วิธีกำจัดเหาอาจเป็นขั้นตอนที่มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง สำหรับบรรดาคุณแม่ เนื่องจากเหาเป็นปัญหาที่มักพบในเด็ก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กผู้หญิง การเป็นเหาจะทำให้เกิดอาการคันหนังศีรษะ ซึ่งอาการคันจากเหาไม่เพียงแต่ทำให้รู้สึกรำคาญ แต่ยังอาจทำให้หนังศีรษะเกิดการอักเสบ เป็นหนอง และติดเชื้อแทรกซ้อนได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การกำจัดเหานั้นมีวิธีที่ไม่ยุ่งยากและสามารถทำได้เองที่บ้าน
เหาเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกปรสิตประเภทหนึ่ง ดำรงชีวิตด้วยการดูดเลือด สืบพันธุ์และวางไข่บนสิ่งมีชีวิตอื่น เหามีวงจรชีวิตของอยู่ที่ 30-40 วัน สามารถแพร่พันธุ์จากคนสู่คนผ่านการสัมผัส อยู่ใกล้ หรือใช้ของร่วมกัน ดังนั้น การจำกัดเหาให้ได้ประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องกำจัดทั้งตัวเหาและไข่เหาเพื่อตัดวงจรการแพร่พันธุ์
วิธีกำจัดเหา
การกำจัดเหาสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
-
กำจัดเหาด้วยยา
ผลิตภัณฑ์กำจัดเหานั้นหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบแชมพูหรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของสารที่มีฤทธิ์กำจัดเหา เช่น ไพรีทริน เพอร์เมทริน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจทำให้หนังศรีษะและบริเวณที่สัมผัสตัวยาเกิดอาการระคายเคือง ผู้ใช้จึงควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการใช้เพื่อรักษาในเด็กทารกและเด็กเล็ก
หากอาการไม่ดีขึ้นหลังใช้ยา ควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยแพทย์อาจแนะนำยาสำหรับรับประทานร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อกำจัดเหาอย่างมีประสิทธิภาพ
-
กำจัดเหาด้วยสมุนไพร
สมุนไพรบางชนิดอย่างเมล็ดน้อยหน่าอาจช่วยกำจัดเหาได้ โดยนำเมล็ดน้อยหน่า 1 ส่วนมาบดและผสมเข้ากับน้ำมันมะพร้าว 2 ส่วน นำเฉพาะส่วนของเหลวที่ได้มาชโลมให้ทั่วศีรษะ ทิ้งไว้ 2 ชั่วโมงแล้วจึงล้างออกพร้อมกับใช้หวีสางเหาหรือหวีที่มีซี่เล็กและถี่สางผมเพื่อเป็นการกำจัดตัวเหาและไข่เหา โดยทำซ้ำทุก 7-10 วันจนกว่าจะหาย นอกจากนี้ อาจใช้ส่วนผสมอื่น ๆ แทนเมล็ดน้อยหน่าได้ เช่น ใบยาสูบ ใบน้อยหน่า หรือใบสะเดา เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่อาจช่วยกำจัดเหาได้ อย่างการโกนผม การตัดผมสั้น หรือการใช้หวีสางเหาสางผมเป็นประจำ
วิธีลดความเสี่ยงในการเป็นเหา
วิธีในการป้องกันเหาอาจทำได้ ดังนี้
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นหรือผู้ที่เป็นเหา โดยเฉพาะหมวก หวี และผ้าเช็ดตัว
- รักษาความสะอาดของใช้ส่วนตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หมวก ผ้าปูที่นอน หรือผ้าห่ม
- สระผมเป็นประจำหรืออย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
- ไม่อยู่ใกล้หรือสัมผัสกับผู้อื่นหากทราบว่าผู้อื่นหรือตนเองเป็นเหา
นอกจากนี้ เหามักพบในเด็กเป็นส่วนใหญ่ ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจบุตรหลานเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นเหา หากพบว่าบุตรหลานมีอาการคล้ายเป็นเหาควรรีบเข้ารับการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างการอักเสบและการติดเชื้อ