การรักษาภาวะ อ้วน
ภาวะอ้วนที่เป็นภาวะแทรกซ้อนมาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ แพทย์จะรักษาตามโรคและอาการที่เป็นสาเหตุในเบื้องต้นก่อน ส่วนผู้ที่มีภาวะอ้วนจากปัจจัยอื่น ๆ สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการดังนี้
การปรับพฤติกรรมการบริโภค
การปรับพฤติกรรมการบริโภคจะช่วยควบคุมปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายได้รับและช่วยควบคุมน้ำหนัก เป็นการรักษาที่ได้ผลดีในระยะยาว โดยเริ่มจากการคำนวณปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายควรได้รับต่อวันและปริมาณแคลอรี่ที่ได้จากอาหารแต่ละชนิด
จากนั้นถึงวางแผนและตั้งเป้าหมายในการควบคุมน้ำหนักและลดปริมาณแคลอรี่ลงภายใน 6 เดือน เช่น จัดเมนูอาหารด้วยการคำนวณแคลอรี่ที่ร่างกายควรได้รับอย่างเหมาะสม สำหรับเพศชายที่ต้องการลดน้ำหนัก ควรบริโภควันละประมาณ 1,500–1,800 แคลอรี่ ส่วนเพศหญิงที่ต้องการลดน้ำหนัก ควรบริโภควันละประมาณ 1,200–1,500 แคลอรี่
ตัวอย่างปริมาณแคลอรี่ในอาหารจานเดียวโดยเฉลี่ย
- ข้าวมันไก่ ปริมาณ 259 กรัม ให้พลังงาน 619 แคลอรี่
- ข้าวผัดหมู ปริมาณ 315 กรัม ให้พลังงาน 581 แคลอรี่
- ข้าวหมูแดง + น้ำราด ปริมาณ 352 กรัม ให้พลังงาน 521 แคลอรี่
- ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กน้ำหมู ปริมาณ 507 กรัม ให้พลังงาน 401 แคลอรี่
- ขนมจีนแกงเขียวหวาน ปริมาณ 370 กรัม ให้พลังงาน 416 แคลอรี่
- ขนมจีนน้ำยากะทิ ปริมาณ 342 กรัม ให้พลังงาน 346 แคลอรี่
- ขนมจีนน้ำเงี้ยว ปริมาณ 480 กรัม ให้พลังงาน 308 แคลอรี่
- สุกี้ไก่น้ำ ปริมาณ 540 กรัม ให้พลังงาน 253 แคลอรี่
- เกี๊ยวน้ำ ปริมาณ 523 กรัม ให้พลังงาน 141 แคลอรี่
ในการลดน้ำหนัก ควรเน้นรับประทานอาหารประเภทธัญพืช ถั่ว ผัก ผลไม้ เพราะเป็นอาหารที่มีประโยชน์ มีแคลอรี่ต่ำ และมีสารอาหารที่จำเป็นอย่างแคลเซียมและวิตามินสูง อีกทั้งควรเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อย รวมถึงนมไขมันต่ำหรือนมพร่องมันเนย เพื่อลดการสะสมของไขมันภายในร่างกายด้วย
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีไขมันและมีน้ำตาลสูง เช่น ของทอด เนื้อสัตว์ติดมัน ขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาหารเหล่านี้แม้จะรับประทานในปริมาณน้อย แต่ก็ให้ปริมาณแคลอรี่และน้ำตาลที่สูง รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อหนักหรืออาหารที่ทำให้ต้องรับประทานในปริมาณมากอย่างอาหารประเภทบุฟเฟ่ต์
เมื่อผ่านไป 6 เดือน และแผนการลดน้ำหนักประสบความสำเร็จควรควบคุมอาหารต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปี เพื่อปรับสภาพร่างกายให้คงที่และเคยชินกับการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม และควรเลือกรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ให้พลังงานในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และไม่รับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูง ซึ่งเสี่ยงต่อการสะสมของไขมันและอาจทำให้เกิดภาวะอ้วนได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ควรอดอาหารหรือลดปริมาณแคลอรี่ลงอย่างกะทันหัน เช่น การรับประทานโปรตีนแท่งทดแทนมื้ออาหาร เพราะถึงแม้จะช่วยให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ใช่วิธีการรักษาภาวะอ้วนในระยะยาว จึงอาจส่งผลเสียต่อร่างกายจากปริมาณสารอาหารและแคลอรี่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเมื่อหยุดใช้วิธีดังกล่าว ก็จะทำให้กลับมามีพฤติกรรมการกินที่สามารถนำไปสู่การเกิดภาวะอ้วนได้เช่นเดิม
การออกกำลังกาย
ผู้ที่มีภาวะอ้วนควรออกกำลังกายมากกว่าปกติ เพื่อกระตุ้นร่างกายให้เกิดการเผาผลาญไขมันส่วนเกิน โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ ด้วยการเดิน วิ่ง เต้นแอโรบิก ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เล่นกีฬา รวมถึงการออกกำลังกายเฉพาะส่วนอย่างการใช้เครื่องออกกำลังกาย การยกน้ำหนัก หรือออกกำลังกายแบบผสมผสานกันหลายประเภทด้วย
ถึงแม้จะยากในตอนเริ่มต้น เพราะอาจเกิดความปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อ แต่เมื่อออกกำลังกายไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว ร่างกายจะเริ่มปรับตัวได้ดีขึ้น จากนั้นอาจเพิ่มเวลาในการออกกำลังกายเป็น 300 นาที/สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น ตามความเหมาะสมต่อสภาพร่างกาย
นอกจากนี้ การออกกำลังกายไม่ได้จำกัดแค่เพียงในฟิตเนสเท่านั้น แต่สามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวันให้เป็นการออกกำลังกายได้ด้วย เช่น การยืดกล้ามเนื้อหลังตื่นนอน การทำงานบ้านด้วยตนเอง การลดใช้สิ่งอำนวยความสะดวกอย่างลิฟต์หรือบันไดเลื่อนลงและหันมาใช้วิธีการเดินให้มากขึ้น
ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
พฤติกรรมการกินหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตสามารถส่งผลให้เกิดภาวะอ้วนได้ทั้งสิ้น หากผู้ที่มีภาวะอ้วนคิดว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยตนเองเป็นเรื่องยาก หรือมีสภาวะทางจิตใจที่ไม่มั่นคงและอาจต้องการคำแนะนำ สามารถเข้ารับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เกี่ยวกับการรักษาภาวะอ้วนได้
นอกจากนี้ การเข้ากลุ่มบำบัดก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยในการรักษาภาวะอ้วน เนื่องจากการที่ผู้ที่มีภาวะอ้วนเช่นเดียวกันและมีประสบการณ์คล้ายกันได้มาเข้าร่วมกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยน รวมถึงวางแผนในการลดน้ำหนักร่วมกันภายใต้การดูแลของแพทย์ อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการลดความอ้วนได้สำเร็จมากยิ่งขึ้น
การใช้ยาลดน้ำหนัก
ในบางกรณี ผู้ที่มีภาวะอ้วนและมีข้อจำกัดอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ผล แพทย์อาจจ่ายยาลดน้ำหนักให้เพื่อรักษาอาการ เช่น ผู้ที่มีค่า BMI ตั้งแต่ 28 ขึ้นไปและมีภาวะความดันโลหิตสูง หรือเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ทำให้ไม่สามารถออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงมากหรือออกกำลังกายเป็นเวลานานได้
ปัจจุบันมียาเพียงแค่ชนิดเดียวเท่านั้นที่ได้รับการรับรองว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะอ้วนคือยาออริสแตท (Orlistat) ซึ่งยาตัวนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายดูดซึมไขมันจากอาหารที่กินประมาณ 1 ใน 3 ส่วน แต่จะส่งผ่านไขมันไปยังระบบขับถ่ายแทน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรควบคุมพฤติกรรมการบริโภคและออกกำลังกายควบคู่ไปกับการใช้ยาด้วย
ยาออริสแตทเป็นยาแคปซูลสำหรับรับประทานก่อนหรือหลังอาหารมื้อหลักหนึ่งชั่วโมง หรือรับประทานพร้อมกับมื้ออาหาร และควรใช้ยาไม่เกินวันละ 3 แคปซูล หลังจากใช้ยาน้ำหนักของผู้ป่วยอาจลดลงประมาณ 5% ภายใน 3 เดือน แต่หากน้ำหนักไม่ลดลงควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษาด้วยวิธีอื่น
การใช้ยาจะต้องใช้ตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น เพราะอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้หากใช้ยาไม่ถูกต้องหรือใช้ยาเกินขนาด ในกรณีของผู้ที่มีอาการป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วยอาจเห็นผลได้น้อยหรือเห็นผลช้าหลังจากการใช้ยา ดังนั้นจึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติสุขภาพและประวัติการใช้ยาต่างๆ ก่อนใช้ยาลดน้ำหนัก นอกจากนี้ การใช้ยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดหัว ปวดท้อง อุจจาระบ่อย และอุจจาระมีไขมันปนได้ด้วย
การผ่าตัดลดความอ้วน (Bariatric Surgery)
ในบางกรณี แพทย์อาจพิจารณาให้รักษาด้วยการผ่าตัดในผู้ที่มีภาวะอ้วนรุนแรง เช่น ผู้ที่มีค่า BMI สูงตั้งแต่ 40 ขึ้นไป หรือผู้ที่มีค่า BMI 35–40 ที่มีปัญหาสุขภาพร้ายแรงและจำเป็นต้องรักษาด้วยการลดน้ำหนักทันที อย่างผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้ที่รักษาภาวะอ้วนด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล
การผ่าตัดลดความอ้วนมีหลายวิธี ดังนี้
- การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบ Roux-en-Y Gastric Bypass เป็นการผ่าตัดสร้างถุงที่กระเพาะอาหารส่วนบนและตัดลำไส้เล็กที่อยู่ด้านล่างของกระเพาะอาหารนำมาเชื่อมต่อกับถุงที่สร้างไว้ ทำให้อาหารที่รับประทานจะถูกส่งไปยังลำไส้โดยตรง วิธีการนี้จะทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลงและรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น
- การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบ Laparoscopic Adjustable Gastric Banding (LAGB) เป็นการผ่าตัดนำห่วงที่ยืดหยุ่นได้ไปรัดกระเพาะแบ่งเป็น 2 ส่วน ทำให้พื้นที่ว่างในกระเพาะอาหารลดลง และทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลงเพราะรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ห่วงนี้จะคงอยู่อย่างถาวรและสามารถปรับขนาดให้ยืดขยายได้ในภายหลัง
- การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบ Gastric Sleeve เป็นการผ่าตัดเอาบางส่วนของกระเพาะอาหารออกไปให้เหลือเพียงกระเพาะอาหารที่เล็กลง เป็นวิธีการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนน้อยกว่า 2 วิธีแรก และจะทำให้ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้น้อยลง
- การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารแบบ Biliopancreatic Diversion with Duodenal Switch เป็นการผ่าตัดผนังกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ออกให้มีเพียงกระเพาะอาหารบางส่วนที่ยังทำหน้าที่เหมือนเดิม โดยกระเพาะอาหารส่วนนี้จะถูกนำไปต่อกับลำไส้เล็กส่วนบน ในขณะที่กระเพาะอาหารส่วนที่ถูกผ่าแยกออกไปจะถูกนำไปเชื่อมกับลำไส้เล็กส่วนล่าง เพื่อให้ยังคงมีกระบวนการย่อยอาหารที่ลำไส้ส่วนนี้