชนิด และจะให้ยารักษาทันทีเมื่อปริมาณของ CD4 อยู่ที่ระดับ 350 เซลล์/ลูกบาศก์เมตรหรือต่ำกว่า
หากผู้ป่วยได้รับยาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกที่ได้รับเชื้อ ยาจะออกฤทธิ์ควบคุมไม่ให้ไวรัสมีการแพร่กระจายและพัฒนาไปสู่การเจ็บป่วยในขั้นที่รุนแรงอย่างเอดส์
โดยการรับประทานยาแบบที่คนไทยคุ้นเคยกันดีคือ PEP (Post–exposure Prophylaxis) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นยาฉุกเฉินที่ต้องรับประทานหลังอาจได้รับเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย ส่วนวิธีการใช้ยา มีทั้งแบบใช้ยาต้านรีโทรไวรัสตัวเดียว (ARVs) หรือใช้ยาต้านร่วมกันหลายตัว (Antiretroviral Therapy: ART)
ยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretrovirals: ARVs)
ยากลุ่มนี้จะช่วยยับยั้งไม่ให้เซลล์ของไวรัสแบ่งตัวขยายตัวแล้วแพร่กระจายลุกลามไปสร้างความเสียหายแก่เซลล์เนื้อเยื่ออวัยวะบริเวณอื่น ๆ ต่อไปได้
กลุ่มยาของยาต้านรีโทรไวรัส เช่น
- Non–nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitors (NNRTIs): ได้แก่ ยาเอฟฟาไวเรนซ์ (Efavirenz) และเนวิราปีน (Nevirapine)
- Nucleoside หรือ Nucleotide Reverse Transcriptase Inhibitors (NRTIs) เช่น ยาอาบาคาเวียร์ (Abacavir) ยาที่ใช้ร่วมกันอย่างทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) กับเอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine) และลามิวูดีน (Lamivudine) กับซิโดวูดีน (Zidovudine)
- Protease Inhibitors (PIs) ยายับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส เช่นยาอะทาซานาเวียร์ (Atazanavir) และอินดินาเวียร์ (Indinavir)
และยากลุ่มใหม่อื่น ๆ ที่อาจถูกนำมาใช้ เช่น
- Entry หรือ Fusion Inhibitors เช่น เอนฟูเวอไทด์ (Enfuvirtide) และมาราไวรอค (Maraviroc) โดยยายับยั้งไวรัสจับตัวหรือเข้าสู่เซลล์เป้าหมาย อย่างเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4
- Integrase Inhibitors ยายับยั้งกระบวนการทำงานของเอนไซม์อินทีเกรส เช่น ราลทีกราเวียร์ (Raltegravir) เอลวิทีกราเวียร์ (Elvitegravir) และโดลูทีกราเวียร์ (Dolutegravir)
ส่วนใหญ่แพทย์จะรักษาด้วยการจ่ายยาต้านร่วมกันหลายตัว (Antiretroviral Therapy: ART) เป็นการให้ยาต้านรีโทรไวรัสตั้งแต่ 3 ตัวยา จากยาข้างต้น 2 กลุ่มขึ้นไป เพราะไวรัสเอชไอวีสามารถแบ่งตัวแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และเชื้อจะดื้อยาได้ง่าย หากได้รับยาเพียงแค่ตัวเดียว หรือแพทย์อาจจ่ายยาสูตรผสม (Fixed Dose Combination) ซึ่งเป็นการรวมยาต้านเอชไอวีหลายชนิดไว้ในยาเม็ดเดียว
ส่วน PEP (Post–exposure Prophylaxis) เป็นการรับประทานยาต้านเอชไอวีแบบใช้ยาต้านร่วมกันหลายตัวตามใบสั่งแพทย์ โดยต้องรับประทานยาให้เร็วที่สุดหลังได้รับเชื้อภายใน 72 ชั่วโมง ยาจะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อ อย่างการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันกับผู้ที่ติดเชื้อ โดยผู้ที่ใช้ยา PEP ต้องรับประทานยา 1–2 ครั้ง/วัน ต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 28 วัน
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีเชื้อเอชไอวีควรเข้ารับการตรวจหาปริมาณ CD4 ทุก ๆ 3–6 เดือน และรับประทานยารักษาอย่างถูกต้องต่อเนื่อง และแม้จะรับประทานยาควบคุมไวรัสไม่ให้พัฒนาไปยังระยะที่รุนแรงขึ้นได้ แต่เชื้อเอชไอวีจะยังคงอยู่ในร่างกาย และยังสามารถติดต่อไปยังบุคคลอื่นได้หากไม่มีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
ดังนั้น ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอาการป่วยอย่างรุนแรง ผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนที่เป็นการติดเชื้อแบบฉวยโอกาส ผู้ติดเชื้อที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่ป่วยโรคเกี่ยวกับไตอันเป็นผลมาจากการติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตับอักเสบ บี หรือ ซี อยู่ในขณะนั้น หรือผู้ป่วยที่มีค่า CD4 ต่ำกว่า 350 เซลล์/ลูกบาศก์เมตร
ส่วนผู้ป่วยที่อยู่ในระยะเอดส์แล้ว การติดเชื้อเอชไอวีไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และเมื่อพัฒนาสู่ระยะเอดส์ ภูมิคุ้มกันร่างกายจะทำงานบกพร่องอย่างหนัก ทำให้เกิดการติดเชื้อและเจ็บป่วยจนร่างกายอ่อนแอและถึงแก่ชีวิตได้ในที่สุด ผู้ป่วยที่พัฒนาไปสู่ระยะเอดส์จึงควรไปพบแพทย์อยู่เสมอ เพื่อรับยาและรักษาอาการป่วยแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น โดยมีคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ การดูแลผู้ป่วยเอดส์ยังต้องให้ความสำคัญทั้งในด้านสภาพร่างกายและสภาพจิตใจไปพร้อม ๆ กันด้วย โดยขั้นตอนสำคัญในการดูแลผู้ป่วยเอดส์ ได้แก่
- เตรียมความพร้อม ผู้ดูแลควรดูแลตนเองให้มีสุขภาพดีแข็งแรงสมบูรณ์ก่อน อย่างการรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และควรศึกษาลักษณะของโรค การติดต่อของเชื้อ และการดูแลตามอาการที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้ดูแลและผู้ที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- ใส่ใจเรื่องอาหารผู้ป่วย โดยเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงในปริมาณที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยบริโภค เช่น ผักและผลไม้ที่สะอาดปลอดสารพิษ เนื้อสัตว์ปรุงสุก หลีกเลี่ยงอาหารดิบ หากผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากการรับประทานอาหารใด ๆ ควรรีบพาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจากแพทย์
- เฝ้าระวังการติดเชื้อ โดยการล้างมือให้สะอาดหากสัมผัสกับของเหลวจากผู้ป่วย ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ และระมัดระวังตนเองไม่ให้ติดเชื้อจากผู้ป่วยผ่านเลือดหรืออุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยที่มีของเหลวจากร่างกายของผู้ป่วยอยู่ โดยทำความสะอาดของใช้ ไม่ใช้ของที่อาจส่งต่อเชื้อได้ร่วมกัน อย่างมีดโกน หรือแหนบกำจัดขน
- ดูแลผู้ป่วยไม่ให้นอนหรือนั่งอยู่ที่เดิมเป็นเวลานาน ๆ เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับที่จะทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อได้ต่อไป
- อำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย เช่น จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น อย่างทิชชู่ ผ้าขนหนู ให้ผู้ป่วยได้อยู่ใกล้ห้องน้ำ หรือช่วยเหลือให้ผู้ป่วยที่ช่วยตัวเองไม่ได้ทำธุระส่วนตัว
- ให้ผู้ป่วยได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ได้ร่วมตัดสินใจหรือแสดงความคิดเห็น เรื่องต่าง ๆ ภายในครอบครัว สถานการณ์ปัจจุบัน ข่าวสาร หรือรายการบันเทิงต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ รวมถึงให้ผู้ป่วยได้ออกกำลังกาย ขยับแขนขาบ้างตามความสามารถของผู้ป่วย
- พูดคุยและให้กำลังใจผู้ป่วย เปิดโอกาสรับฟังเรื่องราว พูดคุยทำความเข้าใจกัน หรือทำความเข้าใจถึงอาการป่วยและสถานการณ์ในอนาคต แต่หากผู้ป่วยไม่พร้อมไม่สบายใจที่จะพูด ให้เปลี่ยนหัวข้อสนทนา
- ปรึกษาและเตรียมการร่วมกับผู้ป่วย ผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องและมีการเจ็บป่วยหนัก ควรได้พูดคุยถึงความปรารถนาในอนาคตหากต้องมีอันเสียชีวิตในระยะเวลาอันใกล้ เพื่อเตรียมความพร้อมทางสภาพจิตใจทั้งต่อตัวผู้ป่วยเองและบุคคลใกล้ชิด รวมทั้งเรื่องการเตรียมเอกสารและสิทธิทางกฎหมายให้ถูกต้องเหมาะสมล่วงหน้าด้วย
หากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคเอดส์ มีข้อสงสัย หรือต้องการความช่วยเหลือในการดูแลผู้ป่วย สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ หรือโทรสอบถามได้ตามหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับโรคนี้โดยตรงได้เช่น
- สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โทร. 0–2286–0431, 0–2286–4483
- มูลนิธิศูนย์ฮอตไลน์ โทร. 0–2277–7699, 0–2277–8811
- มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ โทร. 0–2372–2222
- กองควบคุมโรคเอดส์ กทม. โทร. 0–2860–8751–6 ต่อ 407–8
หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สถานพยาบาลและบริการสาธาณสุขใกล้บ้าน