ความหมาย เอดส์ (AIDS)
เอดส์ (Acquired Immunodeficiency Syndrome: AIDS) เป็นภาวะป่วยขั้นสุดท้ายของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV) ที่ไปทำลายเม็ดเลือดขาว ส่งผลให้ผู้ที่ป่วยมีภูมิคุ้มกันบกพร่องและไม่สามารถต่อสู้กำจัดการติดเชื้อที่เข้าสู่ร่างกาย จนร่างกายเกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
เชื้อเอชไอวี เป็นเชื้อไวรัสที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีที่มาจากลิงชิมแปนซีในทวีปแอฟริกา ซึ่งแต่เดิมคือไวรัสเอสไอวี (Simian Immunodeficiency Virus: SIV) ที่มีการระบาดและพัฒนาสายพันธุ์สู่ HIV แล้วแพร่กระจายมายังมนุษย์ โดยเชื้อชนิดนี้สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางของเหลวในร่างกายที่ติดเชื้อ เช่น เลือด น้ำอสุจิ หรือของเหลวในช่องคลอด
เชื้อเอชไอวีเป็นเชื้อที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดได้ และในปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีการใดรักษาเอดส์ให้หายขาด โดยมีเพียงการใช้ยาที่ช่วยชะลอการพัฒนาโรคและลดอัตราการเสียชีวิตจากเอดส์ แต่การเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยไม่ให้การติดเชื้อเอชไอวีลุกลามไปสู่ระยะที่เป็นเอดส์ได้
อาการของเอดส์
เอดส์เป็นภาวะป่วยขั้นสุดท้ายของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งอาการจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะแรกเริ่มติดเชื้อ จะมีอาการ เช่น มีไข้ ปวดหัว เจ็บคอ มีผื่น ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ
- ระยะอาการสงบ มักจะไม่มีอาการแสดงที่เด่นชัด หรือแทบจะไม่มีอาการป่วยเลย แต่ยังคงมีเชื้อพัฒนาอยู่ภายในร่างกาย
- ระยะเอดส์ เป็นระยะที่ภูมิคุ้มกันถูกทำลายจนเสียหายหนัก ทำให้เกิดการติดเชื้อและเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ และเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยเอดส์มีอาการสำคัญ เช่น มีไข้อยู่ตลอดเวลา เหนื่อยล้า หมดแรง น้ำหนักลด มีเหงื่อไหลตลอดทั้งคืน ท้องร่วงเรื้อรัง มีฝ้าสีขาว หรือแผลบริเวณลิ้นและปาก
สาเหตุของเอดส์
เอดส์เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวีซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายเม็ดเลือดขาว จนส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันที่อยู่ในเม็ดเลือดขาวทำงานบกพร่อง โดยเชื้อเอชไอวีสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางการรับของเหลวอย่างเลือด การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ การติดเชื้อจากแม่สู่ลูกผ่านการตั้งครรภ์ การคลอด การให้นม การใช้เข็มฉีดยาหรือสิ่งของที่มีเลือดและของเหลวของผู้ที่ติดเชื้ออยู่
การวินิจฉัยเอดส์
การตรวจหาเชื้อเอชไอวีและเอดส์ทำได้ด้วยการเจาะเลือด ซึ่งแบ่งเป็นการตรวจหาปริมาณ CD4 (CD4 Count) การตรวจเซลล์เม็ดเลือดขาวที่อยู่ในเลือดเพื่อดูความเสียหายที่เกิดจากไวรัสเอชไอวีทำลายเม็ดเลือดขาว การตรวจหาปริมาณไวรัสที่อยู่ในเลือด (Viral Load: VL) และการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส (Nucleic Acid Test: NAT)
การรักษาเอดส์
ในปัจจุบันไม่มียาหรือวิธีการรักษาใดที่จะกำจัดเชื้อเอชไอวีให้หมดไปได้ มีเพียงแต่ยาที่จะช่วยชะลอการพัฒนาของโรคคือ ยาต้านเอชไอวี หรือยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretrovirals: ARVs) ซึ่งผู้ป่วยต้องได้รับยาทุกวันหลังจากที่แพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี
โดยหากผู้ป่วยได้รับยาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกที่ได้รับเชื้อ ยาจะออกฤทธิ์ควบคุมการแพร่กระจายและการพัฒนาของไวรัสที่อาจนำไปสู่การเจ็บป่วยในขั้นที่รุนแรงอย่างเอดส์
โดยการรับประทานยาแบบที่คนไทยคุ้นเคยกันดีคือ PEP (Post–exposure Prophylaxis) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นยาฉุกเฉินที่ต้องรับประทานหลังได้รับเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย ส่วนวิธีการใช้ยา ผู้ป่วยต้องรักษาด้วยการใช้ยาต้านร่วมกันหลายตัว (Antiretroviral Therapy: ART)
ภาวะแทรกซ้อนของเอดส์
เนื่องจากเอดส์เป็นภาวะขั้นสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ป่วยเอดส์จะถูกทำลายเสียหายจนไม่สามารถต้านทานต่อโรคและการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ จนอาจส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยและโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น
- การติดเชื้อราที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบในเนื้อเยื่อปาก ลิ้น หลอดอาหาร หรือช่องคลอด
- การติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัสที่เป็นอันตรายต่อดวงตา ระบบทางเดินอาหาร ปอด หรืออวัยวะอื่น ๆ
- วัณโรค ซึ่งเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียอันตรายเรื้อรังที่ทำลายอวัยวะ โดยเฉพาะปอดและระบบทางเดินหายใจ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเอดส์เสียชีวิตได้
- โรคติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ (Infective Endocarditis)
- ปอดบวม
- โรคทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) หรือโรคขี้แมว
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ในระหว่างที่อวัยวะส่วนต่าง ๆ ได้รับความเสียหายจากการเจ็บป่วย การติดเชื้อที่ลุกลามเหล่านี้ยังสามารถส่งผลกระทบต่อระบบประสาทของผู้ป่วยได้อีกด้วย โดยจะทำให้มีอาการ เช่น สับสน มึนงง หลงลืม ซึมเศร้า วิตกกังวล มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป หรือมีการแสดงออกทางจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกที่ลดลง
การป้องกันเอดส์
นอกจากการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมอาการ และป้องกันการพัฒนาโรคหลังได้รับเชื้อแล้ว วิธีการสำคัญในการป้องกันเอดส์คือ การป้องกันตนเองจากเชื้อเอชไอวี หรือป้องกันการแพร่กระจายติดต่อไปยังบุคคลอื่น เช่น
- การรับประทานยา PrEP เป็นการรับประทานยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย โดยต้องรับประทานยาทุกวันเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ
- ระมัดระวังในเรื่องเพศสัมพันธ์ โดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
- หากจำเป็นต้องใช้เข็มหรือเข็มฉีดยา ไม่ว่าจะเป็นการฉีดยา การสัก หรือการเจาะตามร่างกาย ต้องใช้เข็มที่สะอาด ผ่านการฆ่าเชื้อ และไม่ใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น
- หากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มีเชื้อเอชไอวี ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาหรือรักษาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด