การวินิจฉัยภาวะ อ้วน
การวินิจฉัยภาวะอ้วนสามารถทำได้โดยการวัดค่าดัชนีมวลกายหรือที่เรียกว่าค่า BMI (Body Mass Index) หากมีค่า BMI อยู่ที่ 30 ขึ้นไปจะจัดว่ามีภาวะอ้วน โดยเกณฑ์ค่า BMI ที่ใช้กำหนดภาวะสุขภาพต่าง ๆ มีดังนี้
- ค่า BMI ต่ำกว่า 18.5 แสดงว่ามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
- ค่า BMI ระหว่าง 18.5–24.9 แสดงว่าอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี
- ค่า BMI ระหว่าง 25–29.9 แสดงว่ามีน้ำหนักเกิน
- ค่า BMI ระหว่าง 30–38.9 แสดงว่าอยู่ในภาวะอ้วนที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ
- ค่า BMI ตั้งแต่ 40 ขึ้นไป แสดงว่าอยู่ในภาวะอ้วนอย่างมากและเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรง
ปัจจุบันมีเว็บไซต์ที่ช่วยคำนวณหาค่า BMI ได้อัตโนมัติ หรือหากต้องการคำนวนหาค่า BMI ด้วยตนเอง สามารถทำได้โดยนำน้ำหนักตัวในหน่วยกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงในหน่วยเมตรยกกำลังสอง เช่น มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม และมีส่วนสูง 1.50 เมตร = 50/(1.5x1.5) = 22.22 ดังนั้น จะมีค่า BMI อยู่ที่ 22.22 ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีนั่นเอง
นอกจากการตรวจหาภาวะอ้วนด้วยการหาค่า IBM แล้ว ยังสามารถใช้การตรวจวัดรอบเอวได้อีกวิธีหนึ่ง โดยผู้ที่ถูกจัดว่ามีภาวะอ้วนและมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและปัญหาสุขภาพคือเพศชายที่มีรอบเอวเกินกว่า 90 เซนติเมตร และเพศหญิงที่มีรอบเอวเกินกว่า 80 เซนติเมตร
การตรวจวัดรอบเอวอาจทำให้ทราบความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ เพราะเมื่อเทียบกับคนที่มีค่า BMI เท่ากัน คนที่มีรอบเอวมากกว่าอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพมากกว่า เพราะมีไขมันสะสมในจุดใดจุดหนึ่งเป็นจำนวนมาก กล่าวคือผู้ที่มีรูปร่างอ้วนกลางลำตัวหรือที่เรียกว่าหุ่นทรงแอปเปิ้ล จะมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพมากกว่าผู้ที่มีไขมันกระจายออกไปตามสะโพกและต้นขาหรือที่เรียกว่าหุ่นทรงสาลี่
ดังนั้น หากมีรอบเอวที่สูงมากเท่าใด ก็อาจมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพมากขึ้นเท่านั้น และการที่มีค่า BMI ต่ำก็ไม่ได้หมายถึงการมีสุขภาพดีหรือไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพเสมอไป อย่างผู้ที่มีค่า BMI ต่ำแต่มีรอบเอวสูงมากก็อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะสุขภาพต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจ
ผู้ที่กำลังเผชิญกับภาวะอ้วนไม่สามารถจัดการควบคุมหรือแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง สามารถไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการรักษาได้ โดยแพทย์จะตรวจร่างกาย ซักประวัติสุขภาพ สอบถามเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน การบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด รวมถึงประวัติสุขภาพของครอบครัว ความรู้สึกที่มีต่อภาวะอ้วน และปัญหาที่กำลังเผชิญจากภาวะอ้วนด้วย
นอกจากนี้ อาจมีการตรวจเพิ่มเติมเมื่อทราบว่าผู้ป่วยกำลังเข้าข่ายภาวะอ้วน เช่น การตรวจวัดความดันโลหิต การตรวจหาระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด เพื่อให้ทราบถึงความผิดปกติและนำไปสู่การวางแผนการรักษาต่อไป