การส่องกล้องกระเพาะอาหาร ใช้ในกรณีไหน มีขั้นตอนอะไรบ้าง

การส่องกล้องกระเพาะอาหาร (Gastroscopy) เป็นวิธีการตรวจที่แพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายท่อขนาดเล็กที่มีไฟและกล้องติดอยู่ที่ปลายสอดเข้าไปทางปากของผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์เห็นภาพและนำไปประกอบการวินิจฉัยหรือการรักษา โดยวิธีนี้มักใช้ตรวจบริเวณทางเดินอาหารส่วนบน เช่น ลำคอ หลอดอาหาร กระเพาะ และลำไส้เล็กส่วนต้น

การส่องกล้องกระเพาะอาหารเป็นวิธีที่แพทย์ใช้ได้ในหลายจุดประสงค์ ทั้งขั้นตอนการตรวจและการรักษา ซึ่งส่วนมากโรคที่มักเกี่ยวข้องกับการตรวจด้วยวิธีนี้ เช่น ภาวะหลอดอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร ภาวะกรดไหลย้อน ลำไส้เล็กส่วนต้นอักเสบ รวมไปถึงโรคมะเร็งบางชนิด

การส่องกล้องกระเพาะอาหาร ใช้ในกรณีไหน มีขั้นตอนอะไรบ้าง

ผู้ป่วยกลุ่มใดที่แพทย์มักใช้การส่องกล้องกระเพาะอาหาร

แพทย์อาจใช้การส่องกล้องกระเพาะอาหารได้ในหลายจุดประสงค์ ทั้งขั้นตอนการตรวจและการรักษา โดยสำหรับการตรวจ แพทย์อาจใช้วิธีนี้ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อตัวอย่างไปตรวจ (Biopsy) หากผู้ป่วยมีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือมะเร็งหลอดอาหาร

หรือในบางกรณีแพทย์อาจส่งตรวจด้วยวิธีนี้จากสาเหตุที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารในลักษณะดังต่อไปนี้

  • ปวดท้องเรื้อรัง
  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนเรื้อรัง
  • มีอาการอาหารไม่ย่อยเรื้อรัง
  • มีอาการแสบร้อนกลางอกเรื้อรัง
  • กลืนอาหารลำบาก หรือรู้สึกเจ็บขณะกลืน
  • อาเจียนเป็นเลือด อาเจียนเป็นสีดำ
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อุจจาระเป็นสีดำ อุจจาระเหนียวผิดปกติ

ส่วนในกรณีที่ใช้ในการรักษา เช่น ใช้ในการขยายหลอดอาหารในผู้ป่วยรายที่มีภาวะหลอดอาหารตีบแคบ หรือใช้ในการห้ามเลือดในกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหารของผู้ป่วย

การส่องกล้องกระเพาะอาหารมีขั้นตอนอะไรบ้าง

ก่อนการส่องกล้องกระเพาะอาหาร แพทย์จะอธิบายถึงขั้นตอน ความเสี่ยงต่าง ๆ  และแนวทางการปฏิบัติตัวเกี่ยวกับการตรวจ รวมถึงแพทย์จะให้ผู้ป่วยหยุดรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน หรือยาละลายลิ่มเลือด เนื่องจากยากลุ่มนี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงเกิดเลือดออกขณะตรวจได้ โดยแพทย์จะเป็นผู้กำหนดระยะเวลาการหยุดยาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ แพทย์จะให้ผู้ป่วยงดรับประทานอาหารก่อนเข้ารับการตรวจ 6 ชั่วโมง โดยแพทย์อาจให้ดื่มน้ำเปล่าได้เล็กน้อย และเมื่อถึงเวลาผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาให้ยาชาหรือยาระงับประสาท ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน 

จากนั้น แพทย์จะสอดอุปกรณ์เข้าไปทางปาก ผ่านลำคอ สู่กระเพาะอาหาร เพื่อตรวจดูความผิดปกติต่าง ๆ หรืออาจทำการตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของแพทย์ผู้รักษา โดยระยะเวลาการตรวจทั้งหมดของการส่องกล้องกระเพาะอาหารจะอยู่ที่ประมาณ 10–45 นาที ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน

ในด้านของผลตรวจ ระยะเวลาการรอผลตรวจจะแตกต่างกันไป โดยในกรณีที่แพทย์ส่องกล้องตรวจดูเพียงอย่างเดียว ผู้ป่วยอาจทราบผลได้ทันทีหลังตรวจ ส่วนกรณีที่แพทย์ตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ ผู้ป่วยอาจต้องรอผลตรวจประมาณไม่เกิน 7 วัน

ทั้งนี้ ในระหว่างส่องกล้องกระเพาะอาหาร แพทย์อาจพ่นลมผ่านอุปกรณ์เล็กน้อยเพื่อช่วยขยายกระเพาะอาหารและช่วยให้แพทย์เห็นความต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น 

ข้อควรรู้หลังการส่องกล้องกระเพาะอาหาร

ภายหลังการส่องกล้องกระเพาะอาหาร ในกรณีที่แพทย์ให้ยาระงับความรู้สึก แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยงดรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มไปก่อน 1 ชั่วโมง หรือหากแพทย์ใช้ยาระงับความรู้สึก แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการขับรถ การทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวตลอดเวลา การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24 ชั่วโมง และควรมีคนมารับผู้ป่วยกลับบ้านเพื่อความปลอดภัย

ส่วนในด้านผลข้างเคียงจากการตรวจ แพทย์มักรอดูอาการของผู้ป่วยประมาณ 2–3 ชั่วโมงหลังการตรวจ ซึ่งหากไม่มีอาการผิดปกติก็มักจะให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ เนื่องจากโดยส่วนใหญ่แล้วการส่องกล้องกระเพาะอาหารมักไม่ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติใด ๆ หรืออาจพบเพียงอาการเจ็บคอเล็กน้อย ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นได้เอง

อย่างไรก็ตาม การส่องกล้องกระเพาะอาหารก็อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้เช่นกัน เช่น ปอดติดเชื้อ หรือลำไส้เกิดแผล แต่เป็นกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนัก ดังนั้น หากผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติในลักษณะดังต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ได้แก่ มีไข้สูง รู้สึกร้อนผิดปกติ ตัวสั่น ปวดท้อง เจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก อาเจียนปนเลือด อุจจาระมีสีดำหรือปนเลือด